สนช.ตั้งเป้าหนุนให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมชีวการแพทย์ ทั้งในและต่างประเทศ 500 ล้านบาทภายใน 3 ปี ยกตัวอย่างโครงการที่น่าจะเป็นจริง การพัฒนาระบบสื่อสารสำหรับแพทย์ทางไกล เพื่อส่งภาพวิเคราะห์ระบบทางเดินอาหารผู้ป่วยจากต่างประเทศมาให้หมอไทยวิเคราะห์
นายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) เผยแก่สื่อมวลชนและทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ว่าหลังจากได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส และมหาวิทยาลัยมหิดล ในการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวการแพทย์ร่วมกัน เมื่อสมัย คุณหญิง ดร.กัลยา โสภณพนิช ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทาง สนช.จึงได้สานต่อและพยายามผลักดันให้การลงนามดังกล่าวเป็นจริง
ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้าภายใน 3 ปีจะก่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวการแพทย์ทั้งจากในและต่างประเทศ 500 ล้านบาท ภายใต้โครงการความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวการแพทย์ ระหว่าง สนช. คณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุอุปกร์ณทางการแพทย์ กระทรวงอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส และมหาวิทยาลัยมหิดล
โครงการดังกล่าวเน้นสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยแบ่งออกออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มวัสดุสิ้นเปลือง เช่น กระดาษ พลาสติก เป็นต้น กลุ่มครุภัณฑ์ทางการแพทย์ เช่น เตียงพยาบาล เป็นต้น กลุ่มชุดทดสอบ เช่น น้ำยาและเคมีภัณฑ์ทางการแพทย์ และกลุ่มซอฟต์แวร์ทางด้านการแพทย์
สำหรับตัวอย่างโครงการที่มีศักยภาพในการพัฒนา คือโครงการพัฒนาระบบสื่อสารข้อมูลทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยระบบทางเดินอาหาร ซึ่งระบบสื่อสารดังกล่าวจะช่วยส่งข้อมูลที่บันทึกจากแคปซูลติดกล้องสำหรับผู้ป่วยทางเดินอาหารในสหรัฐฯ มายังเมืองไทยเพื่อให้แพทย์ในเมืองไทยทำการวินิจฉัย
นพ.ฆนัท ครุชกุล กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุและอุปกรณ์การแพทย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงโครงการดังกล่าวว่า ในสหรัฐฯ แพทย์จะคิดค่าจ้างในการวินิจฉัยข้อมูลวิดีโอจากแคปซูลติดกล้องเป็นรายชั่วโมง ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก แต่หากให้แพทย์ไทยวินิจฉัยจะมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า ซึ่งหากพัฒนาระบบส่งข้อมูลจากแคปซูลติดกล้องส่องทางเดินอาหารสำเร็จ จะเป็นช่องทางที่แพทย์ไทยจะรับจ้างวินิจฉัยข้อมูลดังกล่าวได้
ในระยะ 6-7 ปีที่ผ่านมา สนช.ได้ร่วมมือและสนับสนุนโครงการในอุตสาหกรรมชีวการแพทย์ทั้งสิ้น 30 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 22 ล้านบาท อาทิ ข้อเข่าเทียมแบบสี่จุดหมุนที่เดินได้เหมือนจริง ครอบฟันจากเซอร์โคเนีย หลอดเก็บตัวอย่างเลือดสุญญากาศ เป็นต้น แต่พบอุปสรรคในการพัฒนาอุตสาหกรรมทางด้านนี้คือ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ขาดองค์ความรู้และเทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต องค์ความรู้ภายในประเทศไม่เพียงพอ ซึ่งการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยของสหรัฐฯ จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้