สนช.หนุนเอกชนพัฒนาระบบสืบค้นงานอีเวนท์แห่งแรกในไทย ต่อยอดงานวิจัยจากเนคเทค ค้นหาข้อมูลกิจกรรมต่างๆ ทั้งงานเปิดตัวสินค้า งานคอนเสิร์ต กิจกรรมพบปะดารา ผ่านเว็บไซต์ www.eventpro.in.th ค้นหาได้ด้วยภาษาพูด และสืบค้นต่อได้แม้สะกดคำค้นหาผิด ดาวน์โหลดลงไอโฟนและบีบีได้ ตั้งเป้าขยายให้มีฐานข้อมูล 1,000 กิจกรรมต่อวัน
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ได้มอบเงินสนับสนุนให้กับโครงการ ”อีเวนท์โปร 3.0” (Eventpro 3.0) ระบบสืบค้นอัจฉริยะ ของ บริษัท โวเน่ จำกัด เพื่อพัฒนาระบบการสืบค้นข้อมูล ค้นหากิจกรรมได้อย่างสะดวกรวดเร็วผ่านเว็บไซต์ ตลอดจนสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชันลงสมาร์ทโฟนอย่างไอโฟน (iPhone) และแบล็คเบอร์รีหรือบีบี (BB)ได้อีกด้วย
นายวิลาส ฉ่ำเลิศวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โวเน่ จำกัด และเจ้าของโครงการ “Eventpro 3.0” ระบบสืบค้นอัจฉริยะ กล่าวว่า พัฒนาระบบดังกล่าวขึ้น เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีระบบประชาสัมพันธ์กิจกรรมหรืองานอีเวนท์ที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังไม่มีระบบการสืบค้นข้อมูลเชิงลึกที่ต้องการ จึงได้พัฒนาซอฟแวร์เพื่อการสืบค้นข้อมูลงานต่างๆ ที่มีเวลา กับสถานที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น งานเปิดตัวสินค้า งานคอนเสิร์ต หรือ กิจกรรมสังสรรค์ระหว่างดาราและแฟนคลับ หรืองานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ โดยนำเสนอผ่านทางเว็บไซต์ http://www.eventpro.in.th/ เพื่อสร้างฐานข้อมูลกิจกรรมที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งเกิดขึ้นเป็นแห่งแรกในไทย
นายวิลาส บอกว่า ระบบดังกล่าวเป็นการนำระบบสืบค้นเชิงลึกของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) มาพัฒนาต่อให้สามารถสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมต่างๆ ได้ คล้ายกับระบบสืบค้นทั่วไป ซึ่งสืบค้นได้ด้วยการระบุชื่องาน คำที่เกี่ยวข้อง สามารถเลือกวันที่ หรือสถานที่ของการจัดงานนั้นๆ ได้
สำหรับจุดเด่นของระบบสืบค้นดังกล่าวนั้น นายวิลาสเผยว่า สามารถสืบค้นโดยใช้ข้อความเป็นภาษาธรรมชาติ เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถสืบค้นได้อย่างง่ายมากขึ้น โดยจะมีระบบรองรับการสืบค้นข้อความในรูปแบบภาษาธรรมชาติแทนการใช้คำสำคัญ ซึ่งผู้ใช้งานสามารถพิมพ์ข้อความในรูปแบบเดียวกับการสอบถามจากเจ้าหน้าที่บริการสอบถามข้อมูลได้
"ยกตัวอย่าง “พรุ่งนี้มีงานอะไร” หรือ “หยุดนี้มีงานคอมพิวเตอร์ที่ไหน” เป็นต้น ผลลัพธ์จากการสืบค้นก็จะตรงใจต่อผู้ใช้บริการ ได้ผลตามต้องการ ” นายวิลาส ยกตัวอย่างการใช้ภาษาธรรมชาติและการสืบค้นข้อมูล
นอกจากนี้ ระบบดังกล่าวยังสามารถแก้ไขและแนะนำคำสืบค้นคืนที่สะกดใกล้เคียงเกี่ยวกับงานอีเวนท์ที่ต้องการสอบถามได้อีกด้วย แม้จะสะกดคำผิดระหว่างการป้อนข้อมูลขณะสืบค้น แต่ระบบจะสามารถแนะนำคำที่ถูกต้องสำหรับการค้นหาได้ อาทิ “moter expo” แม้จะสะกดเป็น “moter exop” ระบบก็สามารถสืบค้นได้ หรือจะเป็น “โอท้อบ” ควรจะเป็น “โอท็อป” หรือหากผู้ใช้งานพิมพ์คำค้นว่า “ฟอนิจเจอร์” เลือกเป็นช่วง “สุดสัปดาห์นี้” ระบบก็จะสามารถประมวลข้อมูลพร้อมทั้งแสดงรายการกิจกรรมหรืออีเวนท์ต่างๆ ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับ “ฟอร์นิเจอร์” ในช่วงสุดสัปดาห์ที่กำลังจะมาถึงได้ เป็นต้น
“ระบบดังกล่าวจะสืบค้นข้อมูลในเชิงลึก ผลลัพธ์ที่ได้จากการสืบค้นจะมีการคำนึงถึงเวลาและสถานที่ในการค้นหาด้วย ไม่ใช่พิจารณาแต่คำค้นอย่างเดียวเหมือนการสืบค้นที่ให้บริการอยู่ทั่วไปในท้องตลาด ซึ่งผลลัพธ์จะออกมาไม่ตรงใจสำหรับผู้ใช้บริการ” นายวิลาส กล่าว
ด้าน นายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ได้กล่าวระหว่างการเปิดตัวโครงการนี้ ซึ่งจัดขึ้น ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 24 พ.ค.54 ว่า โครงการนี้เป็นอีกตัวอย่างของความสำเร็จด้านนวัตกรรมที่พัฒนาจากฝีมือคนไทย สนช.จึงได้สนับสนุนเงินจากโครงการ “แปลงเทคโนโลยีเป็นทุน” จำนวน 3.5 แสนบาท จากงบประมาณโครงการทั้งหมด 1.5 ล้านบาท
สำหรับเว็บไซต์ของระบบอีเวนท์โปร 3.0 นี้ได้เปิดให้บริการตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้มีผู้เข้ามาใช้บริการกว่า 1,000 คน และมีข้อมูลกิจกรรมต่างๆ แล้วกว่า 4,000 กิจกรรม โดยทางผู้พัฒนาระบบตั้งเป้าว่าปลายปีจะทำให้มีฐานข้อมูลงานต่างๆ 1,000 กิจกรรมต่อวัน
“ระบบนี้ทำให้ผู้ใช้บริการสามารถวางแผนล่วงหน้าได้ สามารถทราบได้ทันทีว่าชั่วโมงนี้ วันนี้ สัปดาห์นี้ มีกิจกรรม หรือ มีงานอะไรเกิดขึ้นบ้าง นอกจากนี้ ยังช่วยลดต้นทุนการประชาสัมพันธ์กิจกรรม โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีงบการประชาสัมพันธ์งานจำกัดได้อีกด้วย ผู้สนใจเผยแพร่งานกิจกรรมของตัวเองสามารถป้อนข้อมูลงานอีเวนท์หรือกิจกรรมต่างๆ ลงในเว็บไซต์ได้ตั้งแต่วันนี้" นายวิลาสกล่าว