xs
xsm
sm
md
lg

ครั้งแรก! ภาพ “ขอบอวกาศ” จากบอลลูนไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพขอบอวกาศชุดแรกจากบอลลูนไทย ซึ่งได้จากการทดลองปล่อยบอลลูนสู่ชั้นบรรยากาศของทีมทีเอสอาร์ในครั้งที่ 3 เมื่อ 22 พ.ค.54
เป็นครั้งแรกที่บอลลูนไทยสามารถบันทึกภาพ “ขอบอวกาศ” ได้ ซึ่งเป็นความสำเร็จจากการปล่อยบอลลูนในครั้งที่ 3 โดยทีมเยาวชนเจ้าของโครงการได้ติดตั้งกล้องรอบบอลลูนถึง 7 ตัว เพื่อแก้มือจากผลการทดลองในครั้งก่อนๆ และยังได้ทดสอบระบบที่พัฒนาขึ้นเองเพื่อรองรับงานวิจัยไทยต่อไปด้วย

ในที่สุดกลุ่มทีเอสอาร์ (Thailand Near Space Research Group: TSR) ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนไทยที่รวมตัวกันเพื่อศึกษาขอบอวกาศก็สามารถบันทึกภาพขอบอวกาศได้สำเร็จ โดยพวกเขาได้รวมตัวกันเพื่อปล่อยบอลลูนสู่ชั้นบรรยากาศเป็นครั้งที่ 3 เมื่อเวลา 12.10 น.ในวันที่ 22 พ.ค.54 ณ โรงเรียนอุสาหะวิทยา จ.นครสวรรค์

ทีมทีเอสอาร์เก็บกู้บอลลูนมาได้เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. โดยบอลลูนลอยไปตกที่ไร่อ้อยใน จ.ชัยนาท และตกไกลจากจุดปล่อยประมาณ 70 กิโลเมตร ซึ่งจากการทดลองทั้ง 3 ครั้ง ครั้งนี้บอลลูนตกไกลมากที่สุด

ณัฐพงษ์ วงศ์เฟื่องฟูถาวร หัวหน้าโครงการส่งบอลลูนขึ้นสู่ขอบอวกาศครั้งที่ 3 (TSR THAI-3 High Altitude Balloon) นี้ เผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า การทดลองครั้งนี้เป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดจากการทดลองครั้งที่ก่อนๆ ซึ่งแม้จะมีระยะเวลาเตรียมงานสั้นกว่าการปล่อยบอลลูนครั้งที่ 2 ที่ปล่อยไปเมื่อ 24 เม.ย.54 แต่เพราะมีประสบการณ์และได้แก้ไขข้อผิดพลาดจากครั้งที่ผ่านมา ทำให้การทดลองครั้งนี้ผ่านไปได้ด้วยดี

ครั้งก่อนเครื่องส่งสัญญาณจีพีเอสของพวกเขามีปัญหา ไม่สามารถส่งข้อมูลจากที่ความสูงเกิน 18 กิโลเมตรกลับลงมาได้ ครั้งนี้จึงได้ติดต่อขอซอฟต์แวร์เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวจากบริษัทผู้ผลิตเครื่องส่งสัญญาณจีพีเอส แลพทำงานได้ผลดี แต่การทดลองครั้งล่าสุดไม่ได้ส่งอุปกร์ณตรวจวัดรังสีขึ้นไปด้วย เนื่องจาก พบปัญหาว่าเครื่องตรวจวัดรังสีไม่ไวต่อการตรวจจับสัญญาณมากพอและยังไม่สามารถจัดหาอุปกรณ์ที่เหมาะสมได้

