น้ำนมเป็นสัญลักษณ์แสดงความอุดมสมบูรณ์ ความบริสุทธิ์ และความดี ครอบครัวที่ไม่มีนมให้ลูกบริโภคจึงแสดงถึงการมีความทุกข์และความลำบากยากไร้ คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงแผ่นดินที่มีน้ำนมและน้ำผึ้ง ซึ่งหมายถึงดินแดนที่ได้รับพรประเสริฐจากพระเจ้าให้มีความอุดมสมบูรณ์ตลอดไป และนี่ก็คือสถานที่ที่ Moses ต้องการนำชาวอิสราเอลออกจากอียิปต์ไปอยู่และสร้างประเทศ เทพนิยายกรีกกล่าวถึงอาณาจักรแห่งกษัตริย์ Cronus ว่าร่ำรวยทองคำ และประชาชนต่างใช้ชีวิตอย่างสุขสบายด้วยการบริโภคน้ำนมและผลไม้โดยไม่ต้องทำงานใดๆ เมื่อทารก Hercules ประสูติ พระบิดา Zeus ทรงนำพระองค์ไปดื่มพระกษิรธารา (น้ำนม) จากเทพธิดา Juno ขณะนางบรรทมหลับ เหตุการณ์นี้ทำให้นางตกพระทัยตื่น และหยาดพระกษิรธาราจากพระถันได้กระเส็นกระสายเป็นทางช้างเผือก (Milky Way)
นักประวัติศาสตร์พบว่า ก่อนที่มนุษย์จะรู้จักทำเกษตรกรรม ทารกที่เพิ่งคลอดจากครรภ์ต้องดื่มนมแม่หรือนมสัตว์ ชาวสุเมเรียนเมื่อ 5,000 ปีก่อนนิยมเป็นแม่นม คือมีหน้าที่ดูแลทารกเกิดใหม่โดยการให้นมและร้องเพลงขับกล่อม ทั้ง Romulus และ Remus ซึ่งตำนานอ้างว่าคือผู้สร้างกรุงโรม ขณะเป็นทารกได้ดื่มนมสุนัขจิ้งจอก ชาวอียิปต์โบราณก็ตระหนักในความสำคัญของน้ำนม ดังปรากฏในภาพวาดเทพธิดา Isis กำลังให้นมทารก Horus ผู้ทรงเป็นฟาโรห์ในเวลาต่อมา และเวลาฟาโรห์มีรัชทายาองค์น้อย พระองค์จะทรงเลือกแม่นมจากบรรดานางสนมในวังมาให้การดูแลองค์รัชทายาท ดังนั้นแม่นมในสังคมอียิปต์โบราณจึงมีฐานะทางสังคมสูงมาก เพราะเป็นผู้ให้นมแก่รัชทายาท และลูกของแม่นมเองก็มีฐานะเกือบเทียบเท่าพระราชบุตร/บุตรีของกษัตริย์ด้วย เพราะได้ดื่มนมจากเต้าเดียวกัน
สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้อาชีพแม่นมในอดีตรุ่งเรือง เพราะทุกคนมีความเชื่อว่าการให้ลูกดูดนมจากเต้าจะทำให้ร่างกายหญิงผู้นั้นทรุดโทรมจนไม่เป็นที่รักและที่ปรารถนาของสามี ด้วยเหตุนี้สังคมกรีกโบราณจึงจ้างทาสหญิงที่เรียกว่า duolo มาให้นมแก่บรรดาลูกๆ ของเจ้านายและบรรดาลูกของทาสหญิงคนอื่น เพื่อว่าทาสหญิงเหล่านั้นจะได้ตั้งครรภ์ในเวลาไม่นาน แล้วลูกที่เกิดมาก็จะเป็นทาสรับใช้เจ้านายต่อไป
ถึงปราชญ์ เช่น Aristotle, Pliny, Cicero และ Plutarch จะไม่เห็นด้วยและประณามประเพณีแม่นมว่าทำให้แม่-ลูกขาดความรักและความผูกพันกัน เพราะหน้าที่ธรรมชาติของมารดาคือต้องให้นมแก่ลูก แต่เหล่าสตรีชั้นสูงก็ไม่ปฏิบัติตามเพราะมีความเชื่อว่าครอบครัวที่มีแม่นมแสดงว่าครอบครัวนั้นร่ำรวย และสตรีคนใดให้ลูกดื่มนมตนเองแสดงว่าเธอยากจน
กรณีชาวตะวันออกกลางที่นับถือศาสนาอิสลาม เชื่อว่าทารก Mohammad ที่ได้กำพร้ามารดาตั้งแต่อายุยังน้อย จึงต้องอาศัยแม่นมเลี้ยง อย่างไรก็ตาม ทั้งคัมภีร์กุรอานและปราชญ์ Avicenna ต่างก็ให้ความสำคัญกับการดื่มนมแม่ โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีแรกของชีวิต ยิ่งไปกว่านั้นกฎหมายอิสลามยังห้ามคนที่ดื่มนมจากเต้าเดียวกันแต่งงานกัน เพราะถือว่าคนทั้งสองมีแม่คนเดียวกัน
