xs
xsm
sm
md
lg

นักธรณีชี้แจง หน.ส่วนเฝ้าระวังแผ่นดินไหวที่ตรัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
ตรัง - นักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี รายงานเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งแรกในจังหวัดตรัง ในรอบ 50 ปี ต่อที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการ เบื้องต้นมีรายงานตัวเลขความเสียหายอยู่ที่ 15 หลัง ใน 3 ตำบล ระบุบอกไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นอีกครั้งหรือไม่ อย่างไร

วันนี้ (29 มิ.ย.) นายปรีชา สายทอง นักธรณีวิทยาชำนาญการ กรมทรัพยากรธรณี พร้อมด้วยนายเจริญ แก้วประถม นายช่างสำรวจชำนาญงาน กรมทรัพยากรธรณี ได้รายงานเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งแรกในจังหวัดตรัง ในรอบ 50 ปี ต่อที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดตรัง ประจำเดือนมิถุนายน 2554 ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดตรัง โดยมี นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง, นายสุรพล วิชัยดิษฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง, นายสุวิทย์ สุบงกช รอง ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง, นายไชยยศ ธงไชย ปลัดจังหวัดตรัง พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ประมาณ 150 คน เข้าร่วมรับฟังคำชี้แจง

นายปรีชา กล่าวถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวในพื้นที่ จ.ตรัง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมา โดยมีแรงสั่นสะเทือนขนาด 3.5 ริกเตอร์ จุดศูนย์กลางอยู่ที่ อ.หาดสำราญ และมี 3 อำเภอของ จ.ตรัง รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือน ได้แก่ อ.เมืองตรัง อ.ย่านตาขาวและ อ.กันตัง ซึ่งครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อเวลา 22.30 น. และครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อเวลา 23.42 น. ผลจากการตรวจสอบในพื้นที่ จ.ตรัง พบรอยเลื่อนที่ไม่มีพลัง แต่ยังไม่มีเครื่องมือใดสามารถตรวจจับได้ก่อนล่วงหน้า จึงยังบอกไม่ได้ว่าจะเกิดเหตุแผ่นดินไหวขึ้นซ้ำอีกหรือไม่ และในประเทศไทยพบรอยเลื่อนที่มีพลัง 13 รอยเลื่อน และอยู่ในภาคใต้ 2 รอยเลื่อน คือ พื้นที่ จ.ระนอง และ จ.พังงา

อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่พบบ้านเรือนได้รับผลกระทบเกิดรอยร้าวหลายสิบหลังคาเรือน ขณะที่ชาวบ้านส่วนหนึ่งรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนถึง 2 ครั้ง เป็นเวลานานเกือบ 10 นาที ทั้งนี้ หลังจากนักธรณีวิทยาลงพื้นที่ทั้ง 4 อำเภอ เพื่อตรวจสอบความเสียหายและจุดที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวแล้ว จะนำไปประมวลผลอย่างละเอียดอีกครั้งที่กรมทรัพยากรธรณี ก่อนรายงานให้ทางจังหวัดตรังรับทราบต่อไป พร้อมกันนั้น นักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี ยังได้แนะวิธีหลบภัยหากเกิดเหตุแผ่นดินไหวขึ้นอีกครั้ง ต่อที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดตรัง เช่น การหลบไปอยู่ใต้โต๊ะและเตียงนอนที่มั่นคงแข็งแรง การสวมรองเท้ายางสำหรับกันเศษหินปูนและเศษกระเบื้องบาดเท้า และการตั้งสติเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

หลังจากนั้น นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ได้ขอให้เจ้าหน้าที่กรมอุตุนิยมวิทยา ขยายความการเตือนภัยแผ่นดินไหวให้ชัดเจนและรัดกุมมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาใช้ข้อความสั้นๆ ทำให้ฟังแล้วตื่นตกใจ ส่วนเรื่องความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในพื้นที่ จ.ตรัง ครั้งนี้ ทางจังหวัดตรังจะพิจารณาความช่วยเหลือด้านการซ่อมแซมบ้านเรือนให้ในโอกาสต่อไป แต่ในเบื้องต้นมีรายงานตัวเลขความเสียหายอยู่ที่ 15 หลัง ใน 3 ตำบล คือ ตำบลควนปริง อำเภอเมืองตรัง 8 หลัง ตำบลวังวน อำเภอกันตัง 1 หลัง และตำบลคลองชีล้อม อำเภอกันตัง 6 หลัง อย่างไรก็ตาม ล่าสุดจากการสำรวจของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ตำบลควนปริง อำเภอเมืองตรัง ยังพบรายงานตัวเลขความเสียหายของบ้านเรือนเพิ่มเติมเข้ามาอีก 9 หลัง
กำลังโหลดความคิดเห็น