อยากจะหวดวงสวิงให้เหมือนโปร แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเหวี่ยงแขน วางขาอย่างไรให้เหมือนมืออาชีพ “แล็บวิทยาศาสตร์กอล์ฟ” ของกรมพลศึกษาช่วยคุณได้ ด้วยเทคโนโลยีถ่ายภาพที่มีความเร็ววินาทีละ 100 ภาพ ช่วยให้เราวิเคราะห์ข้อบกพร่องได้อย่างตรงจุด และยังได้ “โปรเชาวรัตน์” มาเป็นโค้ชให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
ใครที่สนใจอยากจะพัฒนาฝีมือพัตต์ลูกกอล์ฟลองไปใช้บริการ “ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์การกีฬากอล์ฟ” ที่กรมพลศึกษาเปิดให้คนทั่วไปใช้บริการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ห้องปฏิบัติการดังกล่าวตั้งอยู่ ณ สำนักวิทยาศาสตร์การกีฬา อาคารนิมิบุตร สนามกีฬาแห่งชาติ ภายในได้ติดตั้งอุปกรณ์วิทยาศาสตร์การกีฬา เพื่อศึกษาการเคลื่อนไหวร่างกายที่ถูกต้องขณะตีกอล์ฟ และเป็นการให้ข้อมูลย้อนกลับ (Biofeedback) แก่ผู้รับการทดสอบ รวมถึงศึกษาการทรงตัวขณะตีลูกกอล์ฟเพื่อนำไปปรับปรุงการตีกอล์ฟให้ถูกต้อง
อุปกรณ์สำคัญภายในห้องปฏิบัติการคือกล้องความเร็วสูง 100 เฮิร์ตซ์ ที่บันทึกภาพได้วินาทีละ 100 ภาพ จำนวน 2 ตัว ซึ่งช่วยในการวิเคราะห์ท่าทางการตีลูกกอล์ฟของผู้ทดสอบ ตั้งแต่ลักษณะการเคลื่อนไหวแต่ละส่วนของร่างกาย ทั้งช่วงแขน ช่วงขา ช่วงตัว ความเร็วในการเคลื่อนไหวร่างกาย องศาในการเหวี่ยงไม้กอล์ฟ ไปจนถึงจังหวะกระทบระหว่างหัวไม้และลูกกอล์ฟ ภาพที่บันทึกได้จะนำไปวิเคราะห์ด้วยโปรแกรมวี-วัน (V-One) เพื่อเปรียบเทียบท่าทางการตีกอล์ฟของผู้ทดสอบกับท่าทางการที่ถูกต้องจากโปรกอล์ฟผู้เป็นต้นแบบ
“บางคนออกแรงเยอะมากในตอนท้าย ซึ่งเป็นลักษณะการตีที่ไม่ถูกต้อง แต่เราไม่รู้ หากมีภาพจากกล้องความเร็วสูง จะช่วยวิเคราะห์ได้ว่าเราทำไม่ถูกต้องตรงจุดไหนบ้าง เพราะถ้าไม่ทราบจุดผิดพลาดที่แน่ชัดเราจะแก้ไขท่าทางได้ลำบาก” ดร.สุวัตร สิทธิหล่อ อธิบดีกรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวระหว่างนำชมห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์การกีฬากอล์ฟ
อีกอุปกรณ์ของห้องปฏิบัติการคือแผ่นวัดการทรงตัวที่ให้ข้อมูลการลงน้ำหนักเท้า ซึ่งแสดงเป็นเฉดสีตามความแรงในการลงน้ำหนัก โดยสีแดงแสดงถึงการลงน้ำหนักเท้ามาก ส่วนสีน้ำเงินแสดงถึงแรงกดน้อย ซึ่งการเรียนรู้การถ่ายน้ำหนักลงเท้านั้นช่วยแก้ไขความผิดพลาดในการหวดวงสวิงได้ และข้อมูลการลงน้ำหนักเท้านี้ช่วยบอกลักษณะความโค้งของอุ้งเท้าได้ ซึ่งมีผลต่อแนวโน้มของอาการบาดเจ็บระหว่างเล่นกอล์ฟ
“คนเรามีลักษณะอุ้งเท้า 3 แบบ คือ อุ้งเท้าแบน อุ้งเท้าปกติ และอุ้งเท้าโค้งสูง ซึ่งมีผลต่อการยืน การยันและการรับน้ำหนัก เช่น อุ้งเท้าแบนมีโอกาสบาดเจ็บได้ง่าย เนื่องจากเอ็นยืดอยู่ตลอด เป็นต้น” ดร.สุวัตรอธิบาย และยังเผยอีกว่า ในอนาคตทางห้องปฏิบัติการจะติดตั้งกล้องอินฟราเรดอีก 6 ตัวเพื่อวิเคราะห์การเคลื่อนไหวแบบ 3 มิติ ซึ่งจะช่วยให้เห็นลักษณะการเคลื่อนไหวของส่วนต่างๆ ที่ชัดเจนขึ้น
สำหรับความสำคัญของวิทยาศาสตร์การกีฬา ดร.สุวัตรได้ยกตัวอย่างด้านโภชนาการ โดยเล่าประสบการณ์เมื่อครั้งเป็นนักเทนนิสว่า เขากินข้าวผัดกะเพรารสชาติเผ็ดร้อนก่อนลงแข่งขัน และระหว่างเกมมีอาการปวดท้องจนแข่งขันต่อไม่ได้ จึงต้องยอมแพ้ หรือการเตรียมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อก็เป็นสิ่งสำคัญ อย่างการเล่นกอล์ฟต้องตีถึง 18 หลุม ใช้เวลาการแข่งขัน 4-5 ชั่วโมง ทำให้เกิดความล้าของกล้ามเนื้อได้ เช่น นักกอล์ฟบางคนโชว์ฟอร์มดีในช่วงวันแรก แต่วันท้ายๆ ทำคะแนนตกอันดับลงไปเรื่อยๆ สาเหตุหนึ่งเนื่องจากความอ่อนล้าของกล้ามเนื้อ
