xs
xsm
sm
md
lg

ผวารังสีเปื้อนอาหารญี่่ปุ่นแม้คลายวิกฤตโรงไฟฟ้าได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

องค์การอนามัยโลก กล่าวเตือนวานนี้ (21)ว่า ภายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงซึ่งได้สร้างความเสียหายต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่น ปรากฏว่าการปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีในอาหาร กำลังอยู่ในสภาพที่สาหัสรุนแรงกว่าที่เคยคาดคิดกันไว้ นับเป็นการเปิดประเด็นอันชวนให้วิตกกังวลกันไปทั่ว กระทั่งบดบังลดทอนความสำคัญของข่าวดีที่ว่า มีความคืบหน้าในการต่อสู้เพื่อหาทางหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความหายนะร้ายแรงที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ

เมื่อวานนี้ พวกวิศวกรและคนงานได้พยายามอย่างหนักจนประสบความสำเร็จในการต่อสายไฟฟ้าไปยังเตาปฏิกรณ์ทั้ง 6 เครื่องของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากกรุงโตเกียวไปทางเหนือประมาณ 240 กิโลเมตร และได้เริ่มเดินเครื่องระบบสูบน้ำที่เตาปฏิกรณ์เครื่องหนึ่งแล้ว เพื่อลดอุณหภูมิในเตาปฏิกรณ์ที่กำลังอยู่ในระดับสูงเกินไป จนเป็นชนวนทำให้เกิดวิกฤตนิวเคลียร์ครั้งเลวร้ายที่สุดของโลกในรอบ 25 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาคนงานบางส่วนต้องอพยพถอนตัวออกจากเตาปฏิกรณ์บางเครื่องที่ได้รับความเสียหายหนักหน่วงที่สุด เมื่อมีควันโขมงลอยขึ้นมาจากเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 เป็นระยะเวลาสั้นๆ โดยที่ในเฉพาะหน้านี้ยังไม่มีคำอธิบายสาเหตุที่ชัดเจน แต่พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบได้เคยแถลงไว้ก่อนหน้านั้นแล้วว่า ระดับความดันในอาคารเตาปฏิกรณ์เครื่องนั้นกำลังเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนั้น ในเวลาต่อมายังมีควันลอยขึ้นมาจากอาคารเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 อีกด้วย

เหตุแผ่นดินไหวความรุนแรงระดับ 9.0 และตามมาด้วยคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อวันศุกร์ที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา ได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 8,649 คน และสูญหายอีก 13,261 คน ทั้งนี้ตามตัวเลขเมื่อคืนนี้ของทางการญี่ปุ่น ขณะเดียวกันก็คาดหมายกันว่าจะทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นประสบความเสียหายประมาณ 250,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้มันกลายเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่สร้างความเสียหายสูงที่สุดของโลก

ทางด้าน ยูกิยะ อามาโนะ ผู้อำนวยการใหญ่ทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ซึ่งเป็นองค์กรชำนัญพิเศษด้านนิวเคลียร์ของยูเอ็น ที่กำลังอยู่ในกรุงโตเกียว ได้เรียกประชุมฉุกเฉินคณะกรรมการของทบวงเมื่อวานนี้ โดยที่เขาบอกว่าสถานการณ์วิกฤตนิวเคลียร์ยังคงร้ายแรงมาก แต่เขามั่นใจว่าจะสามารถแก้ไขคลี่คลายอย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลญี่ปุ่นรายหนึ่ง ได้อ้างคำพูดของนายกรัฐมนตรี นาโอโตะ คัง ที่กล่าวว่า “เรามองเห็นแสงสว่างสำหรับการหลุดออกมาจากวิกฤตคราวนี้แล้ว”

แต่ข่าวคราวความก้าวหน้า ณ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้ กำลังถูกบดบังด้วยความวิตกกังวลที่เพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับเรื่องที่อนุภาคกัมมันตภาพรังสีที่ถูกปล่อยออกมาสู่บรรยากาศแล้ว กำลังปนเปื้อนอาหารและน้ำดื่มน้ำใช้

“เป็นที่ชัดเจนมากว่ามันเป็นสถานการณ์ที่สาหัสร้ายแรง” ปีเตอร์ คอร์ดิงลีย์ โฆษกของสำนักงานภูมิภาคที่ดูแลแปซิฟิกตะวันตก ขององค์การอนามัยโลก บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ในการให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากสำนักงานในกรุงมะนิลา

“มันมีความสาหัสร้ายแรงมากยิ่งกว่าที่ใครๆ ได้เคยคิดกันเอาไว้ในช่วงระยะวันแรกๆ โดยที่ในตอนนั้นเราเคยคิดกันว่าปัญหาชนิดนี้สามารถที่จะจำกัดให้อยู่เฉพาะในขอบเขต 20 ถึง 30 กิโลเมตร … มาถึงตอนนี้ มันเป็นเรื่องที่สามารถตั้งสมมุติฐานได้แล้วว่า ผลผลิตที่ปนเปื้อนบางส่วนได้หลุดออกมานอกพื้นที่ซึ่งปนเปื้อนรังสีแล้ว”