การส่งบอลลูนครั้งล่าสุดนี้เน้นที่การบันทึกภาพถ่ายในชั้นบรรยากาศสูงๆ โดยทีมทีเอสอาร์ได้ติดตั้งกล้องทั้งหมด 7 ตัว เป็นกล้องวิดีโอความละเอียดสูง 2 ตัว โดยติดด้านข้างกล่องสัมภาระ 1 ตัว และด้านล่างกล่องสัมภาระ 1 ตัว กล้องบันทึกภาพนิ่ง 1 ตัว ซึ่งติดอยู่ด้านข้างกล่องสัมภาระ โดยทีมวิจัยตั้งเวลาให้บันทึกภาพทุกๆ 6 วินาที และได้ภาพประมาณ 2,000 รูป และกล้องขนาดเล็กอีก 4 ตัว ซึ่งติดตั้งด้านบนกล่องสัมภาระ 1 ตัว ด้านล่าง 1 ตัว และด้านข้างอีก 2 ตัว

การทดลองครั้งนี้เน้นถ่ายภาพเพื่อชดเชยจากโครงการที่แล้ว ซึ่งตรงนี้อาจจะไม่มีประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์นัก แต่เป็นแรงบันดาลใจให้แก่เด็กๆ ได้ และยังเป็นการทดสอบระบบจากครั้งที่แล้ว ซึ่งเราได้ใช้อุปกรณ์ใหม่หลายอย่าง ครั้งนี้จึงเป็นการทดสอบระบบที่ติดตั้งไปเมื่อครั้งก่อนอีกครั้ง ซึ่งปกติกิจกรรมลักษณะนี้ของต่างประเทศจะเป็นงานอดิเรกและซื้อระบบสำเร็จรูปมาใช้เลย แต่ระบบทีมทีเอสอาร์จะรองรับงานของนักวิจัยที่อยากใช้ระบบของเราในอนาคต”ณัฐพงษ์ กล่าว

ทั้งนี้ ระบบอิเล็กทรอนิกส์ของทีมทีเอสอาร์ที่ส่งขึ้นไปพร้อมกับบอลลูนสามารถส่งข้อมูลหลายอย่างกลับลงมาได้อย่างเรียลไทม์ (Real Time) อาทิ ข้อมูลอุณหภูมิภายในและภายนอกกล่องสัมภาระ ข้อมูลการทำงานของแบตเตอรี ข้อมูลความชื้น และข้อมูลความดัน ซึ่งที่พื้นโลกมีความดันประมาณ 1,000 มิลลิบาร์ (mbar) แต่อุปกรณ์ที่ส่งขึ้นไปวัดความดันได้ 12.9 มิลลิบาร์ ซึ่งณัฐพงษ์ บอกว่าคำนวณหาความสูงได้คร่าวๆ ประมาณ 30 กิโลเมตร และข้อมูลความดันนี้จะให้ข้อมูลความสูงที่แม่นยำกว่าเครื่องสัญญาณจีพีเอส และเขาต้องกลับไปคำนวณหาความสูงที่แน่ชัดอีกครั้ง

สำหรับสมาชิกทีมทีเอสอารที่เหลือ ได้แก่ พลกฤษณ์ สุขเฉลิม, วัลลภ ทองดอนง้าว และ จักรกฤษ เอี่ยมสวัสดิ์ โดยภาพที่ทีมทีเอสอาร์นำมาเผยแพร่เบื้องต้นนี้เป็นภาพจากกล้องวิดีโอความละเอียดสูง

ติดตามความเคลื่อนไหวและให้กำลังใจพวกเขาได้ที่ tsrlab.com
ภาพจากกล้องวิดีโอความละเอียดสูงซึ่งติดตั้งด้านข้างกล่องสัมภาระ

ภาพจากกล้องวิดีโอที่ติดตั้งด้านล่างกล่องสัมภาระ
อีกภาพจากกล้องวิดีโอที่ติดตั้งด้านล่างกล่องสัมภาระ
สถานที่ปล่อยบอลลูน ณ โรงเรียนอุสาหะวิทยา จ.นครสวรรค์
วงจรในกล่องสัมภาระและกล้องบันทึกภาพแยกกันคนละกล่อง
 ติดตามสถานะของบอลลูนแบบเรียลไทม์ได้ผ่านเว็บไซต์ tsrlab.com
กำลังโหลดความคิดเห็น