การเปิดให้บริการห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์การกีฬากอล์ฟนี้ นายชลิต เขียวพุ่มพวง ผู้อำนวยการสำนักวิทยาศาสตร์การกีฬา กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา บอกว่ากอล์ฟเป็นกีฬาที่ต่างไปจากกีฬาอื่น เป็นกีฬาที่ไม่ต้องปะทะ แต่ต้องสร้างสมรรถนะของร่างกายให้แข็งแรง เพื่อรองรับการแข่งขันที่ยาวนาน สำหรับกีฬากอล์ฟนี้ผู้เล่นส่วนใหญ่จะคิดว่าการตีแรงๆ จะทำให้ลูกไปได้ไกล แต่ไม่ใช่อย่างนั้น บางครั้งการตีแรงๆ ไม่ได้ทำให้ลูกไปได้ไกล แต่ยังทำให้เกิดอาการบาดเจ็บอีกด้วย
“ทางสำนักวิทยาศาสตร์การกีฬาจึงนำเครื่องมือมาช่วยบอกว่า วงสวิงของท่านถูกต้องหรือไม่ ช่วยเป็นกระจกเงาส่องด้วยว่าวงสวิงของท่านเป็นอย่างไร ปรับแก้วงสวิงของท่านให้ถูกต้อง โดยมี โปรกอล์ฟเชาวรัตน์ เขมรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกอล์ฟมาช่วยชี้แนะ ซึ่งเราให้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย โครงการนี้เป็นการต่อยอดงานวิจัยของอธิบดี (ดร.สุวัตร) ซึ่งทำไว้ตั้งแต่ปี 2550 เรื่องการวิเคราะห์วงสวิง” ผอ.สำนักวิทยาศาสตร์การกีฬากล่าว
ด้านโปรกอล์ฟเชาวรัตน์กล่าวว่า กีฬากอล์ฟนั้นเป็นวิทยาศาสตร์ เพราะการเคลื่อนไหวทุกอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ สำหรับนักกอล์ฟมือใหม่เขาจะสอนในเรื่องพื้นฐานก่อน ส่วนคนที่เล่นเป็นแล้วเขาจะสอนให้ดูภาพรวมของกอล์ฟ แล้วให้เปรียบเทียบท่าทางกับโปรกอล์ฟที่เชี่ยวชาญ
“เมื่อก่อนบอกแก้ท่าทางกันปากเปล่าทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อน แต่ตอนนี้มีกล้องความเร็วสูงที่จะบันทึกให้เห็นภาพได้ชัดเจน ซึ่งหลังจากหวดวงสวิงได้เป็นมาตรฐานแล้ว ขั้นต่อไปของการเล่นกอล์ฟเป็นเรื่องของความคิด โภชนาการและแรงใจ ซึ่งต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญอีกขั้นหนึ่งมาดูแล” โปรเชาวรัตน์กล่าว
แม้ว่าวิทยาศาสตร์จะมีบทบาทสำคัญต่อกีฬากอล์ฟ แต่ ผศ.ดร.นพ.ภาสกร วัธนธาดา ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวกลศาสตร์การกีฬา จากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่านักวิทยาศาสตร์ไม่มีบทบาทแทนที่โค้ชได้ แต่มีหน้าที่บอก “ข้อเท็จจริง” ว่าสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์เจอนั้นคืออะไร และมีบทบาทต่อกอล์ฟมากขึ้นในการเล่นระดับสูง ที่นักกอล์ฟเก่งแล้ว และต้องการปรับรายละเอียดเพียงเล็กน้อย ซึ่งสายตามนุษย์ไม่สามารถแยกแยะได้ แต่เทคโนโลยีถ่ายภาพความเร็วสูงจะช่วยเหลือตรงจุดนี้ได้
ผู้สนใจใช้บริการห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์การกีฬากอล์ฟ ติดต่อเข้าใช้บริการได้ตั้งแต่ 1 มิ.ย.-15 ส.ค.54ทุกวันอังคารและวันพฤหัสบดี เวลา 13.30-18.30 น. โดยมีระยะเวลาใช้บริการคนละ 30 นาที ติดต่อสอบถามรายละเอียดและนัดใช้บริการล่วงหน้าได้ที่ กลุ่มวิจัยและพัฒนา สำนักวิทยาศาสตร์การกีฬา กรมพลศึกษา โทร.0-2219-2672 และ 08-1373-6283
สำหรับข้อมูลและข้อเสนอแนะจากการเปิดให้ครั้งนี้ ทางกลุ่มวิจัยและพัฒนาของสำนักวิทยาศาสตร์การกีฬาจะนำไปประเมินผลเพื่อปรับปรุงสำหรับให้บริการในปีงบประมาณหน้า โดยครั้งนี้เปิดให้บริการจำกัดวันเนื่องจากเพิ่งเปิดให้บริการแก่สาธาระเป็นครั้งแรกจึงต้องการทราบกระแสตอบรับและสิ่งที่ผู้รับบริการอยากให้ปรับปรุงแก้ไข ดังนั้น การให้บริการครั้งนี้จึงอาจยังขลุกขลักอยู่บ้าง