เมื่อความคิดของ Avicenna แพร่เข้าสู่ยุโรป ผู้คนได้พากันเชื่อความคิดนี้ ดังนั้นชาวยุโรปจึงได้วาดภาพพระนางมาเรียให้ทารกเยซูดูดนม เช่น ภาพ Madonna and Child with Angels โดย Jean Fouquet และภาพ Madonna del latte โดย Ambrogio Lorenzetti เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม บรรดากษัตริย์ยุโรปก็ยังทรงนิยมประเพณีการมีแม่นมต่อไป เพราะทรงรู้ดีว่าถ้ามเหสีไม่ให้รัชทายาทดื่มพระกษิรธารา พระนางจะทรงมีทายาทได้อีกในเร็ววัน และเมื่อกษัตริย์มีพระราชประสงค์จะมีผู้สืบราชบัลลังก์ ดังนั้นในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 12 ทารกในราชสำนักฝรั่งเศสทุกพระองค์จึงต้องดื่มนมของแม่นม (ยกเว้นพระนาง Marie Antoinette ที่ทรงให้โอรสดื่มนมพระมารดา) ไม่เพียงแต่ในราชสำนักเท่านั้นที่อาชีพแม่นมเจริญรุ่งเรือง ครอบครัวชาวฝรั่งเศสเมื่อ 400 ปีก่อน ถ้าเป็นครอบครัวที่มีฐานะก็นิยมจ้างนางพยาบาลมาดูแลสุขภาพ เมื่อครอบครัวมีสมาชิกใหม่ นายจ้างจึงได้เพิ่มหน้าที่ของนางพยาบาล คือนอกจากต้องเลี้ยงดูทารกแล้วยังต้องให้นมทารกด้วย และเมื่อจำนวนทารกเพิ่มตลอดเวลา ความต้องการนางพยาบาลจึงเพิ่มขึ้นด้วย จนนางพยาบาลประจำการมีจำนวนไม่เพียงพอ ดังนั้นชาวฝรั่งเศสจึงหันไปจ้างหญิงชาวนายากจนมาทำหน้าที่แม่นม แล้วเวลาแม่นมเหล่านี้มีลูกก็จ้างผู้หญิงที่ยากจนกว่ามาเลี้ยงดูลูกของตนอีกทอดหนึ่ง
ตามปรกติคนที่เป็นแม่นมจำเป็นมักมีฐานะยากจน ดังนั้นนางจึงรับเลี้ยงทารกหลายคนพร้อมกัน และเพราะบ้านที่นางใช้ประกอบอาชีพแม่นมตั้งอยู่ไกลจากบ้านของทารก ดังนั้นบิดามารดาของทารกจึงไม่ได้เห็นหน้าค่าตาลูกของตนบ่อย จนเมื่อเวลาผ่านไปนานๆ พ่อแม่อาจจำหน้าที่ลูกไม่ได้ ดังนั้นจึงมีข่าวการสับเปลี่ยนทารกในสถานรับเลี้ยงเด็กเนืองๆ และเมื่อพ่อแม่ไม่มีเวลามาสนใจดูแลลูก ความผูกพันทางจิตใจระหว่างบิดามารดากับลูกจึงมีน้อย ทำให้เวลาลูกเสียชีวิต บิดามารดาจึงถือโอกาสไม่ไปร่วมในพิธีศพของลูก
ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 อาชีพแม่นมยังเป็นที่นิยม แม้ Benjamin Franklin รัฐบุรุษอเมริกันจะสนับสนุนให้ลูกดื่มนมแม่และให้แม่ทุกคนให้นมลูกด้วยตนเองก็ตาม ลุถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18 สตรีฝรั่งเศสที่มีฐานะสูงได้เริ่มให้นมลูก และปราชญ์ Jean Jacques Rousseau ผู้เชื่อว่าครอบครัวมีความสำคัญยิ่งกว่ารัฐ ก็ได้สนับสนุนให้สตรีทุกคนที่มีลูกควรให้นมลูกเอง โดยอ้างถึง Marie Antoinette เป็นสตรีตัวอย่าง ตั้งแต่นั้นมารัชทายาทฝรั่งเศสทุกพระองค์ก็ทรงดื่มนมพระมารดา ส่วนในอังกฤษ Duchess of Devonshire ได้เริ่มประเพณีให้ลูกดื่มนมแม่ตามแนวปฏิบัติของ Marie Antoinette แต่วัฒนธรรมการให้ลูกดื่มนมแม่ก็ยังไม่แพร่หลาย