xs
xsm
sm
md
lg

ไทยมีสถานีเตือนแผ่นดินไหว 40 แห่ง พร้อมส่งข่าว 5-25 นาทีที่เกิดเหตุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุวิทย์ โคสุวรรณ ผู้อำนวยการส่วนวิจัยรอยเลื่อนมีพลัง กรมทรัพยากรธรณี กำลังอธิบายถึงการเกิดรอยเลื่อนมีพลังที่ จ.อุตรดิตถ์
กรมทรัพย์ฯ เผยไทยไม่ได้อยู่บนรอยเลื่อนขนาดใหญ่ แค่แนวบริเวณรอยเลื่อนแขนง ชี้โอกาสเกิดแผ่นดินไหวราว 5-6 ริกเตอร์เท่านั้น แต่ไม่ทำให้เกิดสึนามิ ทางกรมอุตุฯ แจงไทยมีสถานีเตือนแผ่นดินไหวอยู่ 40 แห่ง พร้อมกระจายข่าวภายใน 5-25 นาที และเฝ้าระวัง 24 ชม.

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาหัวข้อ “เราพร้อมรับภัยแผ่นดินไหวและสึนามิอย่างไร” ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารเจริญวิศวกรรม (ตึก 4) คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ วันที่ 21 มี.ค.54 จากผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวและสึนามิ

โอกาสเกิดแผ่นดินไหวในไทยแค่ 5-6 ริกเตอร์

นายสุวิทย์ โคสุวรรณ ผู้อำนวยการส่วนวิจัยรอยเลื่อนมีพลัง กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) อธิบายว่ารอยเลื่อนมีพลัง คือรอยเลื่อนที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวได้

สำหรับประเทศไทยนั้นเป็นรอยเลื่อนแขนง ไม่ใช่รอยเลื่อนขนาดใหญ่ ดังนั้นโอกาสเกิดแผ่นดินไหวจึงเป็นขนาดกลาง และมีโอกาสเกิดแค่ 5-6 ริกเตอร์เท่านั้น ไม่เหมือนประเทศญี่ปุ่นที่อยู่บริเวณรอยเลื่อนขนาดใหญ่ จึงทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8-9 ริกเตอร์ได้

ทั้งนี้ นายสุวิทย์ ยังบอกอีกว่า ระดับแรงสั่นสะเทือนขนาด 5-6 ริกเตอร์ นั้นหากเกิดตามบริเวณเมืองหรือ ชุมชน ก็จะทำให้บ้านเมืองเสียหายเป็นจำนวนมาก แต่หากเกิดบริเวณป่าเขาจะมีผลกระทบน้อย ซึ่งตำแหน่งที่เกิดในประเทศไทย โดยมากจะอยู่บริเวณป่าเขาทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ มีทั้งหมด 13 กลุ่มรอยเลื่อน

ทางกรมทัพยากรธรณีนั้น ได้ศึกษาย้อนหลังไป 50 ปี พบว่าวันที่ 22 เม.ย.2526 มีการเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงที่สุดขนาด 5.9 ริกเตอร์ บริเวณ จ.กาญจนบุรี และรองลงมามีขนาด 5.6 ริกเตอร์ ในวันที่ 17 ก.พ. 2518 ที่ จ.ตาก

รอยเลื่อนในไทยไม่ทำให้เกิดสึนามิ

สำหรับรอยเลื่อนในประเทศไทยนั้น นายสุวิทย์ กล่าวว่า ไม่สามารถทำให้เกิดสึนามิได้ เพราะรอยเลื่อนของไทยนั้นอยู่บนพื้นดิน แต่รอยเลื่อนที่จะทำให้เกิดสึนามิได้นั้นจะต้องอยู่ในน้ำเท่านั้น และรอยเลื่อนที่อยู่ในน้ำจะเลื่อนขึ้นมาแทนที่น้ำประกบพื้นทะเล จึงทำให้เกิดสึนามิขึ้น และเกิดบ่อยมาก ตรงตะเข็บรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก อาทิ รอยต่อของอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ หรือชิลี

