xs
xsm
sm
md
lg

แม่อุ้มลูกวัย 5 เดือนเข้าแจ้งความเอาผิด รพ.ทำคลอดลูกตาบอด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แม่เด็กแฝดวัย 5 เดือน อุ้มลูกเข้าแจ้งความเอาผิด ร.พ.ชื่อดังเมืองแปดริ้ว หลังทำคลอด ลูกตาบอด
ฉะเชิงเทรา - แม่เด็กแฝดวัย 5 เดือน อุ้มลูกเข้าแจ้งความเอาผิด ร.พ.ชื่อดังเมืองแปดริ้ว หลังทำคลอด ลูกตาบอด ขณะ ผอ.โรงพยาบาล แจงเด็กมีความผิดปกติและคลอดก่อนกำหนด แต่ได้ช่วยเยื้อชีวิตไว้หลังคลอด ย้ำ เจ้าหน้าที่ทำการดูแลรักษาอย่างเต็มความสามารถแล้ว

วันนี้ (7 มิ.ย.54) ที่ สภ.เมือง ฉะเชิงเทรา น.ส.กชวรรณ โตทรัพย์ อายุ 42 ปี พร้อมด้วย นายอุทัย พันละออ อายุ 39 ปีอยู่บ้านเลขที่ 1139/6 ม.1 ต.พนมสารคาม อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา สองสามีภรรยา ได้อุ้มลูกฝาแฝด 2 คน คือ ด.ญ.เพชรรัตน์ พันละออ (น้องไหม) และ ด.ญ.อมรรัตน์ พันละออ (น้องหม่อน) อายุ 5 เดือน 18 วัน เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อ พ.ต.ท.ไพฑูรย์ พันตานุสนธิ์ สารวัตรเวรสอบสวน สภ.เมืองฉะเชิงเทรา

กรณีเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.53 ที่ผ่านมา ได้เดินทางมาคลอดบุตรยังที่ร.พ.เมืองฉะเชิงเทรา ตามระบบการส่งต่อ ของ ร.พ.พนมสารคาม ซึ่งขณะนั้นมีอายุครรภ์ได้ 7 เดือน โดยหลังคลอดบุตรออกมาเป็นเพศหญิงฝาแฝด คนแรก คือ น้องไหม มีน้ำหนัก 1,090 กรัม ส่วนที่สอง คือ น้องหม่อน มีน้ำหนัก 1,100 กรัม หลังการคลอดทางเจ้าหน้าที่พยาบาลได้นำบุตรทั้งสองคน เข้าอยู่ในตู้อบในทันที โดยทาง ร.พ.ได้ใช้เวลาในการดูแลเด็กอยู่ภายในตู้อบเป็นเวลานานกว่าหนึ่งเดือน

จนน้องไหมบุตรคนที่คลอดออกมาเป็นคนแรกนั้น มีสภาพร่างกายที่แข็งแรงดีแล้ว จึงได้ส่งกลับไปเลี้ยงยังที่บ้าน เมื่อวันที่ 17 ก.พ.54 ส่วนน้องหม่อน หรือบุตรคนที่สองนั้น เมื่อวันที่ 9 ก.พ.54 ทางเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเมืองฉะเชิงเทรา ได้มาบอกว่า น้องหม่อนมีอาการผิดปกติทางด้านสายตาจึงยังคงต้องอยู่ในความดูแลของทางแพทย์ต่อไปก่อน

น.ส.กชวรรณ กล่าวว่า จากนั้นทาง ร.พ.เมืองฉะเชิงเทรา ได้บอกอีกว่าจะต้องนำตัวเด็กส่งไปรักษาต่อยังที่โรงพยาบาลเด็ก ในกรุงเทพฯ ซึ่งระหว่างนั้นทาง ร.พ.เมืองฉะเชิงเทรา ได้ให้กลับไปพักอยู่ยังที่บ้านก่อน จึงได้ออกจากโรงพยาบาลไป เมื่อวันที่ 24 ก.พ.54 จนเมื่อวันที่ 8 มี.ค.54 นี้ บุตรสาวจึงได้ถูกส่งไปยัง ร.พ.เด็ก เพื่อให้แพทย์ทำการตรวจรักษา โดยที่แพทย์ที่ ร.พ.เด็ก ได้ทำการส่องกล้องตรวจอาการ และนัดให้นำเด็กมาทำการผ่าตัด ยิงเลเซอร์ เมื่อวันที่ 9 มี.ค.54 ซึ่งตนก็ได้ไปตามนัด

หลังจากแพทย์ได้นำเด็กเข้าไปทำการผ่าตัด กลับบอกว่าไม่สามารถที่จะทำการผ่าตัดรักษาตาของเด็กให้หายกลับมาเป็นปกติได้แล้ว เนื่องจากอาการได้เลยระยะเวลาที่จะทำการรักษาไปถึงระยะที่ 5 แล้ว ซึ่งการรักษาควรจะอยู่ที่ระยะ 2-3 เท่านั้น จึงจะทำการรักษาด้วยเลเซอร์ได้ ซึ่งสาเหตุนั้นเกิดจากเด็กได้รับอ๊อกซิเย่น มากเกินไป จนทำให้จอประสาทตาเกิดเป็นผังพืดหนามาก จนไปถึงจอประสาทตา และจอประสาทตาได้หลุดลอกออกมา จนตาทั้งสองข้างบอดสนิทไปแล้วและไม่สามารถทำการผ่าตัดรักษาได้ ตนจึงต้องจำใจพาบุตรสาวเดินทางกลับบ้าน

