ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช. – นักเรียนโครงการเจเอสทีพีพบ “น้ำมะพร้าวหมัก” มีประสิทธิภาพช่วยน้ำยางพาราจับตัวเร็วกว่าการใช้กรดน้ำส้มถึง 8 เท่า ได้แผ่นยางพาราดิบที่มีคุณภาพดี เหมาะแก่อุตสาหกรรมยางพาราในครัวเรือน เสนอเป็นทางเลือกใหม่ใช้สารจากธรรมชาติ ลดการใช้สารเคมี เพื่อสุขภาพที่ดีของเกษตรกรและสิ่งแวดล้อม
น.ส.ศรีสุดา โรจน์เสถียร นักเรียนชั้น ม. 6 โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี และเยาวชนโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน ( Junior Science Talent Project) หรือ เจเอทีพี (JSTP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) เผยว่าในขั้นตอนผลิตยางแผ่นดิบจะต้องใช้น้ำยางพารามาผสมกับสารละลายกรด เช่น กรดฟอร์มิก หรือ กรดแอซิติก (กรดน้ำส้ม) เพื่อให้เนื้อยางจับตัวกันเป็นก้อนก่อนนำไปขึ้นรูปเป็นยางแผ่น แต่นอกจากเป็นสารเคมีราคาแพงแล้วอาจมีผลเสียต่อสุขภาพเกษตรกรในอนาคต จึงสนใจหาสารจากธรรมชาติที่มีคุณสมบัติเป็นกรดมาช่วยในการจับตัวของน้ำยางพาราแทนสารเคมี
“เมื่อลองหาวัตถุดิบในภาคใต้พบว่า พื้นที่เกษตรกรรมส่วนใหญ่นอกจากเป็นสวนยางพาราแล้ว ชาวบ้านมักปลูกสวนมะพร้าวในบริเวณใกล้เคียงกันด้วย โดยส่วนใหญ่จะเน้นขายเนื้อมะพร้าวและทิ้งน้ำมะพร้าวไว้ เพราะขายไม่ได้ราคา น้ำมะพร้าวที่เหลือทิ้งบางส่วนชาวบ้านจะนำมาใช้ถนอมอาหารด้วยการดองผักตามภูมิปัญหาดั้งเดิม เช่น ผักเสี้ยนดอง ซึ่งจะมีรสเปรี้ยว เนื่องจากปกติสารที่มีรสเปรี้ยวมักมีสมบัติเป็นกรด จึงตั้งสมมุติฐานว่า หากนำน้ำมะพร้าวมาหมักก็จะมีฤทธิ์เป็นกรด และอาจนำมาใช้แทนสารเคมีในกระบวนการผลิตแผ่นยางดิบได้” น.ส.ศรีสุดา เผยที่มาของจุดเริ่มในการทำวิจัยครั้งนี้
ในงานวิจัยนี้ น.ส.ศรีสุดากล่าวว่าได้ทดลองผสมน้ำมะพร้าวหมักกับน้ำยางพาราแล้วพบว่าเนื้อยางพารามีการจับตัวกันได้ดี จึงขยายขนาดภาชนะที่ใช้ทดลอง จากนั้นหาอัตราส่วนการทำน้ำมะพร้าวหมักหรือหาอัตราส่วนของน้ำมะพร้าวต่อน้ำตาล แล้วหาอัตราส่วนผสมของน้ำมะพร้าวหมักต่อน้ำยางพาราต่อ เพื่อดูว่าอัตราส่วนใดที่ให้เนื้อยางพาราจับตัวได้ดีและใช้เวลาน้อยที่สุด
จากการทดลองพบว่าการหมักน้ำมะพร้าว 16 ส่วนต่อน้ำตาล 1 ส่วน เป็นเวลา 22 วันเป็นอัตราส่วนผลิตน้ำมะพร้าวหมักที่ให้น้ำยางพาราจับตัวอย่างสมบูรณ์ในเวลา 18 นาที และได้แผ่นยางคุณภาพดี มีสีเหลืองอมน้ำตาลอ่อนสม่ำเสมอทั้งแผ่น ส่วนอัตราส่วนของน้ำมะพร้าวหมักผสมกับน้ำยางพารา พบว่า อัตราส่วนน้ำยางพารา:น้ำมะพร้าวหมัก:น้ำ เป็น 4:2:1, 4:1.5:2, และ 4:2:2 นั้น ช่วยให้น้ำยางพาราจับตัวได้ดีในเวลาที่ไม่ต่างกันมากนัก ดังนั้นจึงเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสม
นอกจากนี้ในงานวิจัยยังได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบการจับตัวของน้ำยางพาราที่ใช้น้ำมะพร้าว และกรดแอซิติก ที่มีการควบคุมค่าความเป็นกรด-เบส หรือค่า pH ให้เท่ากัน พบว่า น้ำมะพร้าวหมักที่อัตราส่วน 16:1 ช่วยให้น้ำยางพาราจับตัวได้เร็วกว่าการใช้กรดแอซิติกถึง 8.11 เท่า และเมื่อนำยางแผ่นที่ได้จากน้ำมะพร้าวหมักไปทดสอบคุณภาพกับสถาบันวิจัยยางพารา กรมวิชาการเกษตร พบว่ายางแผ่นที่ได้มีคุณภาพใกล้เคียงกัน ทั้งในส่วนของสี (Lovibond scale) ที่ได้ ค่าความอ่อนตัวแรกเริ่ม ปริมาณไนโตรเจน สิ่งระเหย และเถ้ามีค่าใกล้เคียงกัน
นางสาวศรีสุดา กล่าวว่า ผลวิจัยแสดงให้เห็นว่าน้ำมะพร้าวหมักช่วยให้น้ำยางพาราจับตัวได้ดี และแผ่นยางที่ได้มีคุณภาพใกล้เคียงกับการใช้กรดแอซิติก ซึ่งเกษตรกรสามารถนำไปทดลองใช้ได้ เพียงแต่ในเบื้องต้นยังเหมาะต่อการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมครัวเรือนเท่านั้น ส่วนแผนงานวิจัยต่อจากนี้จะมีการศึกษาว่าสารชนิดใดในน้ำมะพร้าวที่ช่วยให้น้ำยางพาราจับตัวดี เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาไปสู่การนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมยางพาราขนาดใหญ่ในอนาคต
สำหรับงานวิจัยนี้มี น.ส.คณิตา สุขเจริญ อาจารย์โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี เป็นที่ปรึกษา และ นางฉวีวรรณ คงแก้ว นักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. เป็นนักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยงในโครงการเจเอสทีพี