นักวิจัย วว. ขยายพันธุ์ “จำปีเพชร” นอกถิ่นกำเนิดสำเร็จครั้งแรกในไทย ระบุเป็นพืชหายากใกล้สูญพันธุ์ มีไม่ถึง 10 ต้นในโลก แนะปลูกบนภูเขาหรือพื้นที่สูงจะออกดอกได้เร็ว พร้อมถ่ายทอดและขยายพันธุ์ให้ผู้สนใจ นำไปปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับอีกด้วย
ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญพิเศษสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยว่าเขาได้สำรวจพบ “จำปีเพชร” ซึ่งเป็นจำปีพื้นเมืองหายาก อยู่ในบัญชีใกล้สูญพันธุ์อันดับต้นๆ และมีอยู่ในโลกไม่ถึง 10 ต้น นับเป็นการสำรวจพบครั้งแรกในประเทศไทย อีกทั้งขณะนี้ได้ประสบผลสำเร็จในการขยายพันธุ์ “จำปีเพชร” นอกถิ่นกำเนิดด้วย
“จำปีเพชร” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Magnolia mediocris (Dandy) Figlar (แมกโนเลีย เมดิโอคริส (แดนดี) ฟิกลาร์) สำรวจพบครั้งแรกในโลกที่ประเทศจีน เมื่อปี 2471 โดย ดร.ปิยะให้ข้อมูลและบอกด้วยว่า ประเทศไทยนั้นพบจำปีเพชรครั้งแรกที่ จ.เพชรบุรี ในปี 2540 แต่มีเพียง 2-3 ต้นเท่านั้น อีกทั้งยังไม่มีต้นกล้าเล็กๆ ขึ้นอยู่บริเวณใต้ต้นเลย ถือว่าเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มาก จึงได้พยายามหาทางขยายพันธุ์เพื่ออนุรักษ์ แต่ตอนนั้นยังไม่ประสบผลสำเร็จ
ทั้งนี้ การค้นพบต้นจำปีเพชรของ วว. นั้น ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยเรื่องการอนุรักษ์พรรณไม้ในวงศ์จำปีจำปาในประเทศไทย จากโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 ซึ่ง ดร.ปิยะเปิดเผยว่า ทีมงานได้สำรวจพรรณไม้ในวงศ์จำปีจำปาทั่วประเทศเรื่อยมา
จนกระทั่งต่อมาได้สำรวจพบ “จำปีเพชร” อีกครั้งหนึ่งเมื่อปี 2551 ในพื้นที่ป่าภาคตะวันออกเฉียงใต้เขต จ.จันทบุรี จำนวน 2 ต้นที่ขนาดใหญ่มาก มีเส้นผ่านศูนย์กลางที่โคนต้นถึง 2.50 เมตร สูงราว 40 เมตร แต่ก็ยังไม่พบต้นกล้าขนาดเล็กขึ้นอยู่ที่ใต้ต้นแม่พันธุ์แต่อย่างใด
"หลังจากนั้นจึงเก็บผลแก่มาเพาะเมล็ด ปรากฏว่าเมล็ดไม่งอก จึงใช้วิธีนำปลายยอดมาทดลองเสียบกิ่ง และทาบกิ่งกับต้นตอจำปา ปรากฏว่าสามารถขยายพันธุ์ได้เป็นจำนวนมากและรวดเร็ว ทั้งยังเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ราบภาคกลางด้วย" ดร.ปิยะเล่า และถือว่าเป็นความสำเร็จในการขยายพันธุ์นอกถิ่นกำเนิดเป็นครั้งแรกในปี 2552 อีกด้วย
อีกทั้ง จากการศึกษาธรรมชาติของจำปีเพชร ดร.ปิยะแนะนำว่า หากปลูกบนภูเขาหรือบนพื้นที่ระดับสูงจะออกดอกได้เร็ว เนื่องจากจำปีเพชรชอบแดดจัดและความชื้นสูง โดยเฉพาะปลูกในดินร่วนจะดีมาก เพราะระบายน้ำได้ดี จำปีเพชรไม่ชอบดินชื้นที่มีน้ำขังแฉะ แต่ไม่แนะนำให้ปลูกเป็นไม้กระถางเนื่องจากเป็นไม้ต้นขนาดใหญ่
สำหรับจำปีเพชรนั้น มีดอกที่แตกต่างกัน โดยแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ 1.“จำปีเพชรขาว” มีกลีบดอกสีขาวล้วน 2.“จำปีเพชรลายแดง” กลีบดอกลายแดง ซึ่ง ดร.ปิยะเผยว่า ขณะนี้ วว. สามารถขยายพันธุ์ต้นจำปีเพชรขาวได้แล้ว มีดอกดก กลิ่นหอมแรง จะออกดอกในเดือน ก.ย.-ม.ค.
"จากการขยายพันธุ์บนต้นตอจำปาพบว่า เพียง 1 ปี ก็สามารถให้ดอกได้แล้ว และหากขยายพันธุ์ไปทั่วประเทศแล้ว จะสามารถนำมาพัฒนาวิจัยเป็นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับน้ำหอมต่อไปได้อีกด้วย” ดร.ปิยะ อธิบาย
ทั้งนี้ ดร.ปิยะได้แถลงความสำเร็จของการขยายพันธุ์ "จำปีเพชร" นอกพื้นที่ครั้งแรกในไทย เมื่อวันที่ 10 พ.ค.54 ณ ณ ห้องประชุมชั้น 5 อาคารถ่ายทอดเทคโนโลยี วว. เทคโนธานี คลองห้า จ.ปทุมธานี และเผยว่า วว.พร้อมถ่ายทอด และขยายพันธุ์ให้ผู้สนใจ นำไปปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับได้ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศอีกด้วย
สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถหาชมและซื้อกันได้ที่งานเปิดโลกทัศน์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 48 ปี วว. ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 - 21 พ.ค. ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. ที่ วว. เทคโนธานี ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 0-2577-9000 หรือ อีเมล์ tistr@tistr.or.th