แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติของไทยมีเพียง 5 แหล่งเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง หรือพื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เป็นต้น แต่ความหลากหลายทางธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นในสยามประเทศยังมีอยู่มากมาย ซึ่งควรค่าแก่การอนุรักษ์และหวงแหนไว้อย่างยั่งยืน
นางอุษา เกียรติชัยพิพัฒน์ ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เผยว่า ขณะนี้ สผ.ได้จัดทำ “โครงการมรดกของชาติไทย (Thai National Heritage)” ขึ้นมา เพื่อทำให้สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นได้มีแหล่งรับรอง เนื่องจาก ปัจจุบันความเจริญได้เข้ามาบดบังทัศนียภาพของแหล่งมรดกของชาติไทยที่มีทั่วทุกภาค แทบทุกจังหวัด จึงต้องมีมาตรการหรือหลักเกณฑ์เข้ามาผลักดันให้คนในสังคมได้เห็นคุณค่ามากขึ้น
ทั้งนี้ นางอุษากล่าวว่า หากแหล่งมรดกของชาติไทยได้รับการรับรองแล้ว นอกจากจะทำให้คนในสังคมรับทราบว่าไทยมีแหล่งสำคัญทางธรรมชาติอะไรบ้าง ศิลปกรรมท้องถิ่นที่มีอยู่เป็นอย่างไรแล้ว ทุกคนยังจะเห็นประโยชน์จนเกิดความตระหนักในการหวงแหนและอนุรักษ์อย่างยั่งยืนต่อไป โดย สผ.ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานในการคัดเลือกว่า พื้นที่ไหนเหมาะสมที่จะได้รับการประกาศเป็นมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ
สำหรับคณะทำงานมีด้วยกัน 2 ชุด คือ 1. คณะทำงานเพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์การประกาศมรดกของชาติไทย (ชุด ลำพูน น่าน แพร่) และ 2. คณะทำงานเพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์การประกาศมรดกของชาติไทย (ชุด ระนอง สงขลา) ซึ่ง โดยหลังจากนี้คณะทำงานชุดดังกล่าวจะนำหลักเกณฑ์ไปทดสอบมาตรฐานและเผยแพร่ไปยังจังหวัดนำร่อง และคาดว่าภายในเดือนกันยายนจะได้เกณฑ์การประกาศมรดกของชาติไทยฉบับมาตรฐานขึ้นมา
“เมื่อได้เกณฑ์ประกาศฉบับมาตรฐานแล้วจะนำหลักเกณฑ์ดังกล่าวส่งไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำหลักเกณฑ์ไปใช้ให้เกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้น เนื่องจากทาง สผ.ไม่มีกำลังมากพอที่จะไปสำรวจสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่น หรือ นำหลักเกณฑ์ไปเผยแพร่ทั้ง 77 จังหวัดได้ ดังนั้น ต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกจังหวัดนำหลักเกณฑ์เหล่านี้ไปบูรณาการใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยตัวเอง” นางอุษา อธิบาย
นางอุษา อธิบายว่าเลือก 5 จังหวัดในโครงการนำร่องเพราะ จังหวัดเหล่านั้นมีแหล่งมรดกของชาติไทยอย่างชัดเจน อาทิ “แพร่” มีวนอุทยานแพะเมืองผี ทั้งยังมีประตูและกำแพงเมืองเก่า หรืออุทยานแห่งชาติดอยภูคา วัดพระธาตุแช่แห้ง สถานที่ท่องเที่ยวมีชื่อเสียงของ “น่าน” หากเป็น “สงขลา” สถานที่ท่องเที่ยวที่เลื่องชื่อนั่นคือ ทะเลสาบสงขลา เป็นต้น
สำหรับผู้รับหน้าที่ประกาศความเป็นมรดกของชาติไทยนั้น นางอุษากล่าวว่า เป็นแผนที่กำลังพิจารณา ซึ่งที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้ประกาศแหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ 263 แห่งใน 62 จังหวัดทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 32 และในส่วนของการประกาศมรดกของชาติไทย คาดว่าน่าจะเป็นหน้าที่ของ ครม.เช่นกัน
“หากสถานที่ต่างๆ ได้ประกาศเป็นมรดกของชาติไทยแล้ว ความเจริญ ร้านค้า ป้ายโฆษณา หรือรีสอร์ทต่างๆ จะเข้ามาทำลายทัศนียภาพของแหล่งมรดกของชาติไทยอย่างแน่นอน ขั้นตอนต่อไปอาจต้องออกกฎหมายขึ้นมาควบคุม แต่การออกกฎหมายนั้นจะดำเนินการเป็นสิ่งสุดท้าย แต่การสร้างจิตสำนึกให้เกิดความตระหนักและเห็นคุณค่าเป็นสิ่งสำคัญกว่า เพราะถือเป็นเป้าหมายหลักของโครงการด้วย” นางอุษากล่าว
สำหรับโครงการมรดกของชาติไทยนี้ นางอุษากล่าวว่า เป็นภารกิจหนึ่งของเครือข่ายหน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศถึง 75 หน่วย ซึ่งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นนี้ ทุกภาคส่วนต้องรวมพลังคิด อนุรักษ์ รู้คุณค่าและใช้สติปัญญาพัฒนาอย่างรอบคอบด้วยวิธีการที่เหมาะสม และเราต้องหาจุดสมดุลของการพัฒนาและการอนุรักษ์
ด้าน นางสารูป ฤทธิ์ชู ผู้ทรงคุณวุฒิของหน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่น กล่าวว่า การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมให้มั่นคงยั่งยืนนั้น ต้องมีกระบวนการทำงานเป็นเครือข่าย ทั้งเครือข่ายหน่วยงานราชการและเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อร่วมกันกำหนดเป้าหมายการทำงานที่ชัดเจน นอกจากนั้นต้องสร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจแก่คนในท้องถิ่นและทุกคนในสังคม ให้ตระหนักต่อสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นที่มีอย่างหลากหลาย เมื่อทุกคนตระหนักเกิดความเข้าใจที่จะอนุรักษ์แล้ว การเรียนรู้และพัฒนาจึงก้าวหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน