ในเที่ยวบินล่าสุดของ “เอนเดฟเวอร์” นอกจากเป็นสุดท้ายก่อนปลดระวางแล้ว ยังเป็นเที่ยวบินที่ไทยได้มีส่วนร่วมกับโครงการอวกาศด้วย โดยเที่ยวบินดังกล่าวได้ขนเมล็ด “พริกขี้หนู” ของไทยที่ขึ้นไปโคจรรอบโลกอยู่นานกว่า 4 เดือนกลับลงมา และตอนนี้ต้องการคนนำไปปลูก โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนมัธยมขอรับเมล็ดพันธุ์ไปทดลองได้ฟรี
เมล็ดพันธุ์พริกขี้หนูของไทยได้ขึ้นไปโคจรรอบโลกหลังจากถูกลำเลียงขึ้นไปพร้อมกับจรวดเอชทีวี2 (HTV2) จรวดขนส่งสัมภาระขององค์การอวกาศญี่ปุ่น (แจกซา) ซึ่งถูกยิงจากฐานปล่อยจรวดทาเนกาชิมะ (Tanegashima) ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น ตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค.54 และเมล็ดพันธุ์ดังกล่าวได้เดินทางกลับสู่พื้นโลกพร้อมกับกระสวยอวกาศเอนเดฟเวอร์ (Endeavour) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา
สำหรับหน่วยงานที่ดูแลการส่งเมล็ดพริกขี้หนูไปอวกาศคือสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้รับแจ้งจาก ดร.สวัสดิ์ ตันติพันธุ์วดี ผู้ดูแลโครงการเมล็ดพันธุ์ไปอวกาศจาก สวทช.ว่า ขณะนี้เมล็ดพริกขี้หนูซึ่งถูกส่งขึ้นไปโคจรรอบโลกนานกว่า 4 เดือนนี้ ได้ถูกขนส่งจากรัฐฟลอริดา สหรัฐฯ ซึ่งเป็นสถานที่ลงจอดของเอนเดฟเวอร์ ไปยังญี่ปุ่นแล้ว และกำลังประสานงานให้ส่งกลับมายังไทย
ดร.สวัสดิ์กล่าวว่า ต้องการแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์พริกขี้หนูที่ขึ้นไปโคจรในอวกาศนี้แก่นักเรียนมัธยม เพื่อนำไปทดลองปลูกเปรียบเทียบกับเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ได้ส่งขึ้นไปอวกาศ ซึ่งนักเรียนผู้สนใจต้องส่งข้อเสนอทำโครงงานวิทยาศาสตร์และพร้อมอธิบายแผนการทดลองมายังโครงการแจกซา ฝ่ายบริหารค่ายวิทยาศาสตร์ สวทช.
ส่วนการกระจายเมล็ดพันธุ์นั้นขึ้นอยู่จำนวนโครงการที่สมัคร โดยจะแบ่งจำนวนเมล็ดพันธุ์ในปริมาณเท่าๆ กัน ทั้งนี้ คาดว่าจะแจกเมล็ดพันธุ์ได้โครงการละ 10 เมล็ดพันธุ์ และนักเรียนที่รับเมล็ดพันธุ์ไปทดลองจะมีเวลาดำเนินการทั้งหมด 6 เดือน จากนั้นต้องเขียนรายงานสรุปผลการทดลองให้แก่ สวทช.
