งานวิจัยแหวกแนว ที่หลายคนไม่เชื่อว่าจะเป็นจริงได้ เมื่อนักวิจัยญี่ปุ่นเปลี่ยนสารประกอบเหล็กให้กลายเป็น “ซูเปอร์คอนดักเตอร์” ด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น ที่แท้เป็นผลจากความบังเอิญระหว่างงานปาร์ตี้ของที่ทำงาน และทีมวิจัยเตรียมเสนอผลงานเรื่องนี้ ในโอกาสครบรอบ 100 ปีการค้นพบปรากฏการณ์ตัวนำยิ่งยวด
การค้นพบที่เรียกว่าเป็นช่วงเวลา “ยูเรกา” (eureka) ของทีมวิจัยจากสถาบันวัสดุศาสตร์ญี่ปุ่น (National Institute for Materials Science) คือการที่สารประกอบที่มีเหล็กเป็นองค์ประกอบหลักนั้น กลายสภาพเป็นตัวนำยิ่งยวดหรือซูเปอร์คอนดักเตอร์ได้ เมื่อจุ่มลงไปในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างเบียร์ ไวน์ และสาเก ซึ่งเอเอฟพีรายงานว่า พวกเขาค้นพบปรากฏการณ์ดังกล่าว ระหว่างงานเลี้ยงของที่ทำงานเมื่อปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เมื่อหนึ่งในทีมวิจัยได้จุ่มแผ่นสารประกอบเหล็ก Fe(Te,S) ลงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในงานปาร์ตี้ดังกล่าวเป็นเวลา 24 ชั่วโมง แล้วพบว่า สารประกอบดังกล่าว กลายสภาพเป็นตัวนำยิ่งยวดเมื่อให้ความเย็นจนอยู่ที่อุณหภูมิ -265 องศาเซลเซียส ซึ่งสภาพตัวนำยิ่งยวดนั้นเป็นการไหลของกระแสไฟฟ้าผ่านวัสดุนำไฟฟ้าโดยไม่มีการสูญเสียพลังงาน
ทีมวิจัยวางแผนที่จะนำเสนอผลงานนี้ ในการประชุมวิชาการที่ยุโรปในเดือน ก.ย.54 ณ เมืองเฮก (The Hague) ซึ่งอยู่ใกล้เมืองไลเดิน (Leiden) ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่ไฮค์ แคเมอร์ลิงฮ์ ออนเนส (Heike Kamerlingh Onnes) ผู้ค้นพบปรากฏการณ์ซูเปอร์คอนดัคเตอร์เมื่อ 100 ปีก่อน
ในบรรดาตัวเลือกทั้งหมด โยชิฮิโกะ ทากาโนะ (Yoshihiko Takano) หัวหน้าทีมวิจัยของสถาบันวัสดุศาสตร์ญี่ปุ่น กล่าวว่า ไวน์แดงเอาชนะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดอื่นได้ง่ายๆ แม้ยังไม่มีใครเข้าใจกระบวนการที่ชัดเจนว่า ไวน์แดงทำให้เกิดปรากฏการณ์ทางฟิสิกส์ อันเป็นที่ต้องการนี้ได้อย่างไร
เมื่อเทียบกับเอทานอลหรือน้ำแล้ว การจุ่มสารประกอบลงไปในไวน์แดง ทำให้สภาพการเป็นตัวนำยิ่งยวดเพิ่มขึ้นเป็น 7 เท่า ส่วนในไวน์ขาวพบอัตราส่วนการกลายสภาพเป็นตัวนำยิ่งยวดเพิ่มขึ้น 4 เท่า และในเบียร์ สาเกกับวิสกี้นั้นทำให้การกลายสภาพเป็นตัวนำยิ่งยวดเพิ่มขึ้นเพียง 3 เท่า ซึ่งโยชิฮิโกะบอกว่า ยิ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีรสชาติดีเท่าไร ยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพการเป็นตัวนำยิ่งยวดได้ดีขึ้น
เป็นไปได้ว่าอาจมีความเชื่อมโยง ระหว่างสสารที่มนุษย์สัมผัสได้และสสารที่เหนี่ยวนำให้เกิดสภาพตัวนำยิ่งยวด แต่พวกเขายังไม่ทราบว่า สสารนั้นทำงานเดี่ยวๆ หรือทำงานร่วมกับสารประกอบอื่นๆ ซึ่งพวกเขาหวังว่าสักวันหนึ่งจะค้นพบวิธีเพิ่มประสิทธิภาพการสร้างสภาพตัวนำยิ่งยวด เพื่อนำไปสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ลดการพลังงานและการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