ภายในช่วงสัปดาห์เดียววงการอวกาศรัสเซียต้องเผชิญการสูญเสียจากอุบัติเหตุถึง 2 ครั้ง โดยก่อนอุบัติเหตุจรวดขนส่งยานลำเลียงเสบียงสู่สถานีอวกาศระเบิดครั้งล่าสุดนี้ ได้เกิดอุบัติขึ้นกับจรวดอีกลำเมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา ทำให้ส่งดาวเทียมสื่อสารขึ้นผิดวงโคจร และนาซาอาจต้องกลับมาทบทวนแผนในการพึ่งพารัสเซียสู่สถานีอวกาศ
ก่อนหน้าจรวดโซยุซ-ยู (Soyuz-U) ของรัสเซียจะทำงานผิดพลาดจนเป็นเหตุให้ไม่สามารถส่งโปรเกรส (Progress) ยานขนส่งเสบียงแก่สถานีอวกาศนานาชาติขึ้นสู่วงโคจรที่เหมาะสมได้ สเปซด็อทคอมระบุว่า เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาจรวดอีกลำของรัสเซียคือจรวดโปรตอน (Proton) ได้ทำงานผิดพลาดจนส่งดาวเทียมสื่อสารผิดวงโคจร
สำหรับยานขนส่งเสบียงโปรเกรสเอ็ม-12เอ็ม (Progress M-12M) ที่ประสบอุบัติเหตุล่าสุดเมื่อคืนวันที่ 24 ส.ค.54 นั้นบรรทุกสัมภาระกว่า 3 ตัน เป็นเชื้อเพลิงขับเคลื่อนจรวดกว่า 90 กิโลกรัม ออกซิเจน 50 กิโลกรัม น้ำ 420 กิโลกรัม และสัมภาระอื่นๆ อีกกว่า 1,250 กิโลกรัม แต่ลูกเรือและสถานีอวกาศไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากเกิดอุบัติเหตุที่ขึ้นกับยานขนส่งเสบียง เพราะเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมากระสวยอวกาศแอตแลนติส (Atlantis) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ได้ขนส่งและอุปกรณ์จำเป็นและเสบียงจำนวนมากขึ้นไปสำรองไว้
หากแต่สเปซไฟลทนาวระบุว่าวิศวกรต้องการหาคำตอบให้ได้เร็วที่สุดว่าเกิดเหตุผิดพลาดใดกับจรวดท่อนบนของจรวดโซยุซ-ยู เนื่องจากเป็นจรวดระบบเดียวกับที่ใช้ส่งแคปซูลโซยุซที่ใช้ลำเลียงมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศ และปฏิบัติการส่งมนุษย์อวกาศครั้งต่อไปกำหนดไว้ในวันที่ 22 ก.ย.นี้
“จึงเห็นได้ชัดว่าเหตุการณ์นี้มีผลต่อเนื่องถึงสถานีอวกาศในวงโคจรและลูกเรือด้วย เพื่อนร่วมงานของเราทางฝั่งรัสเซียจะเริ่มต้นประเมินข้อมูลที่มีอยู่อย่างเร็วที่สุด เพื่อหารากเหง้าของปัญหาที่แท้จริง” ไมค์ ซัฟเฟรดินี (Mike Suffredini) ผู้จัดการโครงการสถานีอวกาศ จากศูนย์อวกาศจอห์นสัน (Johnson Space Center) ในฮูสตัน สหรัฐฯ กล่าว และบอกด้วยว่าเสบียงและสัมภาระที่ส่งขึ้นไปสำรองไว้ก่อนนี้ทำให้สถานีอวกาศยังคงเดินหน้าต่อไปได้อีก 2-3 เดือนโดยไม่มียานส่งเสบียงขึ้นไปเติม
