xs
xsm
sm
md
lg

นักธรณีวิทยาตรวจสอบแผ่นดินไหวที่ตรัง เก็บข้อมูลเฝ้าระวังในอนาคต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - นักธรณีวิทยาชำนาญการ จากกรมทรัพยากรธรณี ลงพื้นที่สำรวจบ้านเรือนที่เสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวใน จ.ตรัง เพื่อเก็บข้อมูลไปประเมินความเสียหายและเฝ้าระวังในอนาคต

วันนี้ (28 มิ.ย.) นายปรีชา สายทอง นักธรณีวิทยาชำนาญการ กรมทรัพยากรธรณี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากกรมทรัพยากรธรณี และ นายสมเจน จันทร์โหนง นายก อบต.ควนปริง ได้ลงพื้นที่หมู่ที่ 3 หมู่ที่ 7 และหมู่ที่ 8 ต.ควนปริง อ.เมืองตรัง เพื่อตรวจสอบพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 23.42 น.เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมา โดยมีแรงสั่นสะเทือนขนาด 3.5 ริกเตอร์ จุดศูนย์กลางอยู่ที่ อ.หาดสำราญ และมี 3 อำเภอของ จ.ตรัง รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือน ได้แก่ อ.เมืองตรัง อ.ย่านตาขาว และ อ.กันตัง พร้อมทั้งได้ส่งผลกระทบให้เกิดรอยร้าวกับบ้านเรือนด้วย

โดยเบื้องต้น จ.ตรัง รายงานตัวเลขความเสียหายอยู่ที่ 15 หลัง ในพื้นที่ 3 ตำบล คือ ต.ควนปริง อ.เมืองตรัง จำนวน 8 หลัง ต.วังวน อ.กันตัง จำนวน 1 หลัง และ ต.คลองชีล้อม อ.กันตัง จำนวน 6 หลัง โดยจะนำข้อมูลที่ได้ไปประเมินความเสียหาย พร้อมทั้งทำการตรวจวัดตำแหน่ง GPS หาพิกัดความสั่นสะเทือน รวมถึงนำข้อมูลที่ได้เข้าที่ประชุมรายงานต่อ นายไมตรี อินทุสุต ผวจ.ตรัง เพื่อที่จะได้หาทางเยียวยาให้แก่ผู้เสียหายต่อไป

ในขณะที่ นายอับดุล ชัญวิจิตรต์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 8 ต.ควนปริง อ.เมืองตรัง ได้ชี้จุดที่บ้านของตนได้รับความเสียหาย จนฝาผนังบ้านเกิดรอยร้าว จำนวน 1 จุด และยังเกิดรอยร้าวที่บริเวณห้องครัวหลายแห่ง ทำให้ฝาบ้านมีรอยแยกขนาดใหญ่ สร้างความหวาดกลัวให้กับเจ้าของบ้านเป็นอย่างมาก จากนั้น นักธรณีวิทยาชำนาญการยังได้ไปตรวจสอบบ้านเรือนหลังอื่นที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งส่วนใหญ่ฝาผนังจะร้าวเหมือนกันหมดทุกหลัง

นายปรีชา สายทอง นักธรณีวิทยาชำนาญการ กรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่า ส่วนใหญ่ที่ฝาผนังบ้านร้าวในลักษณะเช่นนี้ เกิดจากความสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ซึ่งขึ้นอยู่กับโครงสร้างของบ้าน ว่า มีความทนทานแข็งแรงมากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้ จากรายงานของกรมทรัพยากรธรณีที่ผ่านมา สำหรับ จ.ตรัง ถือเป็นพื้นที่ปลอดภัยจากศูนย์กลางแผ่นดินไหว และไม่อยู่ในโซนของแนวรอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย

โดยประกอบไปด้วย 13 กลุ่มรอยเลื่อนใน 22 จังหวัด ซึ่งในภาคใต้ที่พบได้แก่ จังหวัดระนอง กระบี่ ชุมพร พังงา และสุราษฎ์ธานี แต่ จ.ตรัง จัดอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวจากระยะไกล หรือหากเกิดแผ่นดินไหว จะเกิดความเสียหายระดับน้อยถึงระดับปานกลางเท่านั้น ทั้งนี้ ผลจากการลงพื้นที่ตรวจสอบหาตำแหน่งการเกิดแผ่นดินไหวในครั้งนี้ จะรีบสรุปเพื่อประเมินสถานการณ์ และหาทางทำความเข้าใจกับชาวบ้านเพื่อเฝ้าระวังต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น