อย่างไรก็ดี เขาย้ำว่ายังไม่พบหลักฐานใดๆ ว่ามีอาหารปนเปื้อนรังสีจากฟูกูชิมะ ถูกส่งไปถึงประเทศอื่นๆ แล้ว

ขณะที่ มัลคอล์ม คริก เลขานุการคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ของยูเอ็น ว่าด้วยผลของการแผ่รังสีปรมาณู บอกกับรอยเตอร์ว่า ระดับรังสีที่วัดได้จากอาหารตามที่มีรายงานออกมา 2-3 ชิ้นนั้น ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าที่เคยปรากฏรอบๆ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลที่เกิดการหลอมละลายในปี 1986 ทว่าเวลานี้ยังถือว่าภาพยังออกมาไม่ชัดเจน โดยที่ภาพทั้งหมดกำลังจะปรากฏโฉมออกมาให้เห็นชัดขึ้นเรื่อย

ทางด้านกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นได้ออกคำเตือนประชากรในบางพื้นที่ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ ให้หยุดดื่นน้ำประปา หลังจากที่ตรวจพบสารไอโอดีนปนเปื้อนรังสีในระดับสูง

นอกจากนั้น จากรายงานข่าวการตรวจพบผัก ถั่ว และน้ำนมปนเปื้อนรังสี หลายๆ กรณีในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ได้ทำให้เกิดความวิตกหวั่นไหวกันไปทั่วแล้ว ถึงแม้พวกเจ้าหน้าที่ยืนยันว่าระดับรังสีที่พบถือว่ายังไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทั้งนี้รัฐบาลได้สั่งห้ามการจำหน่ายผักโขมสปีแนชจากทั้ง 4 จังหวัดที่อยู่ใกล้ๆ โรงไฟฟ้าที่มีปัญหา รวมทั้งห้ามการจำหน่ายนมดิบที่มาจากจังหวัดฟูกูชิมะ

ที่กรุงโตเกียวซึ่งมีประชากรราว 13 ล้านคน เวลานี้ยังไม่มีรายงานสำคัญอะไรเกี่ยวกับการตรวจพบอาหารปนเปื้อนรังสี แต่พวกเจ้าหน้าที่ของมหานครแห่งนี้ก็ระบุว่า ได้พบไอโอดีนเปื้อนรังสีระดับสูงกว่ามาตรฐานในดอกเก๊กฮวย

จิม สมิธ ผู้ชำนาญการด้านโลกและวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม แห่งมหาวิทยาลัยพอร์ตสมัธ ประเทศอังกฤษ บอกว่าจากรายงานต่างๆ ที่เขาทราบมานั้น ดูเหมือนว่าระดับของไอโอดีนเปื้อนรังสี และของสารซีเซียม ที่พบอยู่ในนมและอาหารบางชนิด น่าจะอยู่ในระดับสูงกว่าข้อกำหนดของรัฐบาลอย่างมากทีเดียว แต่เรื่องนี้ไม่ได้แปลว่าถ้ารับประทานอาหารเหล่านี้แล้วจะเป็นอันตรายในทันที เนื่องจากข้อกำหนดของรัฐบาลนั้นคิดคำนวณด้วยเกณฑ์ที่เผื่อเอาไว้ว่าถ้าหากรับประทานต่อเนื่องนานๆ จึงจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ กระนั้นก็ตามที ถ้าหากพบอาหารที่ปนเปื้อนรังสีเกินกำหนด ก็ยังควรที่จะสั่งห้ามการจำหน่ายและการรับประทานอาหารเหล่านี้ในเขตพื้นที่ซึ่งตรวจพบ

ญี่ปุ่นเป็นผู้นำเข้าอาหารสุทธิก็จริง แต่ก็ยังส่งออกสินค้าอาหารหลายชนิด โดยที่ตลาดใหญ่สุดคือฮ่องกง, จีน, และสหรัฐฯ

สำนักข่าวซินหวารายงานว่า ทางการจีนจะทำการตรวจสอบอาหารที่นำเข้าจากญี่ปุ่น ขณะที่เกาหลีใต้ก็แถลงว่าจะขยายการตรวจสอบระดับรังสีให้ครอบคลุมอาหารแปรรูปและอาหารสินค้าเกษตรตากแห้งจากญี่ปุ่นด้วย นอกเหนือจากพวกผลผลิตสดๆ ส่วนที่ไต้กวัน ภัตตาคารญี่ปุ่นระดับท็อปแห่งหนึ่งในกรุงไทเป เสนอให้ลูกค้าใช้เครื่องตรวจวัดรังสีตรวจสอบ ในกรณีที่เกิดความไม่สบายใจในอาหารที่ทางภัตตาคารให้บริการ
กำลังโหลดความคิดเห็น