xs
xsm
sm
md
lg

จุฬาฯ เสนอเพาะขยายพันธุ์ปะการังแบบอาศัยเพศ รอดมากกว่าปล่อยตามธรรมชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การเสวนา “ฟื้นฟูปะการังไทยภายใต้วิกฤติสภาวะแวดล้อมโลก” โดย รศ.ดร. เจริญ นิติธรรมยง หัวหน้าภาควิชาฯ, รศ.ดร. สุชนา ชวนิชย์ และ  ผศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล
นักวิชาการจุฬาฯ เก็บตัวอย่างและทดลองเพาะขยายพันธุ์ปะการังด้วยวิธีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศสำเร็จเป็นคณะแรกของประเทศ พร้อมเสนอวิธีเพาะขยายพันธุ์ปะการัง โดยวิธีดังกล่าวเป็นทางเลือกในการฟื้นฟูแนวปะการัง ระบุมีอัตราการรอดถึง 50% มากกว่าการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติที่รอดเพียง 0.1%

รศ.ดร.เจริญ นิติธรรมยง หัวหน้าภาควิชาวิทยาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวที่เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2553 มีรายงานการพบที่บริเวณทะเลอันดามัน ตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่แล้ว จากนั้นจึงมาปรากฎในอ่าวไทย ในพื้นที่อ่าวสัตหีบ ประมาณกลางเดือน พ.ค.53 ประมาณ 10% หลังจากนั้นประมาณ 2 สัปดาห์ การฟอกขาวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน 50 – 60%

ทั้งนี้ในเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว มีการประชุมวิชาการนานาชาติเกี่ยวกับปะการังในพื้นที่เอเซียแปซิฟิก และการประชุมวิทยาศาสตร์ทางทะเล 2553 ที่ภูเก็ต เป็นโอกาสดีที่นักวิจัยและนักวิชาการทั้งจากหน่วยงานเอกชน รัฐ และสถาบันการศึกษา ให้ความสนใจ มีการจัดกลุ่มประชุมย่อยเรื่องปะการังฟอกขาว พร้อมจัดตั้งคณะกรรมการ เพื่อหาทางรับมือกับปัญหาดังกล่าว โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นเจ้าภาพ ผลของความร่วมมือติดตามปะการังในแต่ละพื้นที่ที่แต่ละหน่วยงานเกี่ยวข้องมีการนำมาหารือในที่ประชุม และเสนอเป็นแนวทางแก้ไขให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาประมาณเดือน ต.ค.ปีที่ผ่านมา แต่เพิ่งจะมาเป็นข่าวใหญ่เมื่อไม่นานมานี้

“สังคมและประเทศเราจะอยู่รอดได้จากความร่วมมือของทุกฝ่าย ในฐานะที่ภาควิชาเป็นหน่วยงานการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล และมีผู้เชี่ยวชาญซึ่งดำเนินการเกี่ยวกับเทคนิคการฟื้นฟูปะการัง ที่อาศัยการสืบพันธุ์ของปะการังแบบอาศัยเพศมาตั้งแต่แรก จึงคิดว่าน่าจะนำวิธีการนี้เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยฟื้นฟูอีกวิธีการหนึ่ง เพื่อใช้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการแก้ไขปัญหา" รศ.ดร.เจริญ กล่าว

ทั้งนี้ รศ.ดร.เจริญ บอกว่า ในพื้นที่ที่ศึกษาปัจจุบัน ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล ได้เข้าร่วมกิจกรรมกับสังคมและชุมชนมาโดยตลอดและครอบคลุมทุกๆ ด้านที่มีผู้เชี่ยวชาญในสาขา ซึ่งภาควิชาฯ ถือเป็นสถาบันเดียวที่มีนักวิชาการครบทุกสาขาทั้งด้านชีววิทยาทางทะเล สมุทรศาสตร์เคมี และสมุทรศาสตร์ฟิสิกส์

"ไม่ใช่เฉพาะกรณีปะการังเท่านั้น กรณีปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การกัดเซาะชายฝั่ง หรือกิจกรรมพลังงาน จะเห็นว่ามีอาจารย์ของภาควิชาฯ หลายๆ ท่านที่มีบทบาทในความร่วมมือทางวิชาการกับภายนอก ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ สำหรับนิสิตเอง ก็มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมพิทักษ์ทะเล ซึ่งเป็นการจัดค่ายวิทยาศาสตร์ทางทะเลให้กับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่สนใจเกี่ยวกับทะเลเป็นประจำและต่อเนื่องกันมากว่า 30 ปีแล้ว” รศ.ดร.เจริญ กล่าว

