สำรวจผลงานบ่มเพาะ “นักประดิษฐ์ใหม่” โครงการความร่วมมือ วช.และสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญา มีผลงานโดดเด่น เช่น ชุดชาร์จโทรศัพท์มือถือพกพา กังหันลมผลิตไฟฟ้าต้นทุนถูก เก้าอี้ชั่งน้ำหนักสำหรับผู้สูงอายุที่ยืนหรือเดินไม่ได้ และเวชภัณฑ์ดูดน้ำมูกเด็กเพื่อลดความบอบช้ำจากอาการบาดเจ็บภายในเนื้อเยื่อช่องจมูก
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.)และสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญา จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อบ่มเพาะนักประดิษฐ์รุ่นใหม่ ประจำปี 2554 หัวข้อ “การวิจัยเชิงบูรณาการสู่การประดิษฐ์และนวัตกรรม” ระหว่างวันที่ 8-9 ก.ย.54 ณ ศูนย์ประชุมธรรมศาสตร์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) โดยผู้อบรมกว่า 250 คนได้นำกว่า 50 ผลงานมานำเสนอ
ผลงานที่นำเสนอภายในการอบรมครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากการอบรมก่อนหน้านี้เมื่อเดือน มิ.ย.54 ที่ผ่านมา ซึ่งมีการอบรมให้ความรู้เกี่ยวแนวโน้มและทิศทางการวิจัย การประดิษฐ์คิดค้น ตลอดจนการบูรณาการงานวิจัยสู่การประดิษฐ์และนวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์ รวมถึงแนวคิดในการวิจัยอย่างเป็นระบบเพื่อพัฒนาต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์
ศ.นพ. สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ กล่าวถึงการอบรมในโครงการนี้ว่า คาดหวังว่าจะมีนักวิจัยและนักประดิษฐ์หน้าใหม่เกิดขึ้น และหวังว่าผู้เข้าอบรมจะได้รับแรงบันดาล ประสบการณ์และแนวคิดที่จะทำให้พัฒนางานต่อไปได้เร็วขึ้น รวมทั้งอยากเห็นการสร้างเครือข่ายความคิดร่วมกัน
พร้อมกันนี้ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้สำรวจผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่นำมาเสนอภายการอบรมครั้งนี้ ซึ่งมีหลายผลงานที่น่าสนใจ อาทิ “เตาอบเลนส์นูน ความร้อนสูง”ซึ่งใช้อบอาหารได้หลายชนิด เช่น หมูแดดเดียว เนื้อแดดเดียว กล้วยตาก ปลาแห้ง เป็นต้น ผลงานของนายปัญญา ลำโคลัด น.ส.สิริพร ขบวน และนายจตุพล คูหา ทีมจากโรงเรียนศึกษานารีวิทยา ซึ่งเผยกับเราว่าได้แนวคิดในการสร้างผลงานนี้จากการอบรม ซึ่งเราสามารถนำสิ่งเหลือใช้มาพัฒนาเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ได้
“ตอนนั้นทีมของเราสนใจสร้างเตาอบเพื่อทดลอง จึงสร้างสรรค์มาเป็นเตาอบที่มีใช้ตู้กับข้าวเป็นวัสดุหลัก มีเลนส์นูนรับแสงอยู่ด้านบน เพื่อรวมแสงจากดวงอาทิตย์ส่งผ่านความร้อนไปยังแผ่นอลูมิเนียมที่ทาสีดำและวางอยู่ด้านล่าง แล้วต่อตรงมายังเตาอบที่ดัดแปลงมาจากตู้กับข้าวที่หมดประโยชน์แล้ว โดยมีใบพัดเป็นตัวพัดความร้อนเข้าตู้อบ ซึ่งด้านล่างของเตาอบมีอิฐมอญรองไว้เพื่อเป็นตัวดูดซับความร้อนไว้ให้มีอุณหภูมิที่คงที่” สมาชิกทีมโรงเรียนศึกษานารีวิทยาอธิบาย
อีกผลงานที่น่าสนใจคือ “กังหันลมผลิตไฟฟ้า” (Wind Generator) ผลงานทีมอาจารย์จากวิทยาลัยอาชีวศึกษานครปฐม ได้แก่ นายวิฑูร มลิวัลย์ นายพิเชษฐ์ ตนะวัฒนา และ น.ส.ก่องกาญจน์ วงศ์พรหม ซึ่งได้พัฒนากังหันลมผลิตไฟฟ้าที่มีต้นทุนการผลิตพร้อมเครื่องควบคุมทั้งหมด 8,000 บาท โดยใบพัดกังหันลมทำจากท่อพีวีซีที่นำมาตัด แล้วประกอบกับมอเตอร์ซึ่งได้มาจากเครื่องซักผ้าที่ไม่ใช้งานแล้ว จากนั้นประกอบกันเป็นไดนาโม ซึ่งไฟฟ้าจากการหมุนของใบพัดถูกเก็บลงแบตเตอรีไว้ แล้วนำไปใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทที่ให้แสงสว่างได้
