เอกชนไทยผลิต “มุ้งนาโนไล่ยุง” มีกลิ่นเฉพาะ ทำให้ยุง-สัตว์กลุ่มแมลงบินหนี ไม่เป็นพิษต่อคน สามารถซักล้างได้ 30 ครั้ง ชี้ทนการหน่วงไฟได้ 5.4 วินาที เกินกว่ามาตรฐานกำหนด พร้อมต่อยอดพัฒนา ผ้าม่าน เสื้อ จีวรพระสงฆ์ เต็นท์ เครื่องแบบรักษาความปลอดภัย ให้กันยุงได้ อีกทั้งปี 54 จะขยายตลาดสู่ประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมส่งตัวอย่างขอรับรองมาตรฐานจากองค์การอนามัยโลกอีกด้วย
จากวิกฤตน้ำท่วมหนักในภาคใต้ หลายพื้นที่นอกจากเจอปัญหาน้ำป่าไหลหลาก หน้าดินสไลด์แล้ว ยังเจอปัญหาของการเพาะพันธุ์ยุงในบริเวณที่มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน จึงทำให้คนในพื้นที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคที่เกิดจากยุงเป็นพาหะตามมา
ทางสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ร่วมกับบริษัท บางกอก เบดเน็ท อาร์แอนด์ดี มาร์เก็ตติ้ง จำกัด และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จึงได้มอบมุ้งนาโนกันยุง “ไทเกอร์” ให้กับ จ.สุราษฎธานี จำนวน 1,000 หลัง เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในครั้งนี้
นายศุภชัย หล่อโลหการ ผอ.สนช. กล่าวว่า การพัฒนาผลิตภัณฑ์มุ้งกำจัดยุงและการหน่วงการติดไฟชนิด (Long Lasting Insecticide Net : LLIN) นี้ ใช้เทคโนโลยีของ ดร.ระพีพันธ์ แดงตันกี หัวหน้าศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมนาโนและไบโอพลาสติก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จนประสบความสำเร็จ และสามารถผลิตมุ้งนาโนกันยุงที่ได้มาตรฐานเทียบเท่ามาตรฐานองค์กรอนามัยโลก (WHO) จึงได้ดำเนินการขยายสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ภายใต้ตราสินค้า “ไทเกอร์” เพื่อสร้างให้ตราสินค้าของไทยเป็นที่รู้จัก แต่ถ้าส่งไปต่างประเทศจะใช้ตราสินค้าว่า “โคซซี่เน็ต-ไลฟ์” (COZYNET-LIFE)
ดร.ระพีพันธ์ เผยถึงวิธีการผลิตมุ้งนาโนกันยุงกับ ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ว่า การผลิตมุ้งนาโนกันยุงนี้ เป็นการพัฒนาต่อยอดโดยอาศัยเทคโนโลยีการผสมแบบมาสเตอร์แบทช์ (masterbatch) คือการผสมสารกำจัดยุง (insecticide) และสารป้องกันการติดไฟ (flame retardant) มาทำให้เป็นขนาดเล็ก คืออนุภาคนาโน จากนั้นนำน้ำยาตัวนี้มาใส่ในเส้นใยพลาสติก โดยใช้สารนำพา (carrier ) เป็นตัวช่วยทำให้สารกำจัดยุงและสารป้องกันการติดไฟแทรกตัวอยู่ในเส้นใยพลาสติกได้ดี แล้วจึงนำไปเส้นใยนี้ไปผลิตเป็นมุ้งนาโน
สำหรับ สารกำจัดยุงที่ใช้เป็นสารเดลตาเมทริน (Deltamethrin) สารสังเคราะห์เลียนแบบสารในกลุ่ม ไพรีทรอยด์ (Pyrethroids) ซึ่งเป็นสารสกัดในธรรมชาติชนิดที่มีคุณสมบัติป้องกันยุง และพบในพืชตระกูลดอกเบญจมาศ และ ดอกเก๊กฮวย
“จากการทดลองของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พบว่าหากมียุงมาเกาะที่มุ้งนาโนนี้ ภายใน 3-6 ชั่วโมง หรือ หากยุงเข้าไปอยู่ภายในมุ้งก็จะตายภายใน 24 ชั่วโมง แต่ด้วยคุณสมบัติของสารเดลตาเมทรินนี้ จะมีกลิ่นที่ทำให้ยุงรับรู้ได้ว่า ถ้ามาเกาะแล้วจะเป็นอันตรายได้ ยุงจึงบินหนีไป และไม่กล้าที่จะเข้าใกล้ มุ้งนาโนนี้จึงเป็นมุ้งไล่ยุง ไม่ใช่มุ้งฆ่ายุง” ดร.ระพีพันธ์ กล่าว
ดร.ระพีพันธ์ ยังบอกอีกว่า หากนำมุ้งนาโนไปตากแดดนั้น ประสิทธิภาพของการป้องกันยุงก็ยังคงเดิม และการเกาะของฝุ่นที่หนาก็ไม่มีผลต่อการลดทอนคุณภาพของสารเดลตาเมทรินเช่นกัน
นายศุภชัย ยังบอกถึงประโยชน์ของมุ้งนาโนนี้ด้วยว่า มุ้งนาโนมีประสิทธิภาพในการกำจัดยุงตามข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก สามารถขายไปสู่ตลาดต่างประเทศได้ ทั้งนี้ยังใช้สารกำจัดแมลงเพียง 25 กรัมต่อกิโลกรัม ตรงตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้จึงไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค และยังสามารถกำจัดยุงและกลุ่มแมลงได้ 100 เปอร์เซ็นต์อีกด้วย
