xs
xsm
sm
md
lg

สารพัด “แกตเจ็ต” ดีๆ ในชีวิตประจำวัน มีได้เพราะโครงการอวกาศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชุดว่ายน้ำที่ทำเวลาได้ดีขึ้นเป็นผลงานจากเทคโนโลยีอวกาศ (เอเอฟพี)
สารพัดนวัตกรรมดีๆ บนโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นหัวใจเทียม การจัดฟันเซรามิกส์ ถุงลมนิรภัย เครื่องปั๊มอินซูลิน หรือแม้แต่ชุดว่ายน้ำอัจฉริยะ ล้วนเป็นผลพวงมาจากโครงการอวกาศ ซึ่งเริ่มต้นจากการส่ง “ยูริ กาการิน” มนุษย์คนแรกขึ้นไปเมื่อ 50 ปีที่แล้ว

สารพัดเทคโนโลยี ที่พัฒนาเพื่อโครงการอวกาศมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นับแต่เริ่มส่ง “ยูริ กาการิน” (Yuri Gagarin) มนุษย์อวกาศคนแรกจากอดีตสหภาพโซเวียตขึ้นสู่งวงโคจรเมื่อ 50 ปีก่อน ได้กลายมาเป็นสิ่งประดิษฐ์นับร้อยนับพัน ที่ใช้กันบนโลก ซึ่งเริ่มต้นจากการค้นหาวัสดุที่แสดงคุณสมบัติใหม่ๆ หรือทนต่ออุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงอย่างสุดขีด รังสีคอสมิก และความเครียดจากแรงดึงดูดสูงๆ หรือสภาพไร้แรงโน้มถ่วง

โลหะจำรูป (memory metal) เป็นหนึ่งในหลายๆ ตัวอย่างที่เอเอฟพียกมาอธิบาย ซึ่งโลหะดังกล่าว มีความยืดหยุ่นและสามารถคืนรูปเมื่อได้รับความร้อน มีการประยุกต์ใช้งานวัสดุชนิดนี้หลากหลาย เช่น ใช้ในวาล์วฟักบัวเพื่อป้องกันน้ำร้อนลวก แม้แต่ลวดเย็บสำหรับผ่าตัด (surgical staple) หรือขดลวด (stent) สำหรับขยายหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น

กระทั่งชุดว่ายน้ำอัจฉริยะของ “สปีโด” (Speedo) ที่ช่วยให้ผู้สวมใส่ว่ายน้ำได้เร็วขึ้น และเป็นชุดที่นักว่ายน้ำเหรียญทองส่วนใหญ่สวมใส่ในการแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่ง จีนนั้น เป็นผลงานของสถาบันวิจัยในองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) พัฒนาขึ้น หรือรองเท้านักกีฬา ที่มีวัสดุกันกระแทกก็เป็นผลงานที่นาซาออกแบบสำหรับชุดอวกาศ

รวมถึงเครื่องมือวัดอุณหภูมิในร่างกายมนุษย์ภายใน 2 วินาที จากความร้อนที่ปล่อยออกมาจากเยื่อแก้วหู ก็เป็นผลมาจากเทคโนโลยีในการวัดอุณหภูมิของดาวและดาวเคราะห์ที่อยู่แสนไกลด้วย หรือเทคโนโลยีที่สร้างขึ้นมา เพื่อใช้ติดตามสุขภาพของนักบินอวกาศ อย่างเครื่องจับสัญญาณอินฟราเรดจากจังหวะหัวใจ ตอนนี้ก็นำมาใช้เป็นเครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจในเครื่องออกกำลังกาย

อีกทั้ง ระบบตรวจตราการใช้พลังงานของกระสวยอวกาศ ก็เป็นแรงบันดาลใจที่นำไปสู่การพัฒนาปั๊มหัวใจเทียมที่มีขนาดเล็กกว่าเดิมสิบเท่า

บางเทคโนโลยีก็แทรกซึมไปถึงวงการความสวยความงาม อย่างการจัดฟันแบบเซรามิกส์เหมือนฟัน (ceramic teeth braces) ที่มีคนนับแสน ใช้ครอบฟันนั้นก็เป็นวัสดุโปร่งแสงที่ทนแรงกระแทก ซึ่งใช้ในอุปกรณ์ตรวจจับจรวดมิสไซล์ (missile) ที่บริษัทเอกชนและนาซาร่วมกันพัฒนา

หมวกกันน็อกที่นักปั่นจักรยานสวม เพื่อปกป้องศีรษะก็เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ได้จากโฟมดูดซับแรงกระแทก ที่พัฒนามาเพื่อป้องกันไม่ให้สมองของนักบินอวกาศ ได้รับการกระทบกระเทือนจากแรงโน้มถ่วง (g-force) และอนาคตอันใกล้ ล้อของยานยนต์ที่เราขับกันบนโลก ก็จะใช้วัสดุน้ำหนักเบาแต่แข็งแรงกว่าเหล็ก 5 เท่า ซึ่งวัสดุดังกล่าวนั้นเดิมใช้สำหรับร่มชูชีพของยานไวกิง (Viking)

เหล่านี้เป็นตัวอย่างเล็กๆ ของสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นผลพลอยได้จากเทคโนโลยีอวกาศที่หลายคนอาจจะมองว่าไกลตัว ลองหันมองดูรอบๆ คุณอาจเป็นคนหนึ่งที่ใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นอยู่ก็ได้.
จัดฟันแบบเซรามิกส์ใสก็เป็นผลงานจากเทคโนโลยี
รองเท้ากีฬาที่มีวัสดุกันแรงกระแทกเป็นผลงานหนึ่งที่ได้จากเทคโนโลยีอวกาศ
กำลังโหลดความคิดเห็น