ทางด้าน ผศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล จุฬาฯ กล่าวถึง โครงการ “การเพาะขยายพันธุ์ปะการังด้วยการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ เพื่อการฟื้นฟูแนวปะการัง” ว่า ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2547 โดยเป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือระหว่าง โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) และ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ (นสร.) กองทัพเรือ กับ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ ได้ทำการเก็บเซลล์สืบพันธุ์ปะการังจากแนวปะการังในพื้นที่อ่าวสัตหีบ จังหวัดชลบุรี มาทำการเพาะฟักในระบบเพาะฟักบนเกาะแสมสาร จังหวัดชลบุรี ในพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย ซึ่งบริหารจัดการโดยกองทัพเรือ และประสบความสำเร็จในวิธีการเพาะขยายพันธุ์ปะการังด้วยวิธีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศเป็นคณะแรกของประเทศ

“การดำเนินงานของโครงการ เริ่มจากการศึกษาความหลากหลายและการกระจายของปะการังในพื้นที่ศึกษา ศึกษาความสมบูรณ์และการใช้ประโยชน์ของแนวปะการังจากสิ่งมีชีวิตต่างๆ แล้วจึงศึกษาชนิดและการลงเกาะของตัวอ่อนปะการังในพื้นที่ รวมถึง กระแสน้ำกับการพัดพาตัวอ่อนปะการัง"

"พยายามใช้เวลาในการสร้างฐานความรู้เดิมให้มั่นคงก่อนที่จะสร้างองค์ความรู้ใหม่ในพื้นที่ในช่วง 2 – 3 ปีแรก (พ.ศ. 2546 – 2548) จากนั้น จึงเริ่มเก็บเซลล์สืบพันธุ์ปะการังเป็นครั้งแรกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม พ.ศ. 2548 หลังจากติดตามพัฒนาการของเซลล์สืบพันธุ์ในปะการังธรรมชาติเป็นระยะๆ ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา"

"ด้วยปัญหาด้านเทคนิคหลายประการ การเก็บเซลล์สืบพันธุ์ในปีแรกจึงไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากช่วงเวลาที่ปะการังปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ มีคลื่นลมค่อนข้างแรง ไม่สามารถติดตามการปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ได้ จึงต้องรอคอยในฤดูกาลต่อไป ซึ่งหมายถึงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา โดยเริ่มจากติดตามพัฒนาการในการสร้างเซลล์สืบพันธุ์ตั้งแต่เดือนตุลาคม และเก็บเซลล์สืบพันธุ์ขณะที่ปะการังปล่อยตามธรรมชาติมาทำการปฏิสนธิในระบบเพาะฟักในช่วงปลายเดือนมกราคม – ต้นเดือนมีนาคม ของทุกปีเช่นกัน” ผศ.ดร.วรณพเล่าถึงขั้นตอนการทำงานที่ผ่านมา

"ในฐานะของนักวิทยาศาสตร์และอาจารย์ จึงพยายามหาโอกาสศึกษาและเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องในเชิงการวิจัย ขณะเดียวกันการพัฒนาวิธีการเพาะขยายพันธุ์ปะการังเป็นงานที่ดำเนินการประจำทุกปี บางโครงการได้สิ้นสุดลงแล้ว เช่น ศึกษาวัสดุที่เหมาะสมในการใช้เป็นพื้นผิวเพื่อการลงเกาะ พัฒนาการและระยะเวลาพัฒนาการของเซลล์สืบพันธุ์หรือตัวอ่อนปะการังระยะต่างๆ อัตราการปฏิสนธิและอัตราการลงเกาะของตัวอ่อนปะการัง อัตรารอดและการเติบโตของปะการังระยะต่างๆ เป็นต้น"

"สำหรับงานวิจัยอื่นๆ ที่ดำเนินการเป็นระยะ เช่น ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อตัวอ่อนหรือการลงเกาะของตัวอ่อนปะการัง ทั้งทางกายภาพ เช่น แสง อุณหภูมิ และความเค็ม หรือทางชีวภาพ เช่น อาหารธรรมชาติ หรืออื่นๆ เป็นต้น ปัจจุบัน ได้อาจารย์ด้านสมุทรศาสตร์เคมีและสมุทรศาสตร์ฟิสิกส์มาเสริมทัพ และอยู่ระหว่างการศึกษาปัจจัยเรื่องสารอาหารในธรรมชาติ กระแสน้ำกับวิถีดวงจันทร์ และอื่นๆ"

“ในส่วนของความสำเร็จในเรื่องเทคนิคและวิธีการของเพาะขยายพันธ์ปะการังนั้น ทีมวิจัยถือว่าตั้งแต่ปีที่ 2 (พ.ศ. 2549) ได้ประสบความสำเร็จในการเก็บเซลล์สืบพันธุ์ และทำการเพาะขยายพันธุ์จนถึงระยะการลงเกาะได้ในอัตราการลงเกาะที่สูงกว่า 50% แต่ล้มเหลวในการอนุบาลต่อในธรรมชาติ เนื่องจากในทะเลอ่าวสัตหีบมีตะกอนแขวนลอยและผู้ล่าค่อนข้างมาก"