“เราอยากแจกเมล็ดพันธุ์จากอวกาศให้เด็กได้ทดลองปลูกเปรียบเทียบกับเมล็ดพันธุ์ทั่วไป แต่ถ้าแจกไปเฉยๆ อาจมีคนนำไปขายหรือไม่นำไปทดลองจริง จึงให้เสนอเป็นโครงงานวิทยาศาสตร์เข้ามา ทั้งนี้ หากนักเรียนรับเมล็ดพันธุ์ไปแล้วไม่นำไปทดลองเราก็จะขึ้นบัญชีโรงเรียนต้นสังกัดหรืออาจจะแจ้งเตือน แต่ไม่มีบทลงโทษอะไร” ดร.สวัสดิ์กล่าว
ทั้งนี้ ดร.สวัสดิ์เผยว่าได้รับแจ้งจากทางแจกซาอย่างกะทันหันเมื่อเดือน พ.ย.53 ว่าจรวดขนส่งสัมภาระไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ของญี่ปุ่นยังมีพื้นที่ว่างให้ขนส่งสัมภาระขึ้นไปได้เพิ่มเติม จึงอยากให้ไทยเสนอโครงการวิทยาศาสตร์เข้าร่วม เขาจึงเสนอให้เปิดโอกาสในการร่วมโครงการแก่ประเทศต่างๆ ในอาเซียนด้วย ซึ่งที่สุดมี 4 ประเทศที่ร่วมส่งเมล็ดพันธุ์ขึ้นไปอวกาศ คือ เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซียและไทย โดยทราบว่าทางอินโดนีเซียส่งเมล็ดพันธุ์กล้วยไม้ขึ้นไป
“ตอนนั้นค่อนข้างกะทันหัน เพราะเขาแจ้งมาช่วงเดือน พ.ย.และส่งจรวดในเดือน ม.ค.ซึ่งการทำโครงการอวกาศนั้นต้องใช้เวลาในทำเรื่องผ่านขั้นตอนของแจกซา สำหรับเมล็ดพันธุ์พริกนั้น ผมไปซื้อจากตลาดรังสิต ใจจริงอยากส่งเมล็ดข้าวขึ้นไป แต่ไทยมีกฎหมายห้ามส่งเมล็ดพันธุ์ข้าวออกนอกประเทศ และญี่ปุ่นก็มีกฎหมายห้ามนำเมล็ดพันธุ์เข้าประเทศ อยากจะส่งเม็ดทุเรียนแต่ก็หนักไป จึงเลือกอะไรที่ง่ายๆ และไม่ผิดกฎหมาย ตอนนี้รู้วิธีส่งแล้ว ในอนาคตอาจจะขออนุญาตเป็นกรณีพิเศษเพื่อส่งเมล็ดพันธุ์ข้าวออกไป” ดร.สวัสดิ์กล่าว
สำหรับเหตุผลที่ญี่ปุ่นให้ไทยส่งสัมภาระขึ้นไปพร้อมจรวดขนส่งสัมภาระนั้น เนื่องจากน้ำหนักของสัมภาระไม่ครบตามกำหนดที่ตั้งไว้ ซึ่ง ดร.สวัสดิ์อธิบายว่า การส่งจรวดต้องเป็นไปตามน้ำหนักที่ตั้งไว้ จะส่งสัมภาระด้วยน้ำหนักที่น้อยกว่าหรือมากกว่าไม่ได้ โดยครั้งนี้ไทยได้สิทธิในการส่งสัมภาระไม่เกิน 100 กรัมเช่นเดียวกับ 3 ปรเทศที่เหลือ ซึ่งเป็นน้ำหนักที่รวมทั้งเมล็ดพันธุ์และบรรจุภัณฑ์ โดยแจกซาได้ส่งถุงพลาสติกเฉพาะสำหรับบรรจุเมล็ดพันธุ์ ซึ่งสามารถกักเก็บก๊าซไว้ได้ เนื่องจากหากมีก๊าซออกไปปนอากาศในสถานีอวกาศ จะทำให้มนุษย์อวกาศเสียชีวิตได้
นักเรียนมัธยมที่สนใจรับเมล็ดพันธุ์พริกจากอวกาศไปทดลองปลูก สามารถรวมกลุ่มกันเสนอโครงการวิทยาศาสตร์ไม่เกินกลุ่มละ 4 คน และมีอาจารย์ที่ปรึกษาไม่เกิน 1 คน แล้วดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ http://www.nstda.or.th/jaxa-thailand/result.phpแล้ว ส่งใบสมัครกลับไปที่
โครงการ JAXA ฝ่ายบริหารค่ายวิทยาศาสตร์
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 111 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120
หรือ e-mail : pawee@nstda.or.th โทรสาร 02 529 7147 ภายในวันที่ 30 มิ.ย.54 เท่านั้น
* ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่โทรศัพท์ 02 564 7000 ต่อ 77213, 77209