น.ส.กชวรรณ กล่าวถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น เชื่อว่าเกิดจากการรักษาที่ผิดพลาดของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเมืองฉะเชิงเทราจึงต้องเดินทางเข้ามาแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน ก่อนที่จะเตรียมตัวเดินทางไปยื่นเรื่องเพื่อร้องขอความเป็นธรรมต่อมูลนิธิปวีณา หงส์สกุล เพื่อขอความช่วยเหลือต่อไป เนื่องจากตนเองนั้นมีฐานะยากจน โดยที่สามีนั้นมีอาชีพรับจ้างทั่วไป ส่วนตนเองนั้นมีอาชีพค้าขายส้มตำ

แต่หลังจากคลอดบุตรแล้วต้องคอยดูแลบุตรที่พิการอย่างใกล้ชิด จนไม่มีเวลาที่จะประกอบอาชีพทำการค้าขายต่อไปได้อีก

“ฉันต้องการให้ทาง รพ.เมืองฉะเชิงเทรา แสดงความรับผิดชอบช่วยเหลือบ้าง ด้วยการนำบุตรสาวของตน ไปช่วยทำการรักษาให้หายเป็นปกติ หรือดวงตาข้างใดข้างหนึ่ง กลับมามองเห็นบ้างเท่าที่จะทำให้สามารถมองเห็นได้บ้างก็ยังดี “ นางกชวรรณ กล่าว

ด้านนายแพทย์วีระพงษ์ เพ่งวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมืองฉะเชิงเทรา กล่าวว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น สาเหตุเนื่องจากเด็กคลอดก่อนกำหนด อายุครรภ์เพียง 28 สัปดาห์ หรือประมาณ 7 เดือน 4 วัน เด็กมีน้ำหนักน้อยมาก เพียง 1,090 กรัม และ 1,100 กรัม อวัยวะต่างๆจึงยังไม่สมบูรณ์ครบถ้วน จอประสาทตายังเจริญไม่ดี โดยหลังคลอดออกมา ทางเจ้าหน้าที่ได้พยายามช่วยเหลือชีวิตเด็กทั้งสองคนเอาไว้ ด้วยการนำเข้ายังตู้อบ พร้อมกับการให้อ็อกซิเย่น

ก่อนที่จะช่วยเหลือเด็กนั้น ได้ติดต่อไปยังสถาบันเด็กแห่งชาติ ซึ่งมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ครบถ้วนสมบูรณ์แบบในการตรวจรักษามากกว่า ให้ช่วยทำเลเซอร์ให้ จากนั้นจึงได้มีการส่งต่อ
และนัดหมายอย่างต่อเนื่องกันไป ในการตรวจรักษา ถึง 3- 4 ครั้ง

สำหรับประวัติของมารดาเด็กนั้น ทราบว่าเคยตั้งครรภ์มาแล้วถึง 8 ครั้ง มีอาการแท้งเด็กไปแล้วถึง 3 ครั้ง นอกจากนี้ด้านการดูแลรักษาสุขภาพของมารดาเอง ในระหว่างการตั้งครรภ์นั้นอาจจะส่งผลต่อความไม่สมบูรณ์ของเด็กในครรภ์ด้วย เช่น การรับประทานอาหารการเตรียมความพร้อมอย่างถูกต้อง หรือบริโภคอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ

แต่อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นได้เตรียมให้การช่วยเหลือตามมาตรา 41 โดยผู้พิการจะได้รับการช่วยเหลือเป็นเงินประมาณ 150,000 บาท แต่ทางฝ่ายของมารดาเด็กนั้น ยังไม่ได้ยินยอมเซ็นให้มีการดำเนินการไปตามระเบียบขั้นตอนแต่อย่างใด หลังมีการเข้ามาพูดคุยเจรจากัน ก่อนหน้านี้

ขณะที่ พ.ต.ท.ไพฑูรย์ กล่าวว่า ขณะนี้ต้องรอผลจากการตรวจสอบการรักษา จากร.พ.เด็ก ก่อนว่าการวินิจฉัยในการรักษานั้นเป็นอย่างไร แต่เบื้องต้นดูจากสภาพแล้ว เชื่อว่าเกิดจากภาวะแทรกซ้อนในการรักษาหรือความสมบูรณ์ของเด็กแต่ละคนไม่เท่ากัน เนื่องจากเด็กเกิดมาพร้อมกันสองคน และเข้าตู้อบพร้อมกันอีกคนกลับไม่เป็นอะไร อีกคนกลับมีปัญหาเกิดขึ้น ทั้งที่ทำการรักษาเด็กทั้งสองคนพร้อมกัน
น.ส.กชวรรณ  โตทรัพย์ อายุ 42 ปี พร้อมด.ญ.อมรรัตน์ พันละออ(น้องหม่อน) อายุ 5 เดือน 18 วัน ที่ตาบอด
กำลังโหลดความคิดเห็น