"ในปีที่ 3 (พ.ศ.2550) ได้ปรับปรุงวิธีการเพาะขยายพันธุ์ ทำให้อัตราการปฏิสนธิและการลงเกาะสูงขึ้น และปรับเปลี่ยนวิธีการอนุบาลทำให้ได้ปะการังจากการเพาะฟักที่มีอายุถึง 1 ปี เป็นครั้งแรก อีกประการหนึ่งที่นับว่าเป็นความสำเร็จก็คือ ภายใต้โครงการนี้ ได้ผลิตบัณฑิตและมหาบัณฑิต ที่เชื่อว่า เป็นมือหนึ่งในด้านนี้ เข้าสู่สังคมหลายคน” ผศ.ดร.วรณพกล่าว

จากนั้น รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล จุฬาฯ ก็ยังได้กล่าวถึงขั้นตอนของการผสมพันธุ์ปะการังว่า โดยปกติปะการังส่วนใหญ่จะมีการผสมพันธุ์แบบอาศัยเพศปีละครั้ง โดยปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ออกมาผสมกันในมวลน้ำ

คณะผู้วิจัยจึงริเริ่มเพาะขยายพันธุ์ปะการัง โดยเก็บเซลล์สืบพันธุ์ (ไข่และสเปิร์ม) ที่ถูกปล่อยตามธรรมชาติมาทำการปฏิสนธิในโรงเพาะฟักปะการัง ไข่ที่ได้รับการปฎิสนธิจะพัฒนาเป็นตัวอ่อนระยะว่ายน้ำ และหลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ ตัวอ่อนเหล่านั้นจะทำการลงเกาะบนวัสดุที่เตรียมไว้และเติบโตเป็นปะการังที่สมบูรณ์ต่อไป ตัวอ่อนปะการังที่เพาะขยายพันธุ์ได้จะทำการอนุบาลในโรงเพาะฟักอย่างน้อย 1 – 2 ปี ก่อนที่จะนำกลับสู่ทะเล

“ วิธีการนี้นอกจากจะช่วยทำให้อัตรารอดของตัวอ่อนปะการังสูงขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับอัตรารอดในธรรมชาติแล้ว ยังเป็นการเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรมให้กับปะการังด้วย ความหลากหลายทางพันธุกรรมช่วยให้ปะการังที่ได้มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงสูง ซึ่งวิธีการนี้ สามารถนำมาใช้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการฟื้นฟูปะการังที่เสียหายได้"

"ปัจจุบัน ปะการังที่เพาะขยายพันธุ์ได้ด้วยวิธีนี้มีมากกว่า 10 ชนิด ซึ่งเป็นทั้งปะการังกิ่งและปะการังก้อน ปะการังที่ได้จากการเพาะขยายพันธุ์เมื่อต้นปี พ.ศ. 2553 นับเป็นปีที่ 5 ตั้งแต่ประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกในการเก็บเซลล์สืบพันธุ์มาเพาะฟักเมื่อต้นปี พ.ศ. 2549"

"เมื่อเปรียบเทียบอัตราการรอดของปะการังในธรรมชาติกับวิธีการนี้ พบว่าอัตรารอดของปะการังในธรรมชาติค่อนข้างต่ำมาก คาดว่าอยู่ที่ประมาณ ไม่เกินร้อยละ 0.01 ขณะที่วิธีการเพาะขยายพันธุ์ปะการังด้วยวิธีนี้ มีอัตราการปฏิสนธิมากว่าร้อยละ 95 อัตราการลงเกาะร้อยละ 50-75 และอัตรารอดภายหลังการเลี้ยงเป็นเวลา 6 เดือนร้อยละ 40-50"

"หากจะใช้วิธีการดังกล่าวในการฟื้นฟูแนวปะการังทางทีมวิจัย ต้องทราบสถานภาพของแนวปะการังในพื้นที่นั้นๆ รวมถึงช่วงเวลาการปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ตามธรรมชาติของปะการังในพื้นที่ เพื่อประเมินความเป็นไปได้ในการใช้ตัวอ่อนปะการังและโอกาสฟื้นฟูปะการังในพื้นที่” รศ.ดร.สุชนากล่าว

รศ.ดร.สุชนา ทิ้งท้ายว่า เป็นที่น่าดีใจที่เห็นเยาวชนและคนทั่วไปเริ่มให้ความสนใจและเข้าใจในคุณค่าและประโยชน์ของปะการังและแนวปะการัง ที่สำคัญอยากให้ทุกคนหันมาใส่ใจและให้ความสำคัญกับระบบนิเวศรวมทั้งสภาพแวดล้อมมากกว่าที่เป็นอยู่ ปัจจุบันคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติแต่จะทำอย่างไรจึงจะใช้ประโยชน์ได้อย่างมีคุณค่ามากที่สุด พร้อมกับการอนุรักษ์เพื่อลูกหลานต่อไปในอนาคตด้วย



ปะการังที่ได้จากการเพาะขยายพันธุ์ด้วยวิธีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศในระบบเพาะฟัก

กำลังโหลดความคิดเห็น