ทั้งนี้ ลูกเรือประจำสถานีอวกาศ 3 คน คือ แอนเดรย์ บอริสเซนโก (Andrey Borisenko) ผู้บังคับการสถานีอวกาศในภารกิจชุดที่ 28 (Expedition 28) และนักบินอวกาศอีก 2 คน คือ เล็กซานเดอร์ ซาโมกุตเยียฟ (Alexander Samokutyaev) และโรนัลด์ การัน (Ronald Garan) มีกำหนดกลับโลกวันที่ 8 ก.ย.โดยแคปซูลโซยุซ ทีเอ็มเอ-21 (Soyuz TMA-21) จากนั้นนักบินอวกาศอีก 3 คน คือ แอนโทน ชกัฟเลรอฟ (Anton Shkaplerov) อนาโทลี ไอวานิชิน (Anatoly Ivanishin) และ แดน เบอร์แบงก์ (Dan Burbank) วิศวกรอเมริกัน จะขึ้นไปประจำสถานีอวกาศแทนในวันที่ 22 ก.ย.นี้ โดยอาศัยแคปซูลโซยุซเช่นกัน
ขณะที่เรายังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แน่ชัดของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับการส่งยานขนเสบียงรัสเซีย ซัฟเฟรดินีกล่าวว่าลูกเรือบนสถานีอวกาศที่มีกำหนดกลับโลกนั้นยังอยู่ในวงโคจรต่อไปได้อีก เพื่อดำเนินภารกิจวิทยาศาสตร์ตามปกติ ในช่วงเวลาที่รัสเซียวิเคราะห์หาสาเหตุความผิดพลาดที่เกิดขึ้นระหว่างส่งยานโปรเกรส โดยลูกเรือชุดที่มีกำหนดกลับโลกนั้นจะปฏิบัติหน้าที่บนอวกาศครบ 156 วันในวันที่ 8 ก.ย. ซึ่งปกติกำหนดรอบผลัดเปลี่ยนไว้ 180 วัน และยืดเวลาประจำบนสถานีออกไปได้อีก 30 วันในกรณีจำเป็น ดังนั้น นักบินชุดนี้จะอยู่ในวงโคจรต่อไปได้อีกอย่างน้อย 40-50 วัน
ในกรณีเลวร้ายที่สุดซัฟเฟรดินีกล่าวว่าสถานีอวกาศยังคงดำเนินภารกิจต่อไปได้ถึงเดือน มี.ค.โดยไม่ต้องขนส่งเสบียงและสัมภาระขึ้นไปเสริม แต่บอริสเซนโกและลูกเรืออีก 2 คน ต้องกลับโลกภายในเดือน ต.ค. และทิ้งให้สถานีอวกาศมีลูกเรือประจำอยู่ 3 คน ไปจนกว่าจะสามารถส่งทีมใหม่ขึ้นไปแทนที่ได้ แต่จำนวนงานวิจัยก็จะลดลงไปด้วย
ผู้จัดการโครงการสถานีอวกาศของนาซาคาดหวังว่า รัสเซียจะไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ก่อนที่จะจำเป็นต้องลดจำนวนลูกเรือประจำสถานีอวกาศ ทั้งนี้ ตลอด 4 ทศวรรษของการส่งจรวดโซยุซ-ยู ประสบความสำเร็จทั้งหมด 745 ครั้ง และล้มเหลวเพียง 21 ครั้ง
สำหรับลูกเรือที่ประจำอยู่บนสถานีอวกาศขณะนี้อีก 3 คน คือ เซอร์เกย์ วอลกอฟ (Sergei Volkov) นักบินอวกาศรัสเซีย ไมค์ ฟอสซัม (Mike Fossum) นักบินอวกาศอเมริกัน และซาโตชิ ฟูรุกาวะ (Satoshi Furukawa) นักบินอวกาศญี่ปุ่น
ชมคลิปปล่อยส่งยานขนส่งเสบียงของรัสเซียซึ่งเกิดอุบัติเหตุ