“เราพัฒนากังหันลมไฟฟ้านี้ เนื่องจากกังหันลมที่จำหน่ายในเชิงพาณิชย์นั้นมีราคาสูง และเราก็มีคำถามว่าทำอย่างไรจึงจะใช้ใช้ประโยชน์จากพลังงานลมที่มีได้ ซึ่งเมื่อมองในแง่ชาวบ้านธรรมดาที่ไม่ต้องใช้ความรู้มากมายแล้ว เราจึงใช้มอเตอร์เครื่องซักผ้าจากเครื่องที่เสียแล้ว เพราะเครื่องซักผ้าที่เสียแล้วส่วนอื่นจะพังแต่ยังนำมอเตอร์มาใช้งานได้ ประกอบกับความรู้จากการอบรมทำให้เราได้แนวคิดในเรื่องการนำของกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งโดยใช้เวลาในการประดิษฐ์คิดค้นประมาณ 3 เดือน”
ต่อมาที่เวชภัณฑ์ดูดน้ำมูก “เอ็มยูขทิป” (MU-Tip) เวชภัณฑ์ที่มีแนวคิดมาจากการดูแลเด็กอ่อนที่มีน้ำมูก ซึ่งการนำน้ำมูกเด็กอ่อนออกมานั้นมีวิธีเดียวคือการใช้สายดูดเสมหะต่อกับเครื่องดูดเสมหะ ทำให้มีเลือดออก เนื่องจากไปโดนเนื้อเยื่อที่มีความบอบบาง เด็กจึงเกิดการบาดเจ็บ และทำให้เนื้อเยื่อบวม เด็กจะยิ่งหายใจไม่ออกมากขึ้น ผู้ประดิษฐ์จึงคิดตัวเชื่อมที่เป็นข้อต่อระหว่างเครื่องและจมูก เพื่อให้เครื่องดูดน้ำมูกออกมาได้
“ลักษณะเวชภัณฑ์ดูดน้ำมูกคล้ายข้อต่อสำหรับต่อสายยางก๊อกน้ำ แต่ใช้วัสดุนิ่มและไม่ระคายเคืองรูจมูกเด็กอ่อน โดยปลายด้านหนึ่งต่อเข้ากับตัวเครื่อง ส่วนปลายอีกด้านหนึ่งจ่อกับรูจมูกของเด็ก เมื่อเปิดเครื่องก็สามารถดูดน้ำมูกออกมาได้เลย เวชภัณฑ์นี้ผลิตจากพลาสติกที่ผ่านการรับรองมาแล้วว่าสามารถใช้กับอาหารได้ จึงไม่เกิดการระคายเคืองในช่องจมูก สามารถใช้ได้ตั้งแต่เด็กที่คลอดก่อนกำหนด ไปจนถึงผู้สูงอายุ ซึ่งมีวิธีการทำความสะอาดง่ายเพียงแค่ล้างน้ำสบู่ต้มเพื่อฆ่าเชื้อ สามารถใช้ได้หลายครั้งหากดูแลอย่างถูกวิธี” นางจงรักษ์ อุตรารัชต์กิจ พยาบาลเชี่ยวชาญ ฝ่ายการพยาบาลโรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เจ้าของผลงานอธิบาย
ผลงานต่อไปเป็น “เครื่องชาร์จโทรศัพท์มือถือแบบพกพา” (ระบบ ควิก ชาร์จ) ผลงานนายวิจิตร แสงสุทธิ นายวีรวิชญ์ ประสิทธิ์ภัทรชัย และนายอนุเทพ ชื่นชม จากโรงเรียนปัญญาภิวัฒน์ เทคโนธุรกิจ ซึ่งได้แนวคิดจากเครื่องชาร์จแบบฉุกเฉินที่มีจำหน่ายในประเทศเพื่อนบ้าน และเพื่อต่อยอดโครงงานเครื่องชาร์จแบตเตอรีที่เคยทำก่อนหน้านี้ โดยเครื่องชาร์จที่พัฒนาล่าสุดนี้ใช้แบตเตอรีขนาด AA จำนวน 2 ก้อน และรองรับโทรศัพท์หลายรุ่น และเมื่อประจุไฟเต็มแล้วสามารถใช้งานได้นาน 48 ชั่วโมง
อีกผลงานคือ “เก้าอี้ชั่งน้ำหนักไอเอ็นเอ็มยูโมบายแชร์สเกล” (INMU Mobile Chair Scale) เก้าอี้สำหรับชั่งน้ำหนักในท่านั่ง คล้ายเก้าอี้สำนักงาน ที่มีแกนรับน้ำหนักเพียงแกนเดียว ซึ่ง ผศ.ดร. อุไรพร จิตต์แสง นายสร้างสรรค์ ศิริปิยะวัฒน์ นางพัศมัย เอกก้านตอง และ น.ส.มนัสนันท์ แยกสกุล เจ้าของผลงานนี้จากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยถึงแนวคิดว่าได้จากการสังเกตผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไปส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องสุขภาพและไม่สามารถยืนหรือเดินได้สะดวกนัก แต่จำเป็นต้องชั่งน้ำหนักเพื่อคำนวนดัชนีมวลกายให้แพทย์ได้วินิจฉัยเพื่อจ่ายยาและคำนวนโภชนาการของผู้ป่วย
“เก้าอี้ชั่งน้ำหนักนี้สามารถเคลื่อนย้ายได้ และมีตัวล็อคล้อไม่ให้เคลื่อนที่ไปไหนเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ซึ่งจากการทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างชายและหญิงจำนวน 777 คนพบว่า สามารถใช้เก้าอี้ชั่งน้ำหนักแทนการชั่งน้ำหนักในท่ายืนได้ค่าของน้ำหนักเป็นปกติ” เจ้าของผลงานเผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
เหล่านี้เป็นผลงานส่วนหนึ่งที่ได้จากการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อบ่มเพาะนักประดิษฐ์รุ่นใหม่ที่จัดขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่าง วช.และสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเราหวังว่าตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานและสิ่งประดิษฐ์จากการสังเกตปัญหาและสิ่งต่างๆ รอบตัว