นอกจากนั้น ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกนั้นต้องซักล้างได้ 15 ครั้ง แต่มุ้งนาโนนี้ สามารถทนการซักล้างได้ถึง 30 ครั้งและฤทธิ์ของสารกำจัดยุงก็ยังคงอยู่ ถือว่ามีคุณภาพเป็น 2 เท่า และสามารถทนการหน่วงไฟได้ถึง 5.4 วินาที ซึ่งว่าตามมาตรฐานแล้วต้อง 4 วินาที
ทั้งนี้ สนช.ได้สนับสนุนโครงการ "มุ้งนาโนกันยุง ไทเกอร์" เป็นจำนวนเงิน 700,000 บาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “นวัตกรรมดี...ไม่มีดอกเบี้ย” ที่มีงบประมาณรวมทั้งสิ้น 37,107,100 บาท” นายศุภชัย กล่าว
ทางด้าน นายพิเชษฐ์ พะลานุกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอก เบดเน็ท อาร์แอนด์ดี มาร์เก็ตติ้ง จำกัด บอกว่า นอกจากการพัฒนามุ้งนาโนกันยุงแล้ว ทางบริษัทได้เตรียมต่อยอด พัฒนาไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถป้องกันยุงได้อีกหลายชนิด เช่น ผ้าม่าน เสื้อ จีวรพระสงฆ์ เต็นท์ เครื่องแบบรักษาความปลอดภัย ตลอดจนชุดของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงในป่าอีกด้วย
นายศุภไช แพร่พีรกุล กรรมการผู้จัดการ บ.บางกอก เบดเน็ทให้ข้อมูลว่า สำหรับมุ้งธรรมดาที่ขายในตลาดที่ได้มาตรฐานนั้น จะจำหน่ายในราคา 300 บาท และมีอายุการใช้งานประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปีเท่านั้น แต่มุ้งนาโนที่ผลิตขึ้นนี้จำหน่ายในราคา 370 บาท อายุการใช้งานถึง 2 ปี แม้ว่าจะมีราคาสูงกว่าเล็กน้อย แต่เมื่อเทียบกับคุณสมบัติที่ได้ ถือว่าเป็นความคุ้มค่า
นายชูหวัง หัตถกิจโกวิท ที่ปรึกษาฝ่ายการตลาดของ บ.บางกอก เบดเน็ท กล่าวว่าหลังเทศกาลสงกรานต์ จะผลิตออกมาจัดจำหน่ายในประเทศ ซึ่งล็อตแรกนั้นจะผลิตจำนวน 100,000 หลัง และจำหน่ายในราคา 185 บาท ทั้งนี้ภายในปี 2554 นี้ จะส่งสินค้าออกไปจำหน่ายในประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ลาว เวียดนาม มาเลเซีย พม่า บังคลาเทศ และ อินเดีย เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ในปี พ.ศ.2550 มีการประเมินว่า มีผู้ติดเชื้อมาลาเรียกว่า 500 ล้านคนทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่กำลังพัฒนา อาทิ ประเทศในแถบทวีปแอฟริกา จึงทำให้ในแต่ละปีหน่วยงานต่างๆ อาทิ องค์การอนามัยโลก ต้องใช้งบประมาณในการจัดซื้อมุ้งเพื่อป้องกันโรคมาลาเรียให้กับประเทศที่กำลังพัฒนามากกว่า 75 ล้านหลัง ใน 5 ปี
“ในปัจจุบันนั้นมีบริษัทผู้ผลิตทั่วโลกเพียง 7 บริษัทจาก 5 ประเทศเท่านั้น คือ เดนมาร์ก ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนีและ อังกฤษ ที่สามารถผ่านมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ จึงทำให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประเทศ ต่างๆ ในแถบแอฟริกา และปัจจุบันมุ้งกันยุงชนิด LLIN มีความต้องการทั่วโลกไม่น้อยกว่า 100 ล้านหลังต่อปีอีกด้วย ” นายชูหวัง ให้ข้อมูล
นายชูหวัง บอกด้วยว่า ทางบริษัทฯนั้นต้องการที่เป็นบริษัที่ 2 จากประเทศที่ 6 ที่ได้มาตรฐานตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้
"ขณะนี้ทางบริษัทได้ส่งตัวอย่างของมุ้งนาโนนี้ ไปยังประเทศฝรั่งเศสเพื่อทดสอบมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก คาดว่าในปี 2555 นั้นจะผ่านมาตรฐานอย่างแน่นอน ซึ่งเมื่อได้รับการรับรองแล้ว จะสามารถส่งออกมุ้งนาโนนี้ให้กับองค์การอนามัยโลก เพื่อที่จะนำไปแจกจ่ายให้กับประเทศในแถบแอฟริกาต่อไป " นายชูหวังกล่าว