ผอ.ส่วนวิจัยรอยเลื่อนมีพลัง บอกอีกว่า หากเกิดรอยเลื่อนตรงแถบเกาะสุมาตรา หรือหมู่เกาะนิโคบาร์ ทางมหาสมุทรอินเดีย จะส่งผลให้เกิดคลื่นสึนามิมาถึงไทยได้ และจังหวัดที่น่าจะได้รับผลกระทบอยู่บริเวณภาคใต้ติดชายฝั่งอันดามัน

ไทยมีสถานีเตือนแผ่นดินไหวอยู่ 40 แห่ง

นายบุรินทร์ เวชบันเทิง ผู้อำนวยการส่วนเฝ้าระวังและติดตามแผ่นดินไหวและสึนามิ กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า ประเทศไทยมีสถานีเตือนภัยแผ่นดินไหวอยู่ 40 สถานี

สำหรับวิธีการวิเคราะห์หาศูนย์กลางแผ่นดินไหวนั้น จะต้องมีสถานีไม่ต่ำกว่า 4 สถานี ที่รับการสั่นสะเทือนได้ และลักษณะการสั่นสะเทือนนั้น จะมีซอฟต์แวร์ที่จะเลือกลักษณะชนิดของความสั่นสะเทือนนั้นๆ มาคำนวณว่าตำแหน่งนั้นอยู่ตรงไหน และด้วยความแรงของมัน ก็จะดูจากค่าความกว้าง (amplitude) ของการสั่นสะเทือน หากแผ่นดินไหวมีแรงสั่นสะเทือนสูง ค่าความกว้างของการสั่นสะเทือนก็มีความสูงตามไปด้วย

“เครื่องมือจะมีการบันทึกอยู่ตลอดเวลา การสั่นสะเทือนที่มาถึงสถานีมีทุกวินาที ฉะนั้นเราจะทราบว่า มีการเกิดแผ่นดินไหวเมื่อไหร่ รู้ว่าอยู่ลึกเท่าไหร่ ตำแหน่งที่อยู่บนระนาบของผิวโลกอยู่ตรงส่วนไหน” ผอ.ส่วนเฝ้าระวังและติดตามแผ่นดินไหวและสึนามิ อธิบาย

นายบุรินทร์ ยังเล่าอีกว่า เครื่องตรวจวัดการสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวประเทศไทยนั้น มีมาตรฐานเทียบเท่าต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายเยอรมนี สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย หรือญี่ปุ่น และจากเหตุการณ์สึนามิที่เมืองไทยในปี พ.ศ. 2547 นั้นยังมีสถานีเตือนภัยน้อยมาก แต่ปัจจุบันพัฒนามาเป็น 40 สถานี และได้ร่วมมือกับต่างประเทศ ในการนำข้อมูลมาวิเคราะห์และเตือนภัยอีกด้วย

“สำหรับความพร้อมในเรื่องของการตรวจวัดแผ่นดินไหว ทั้งภายในและภายนอกประเทศนั้น สามารถแจ้งและทราบข่าวสารได้ภายใน 5- 25 นาที ทั้งนี้ยังมีเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและทำงานตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย” นายบุรินทร์ กล่าว
พบแผ่นดินไหวรอยเลื่อนมีพลังในไทย ตารางจากกรมทรัพยากรธรณี
นายบุรินทร์ เวชบันเทิง ผู้อำนวยการส่วนเฝ้าระวังและติดตามแผ่นดินไหวและสึนามิ กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่าประเทศไทยมีสถานีเตือนแผ่นดินไหวอยู่ 40 สถานี
บรรยากาศในการสัมมนาภายใต้หัวข้อ “เราพร้อมรับภัยแผ่นดินไหวและสึนามิอย่างไร” ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารเจริญวิศวกรรม (ตึก 4) คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กรุงเทพฯ วันที่ 21 มี.ค. 54
กำลังโหลดความคิดเห็น