เพราะหญิงชาวบ้านที่มีฐานะยากจนจำเป็นต้องไปทำงานนอกบ้านเพื่อหาเงิน ดังนั้นเมื่อนางมีลูกน้อย การดูแลให้นมจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ทำให้ต้องส่งลูกน้อยไปให้แม่นมประจำหมู่บ้านดูแลแทน เพราะแม่นมมีเด็กในความดูแลเป็นจำนวนมาก การดูแลจึงไม่ทั่วถึงและไม่มีคุณภาพ ด้วยเหตุนี้ทารกจึงเสียชีวิตมากมาย จนผู้คนในสมัยนั้นบางครั้งเรียกโรงเลี้ยงเด็กว่า โรงฆ่าเด็ก
หลังการปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศส คณะปฏิวัติได้ออกแถลงการณ์ล้มเลิกระบบแม่นม โดยชี้ให้เห็นว่าแม่ที่ไม่ให้ลูกดูดนมแสดงว่าเป็นพวกศักดินาที่ประเทศไม่ต้องการ และการให้ลูกดื่มนมแม่แสดงความเป็นคนรักชาติและรักเสรีภาพ ตั้งแต่ พ.ศ. 2335 ที่เกิดสาธารณรัฐฝรั่งเศส ความนิยมให้ผู้หญิงมีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น (feminism) ก็ได้กำหนดให้มารดาให้นมลูก เพราะเป็นสิทธิที่ผู้หญิงทุกคนควรทำ และไม่ควรให้แม่นมให้นมลูกแทน โดยการอ้างว่าเพื่อถนอมรูปทรงให้เป็นเครื่องเล่นทางเพศของผู้ชายอีกต่อไป
ในปี 2391 Honoré Daumier ได้วาดภาพ The Republic เป็นภาพผู้หญิงรูปร่างสูงใหญ่นั่งถือธงชาติ โดยมีทารกดูดนมนาง และมีเด็กอีกคนหนึ่งนั่งอ่านหนังสืออยู่แทบเท้า เปรียบให้เห็นว่ารัฐเป็นแม่ที่ดีที่ต้องให้อาหารและให้การศึกษาลูก
เมื่อเริ่มคริสต์ศตวรรษที่ 19 คุณค่าของการดื่มนมแม่เริ่มปรากฏว่าดีกว่าและมีประโยชน์กว่าการดื่มนมจากแม่นม
ความจริงประเด็นคุณและโทษของการให้ลูกดื่มนมแม่นมนั้นมีมากมาย ข้อดีคือทำให้แม่ไม่ชราก่อนวัยอันควร เพราะทรวดทรงจะไม่หย่อนยานทำให้สามีรักนานและไม่คิดมีภรรยาใหม่ การมีแม่นมหลังจากที่ให้กำเนิดลูกแล้ว สามีสามารถจะมีเพศสัมพันธ์กับภรรยาได้โดยไม่ต้องพะว้าพะวังว่าทารกจะรบกวน และการที่แม่ให้นมลูกจะทำให้แม่เป็นหมันชั่วคราว ดังนั้นการไม่ให้นมลูกจึงทำให้แม่สามารถมีลูกได้อีกหลังจากคลอดลูกแล้วไม่นาน และนั่นก็หมายความว่านางอาจจะมีลูกดก ในประเทศอังกฤษเมื่อ 300 ปีก่อนมักถือเป็นเรื่องปรกติที่ครอบครัวที่มั่งคั่งจะมีลูกตั้งแต่ 10-20 คน เมื่อมีลูกมากเช่นนี้ ครอบครัวก็จำเป็นต้องมีแม่นมหลายคนอย่างไม่มีทางเลี่ยง
ส่วนข้อเสียของการมีแม่นมคือ เมื่อมีลูกหลายคน แม่อาจเป็นโรคโลหิตจาง นอกจากนี้ครอบครัวที่มีทายาทหลายคนก็อาจมีปัญหาเรื่องลูกๆ แย่งชิงมรดกกัน การมีลูกหลายคนจะทำให้แม่กับลูกแต่ละคนมีความผูกพันกันน้อยจนทำให้เมื่อลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ลูกอาจเป็นปัญหาของสังคมได้ ดังนั้นจิตวิทยาทุกวันนี้จึงสนับสนุนให้แม่ให้นมลูกเองว่าเป็นหน้าที่ที่แม่ควรกระทำและต้องกระทำ เพราะลูกจะได้มีความรู้สึกว่าตนเป็นที่รักของแม่อย่างเพียงพอที่จะทำให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ส่วนนักชีววิทยาก็มีความเห็นพ้องว่าการให้นมลูกเองเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถคุมกำเนิดของแม่ได้ เพื่อช่วยให้ครอบครัวมีจำนวนสมาชิกที่เหมาะสม และเมื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมต่างก็เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมของมันเอง ดังนั้นคนซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่งก็ควรทำเช่นเดียวกัน (Carl Linnaeus นักชีววิทยาชาวสวีเดนจึงได้เรียกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมว่า mammal โดยอิงคำว่า mammary gland ซึ่งแปลว่า ต่อมน้ำนม)
ณ วันนี้ ประเพณีแม่ให้นมลูกเองกำลังได้รับความนิยมในทุกสังคม แม่ในสังคมที่ล้าหลัง เช่นในบางพื้นที่ของจีนที่มักเชื่อว่าผู้หญิงเป็นแม่ใหม่ๆ หากได้สวมกำไลหยกจะทำให้ร่างกายมีน้ำนมอุดมสมบูรณ์เพียงพอสำหรับให้ลูกดื่ม สำหรับสตรีบางคนที่มีความสามารถจำกัดในการผลิตน้ำนมธรรมชาติเทคโนโลยีก็ได้เข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหานี้ โดยในปี 2428 นักวิทยาศาสตร์ได้ผลิตนมผงขึ้นเป็นครั้งแรกพร้อมขวดนมสำหรับให้ทารกใช้ดูด อีก 20 ปีต่อมา บริษัท Nestle ได้ผลิตนมผง Nestle ออกมาจนขายดีไปทั่วโลก ทั้งๆ ที่นมผงไม่มีส่วนผสมของน้ำนมแต่อย่างใด
ในปี 2500 โรงพยาบาลในอเมริกาและอังกฤษต่างก็นำผลิตภัณฑ์ของ Nestle ให้ทารกแรกคลอดดื่ม และเมื่อนมผงมีราคาถูก ดังนั้นผู้หญิงที่เป็นแม่ทุกระดับฐานะจึงมีทางเลือกให้ลูกดื่มนมแม่หรือนมผง แต่สำหรับผู้หญิงในประเทศยากจนซึ่งมีปัญหาน้ำที่ใช้ต้มนมผงมักเป็นน้ำสกปรก ดังนั้นในปีหนึ่งๆ จึงมีเหตุการณ์ทารกเสียชีวิตเพราะสาเหตุนี้นับล้านคน ด้วยเหตุนี้ในปี 2499 สมาคม La Leche League จึงริเริ่มโครงการให้แม่ให้น้ำนมจากเต้าของตนเอง
ในปี 2524 องค์การอนามัยโลกและองค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ได้ลงมติให้มีกฎหมายควบคุมการขายนมผง
ในปี 2532 รัฐบาลอังกฤษได้เริ่มโครงการรณรงค์ให้คนอังกฤษยอมรับว่านมแม่ดีที่สุด และให้ถือว่าการที่แม่ให้ลูกดูดนมในที่สาธารณะไม่เป็นเรื่องอุจาดลามกที่ผิดกฎหมายอีกต่อไป
ในปี 2546 ได้มีการสำรวจพบว่าร้อยละ 80 ของ แม่ในนอร์เวย์ให้นมลูกด้วยตนเอง โดยเฉพาะในระยะ 6 เดือนแรก ส่วนแม่อเมริกันและอังกฤษให้นมลูกเองคิดเป็นร้อยละ 32 และ 20 ตามลำดับ
ในปี 2550 ยูนิเซฟรายงานว่าทารกที่ไม่ได้ดื่มนมแม่เสียชีวิตมากถึง 1.5 ล้านคน
ทุกวันนี้ปัญหาเรื่องนมแม่และนมผงยังมีต่อไปแต่จะเป็นไปในทิศทางใดขึ้นกับสภาพสังคมและสุขภาพของแม่เอง ถึงกระนั้นเราก็มั่นใจได้ว่านมผงเข้ามาทำหน้าที่แทนแม่นมจนทำให้ ณ วันนี้ อาชีพแม่นมได้สูญพันธุ์ไปแล้ว
หมายเหตุ: อ่านความเป็นมาของเรื่องนี้ได้จากหนังสือ Mother Nature: A History of Mothers, Infants, and Natural Selection โดย Sarah Hrdy จัดพิมพ์โดย Pantheon, New York ในปี ค.ศ. 1999 ความหนา 745 หน้า ราคา 35 ดอลลาร์ (ISBN 0-679-44265-0)
สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.