ทุบสถิติละลายกันทั่วโลก ล่าสุด “ธารน้ำแข็ง” ในชิลีละลาย จนทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นเร็วที่สุดในรอบ 350 ปี หลังนักวิทยาศาสตร์ศึกษาข้อมูลย้อนกลับไปถึง “ยุคน้ำแข็งย่อย”
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยในเมืองแอบเบอริสไทส์, เอกเซเตอร์ และสต็อคโฮล์ม สหราชอาณาจักร ศึกษาและทำแผนที่การเปลี่ยนแปลงในธารน้ำแข็งใหญ่ๆ 270 แห่งในชิลีและอาร์เจนตินา ย้อนกลับไปจนถึง “ยุคน้ำแข็งย่อย” (Little Ice Age) ซึ่งบีบีซีนิวส์ระบุว่า เป็นการศึกษาที่มีกรอบเวลานานกว่าการศึกษาโดยปกติของพวกเขา
การศึกษาของทีมวิจัย แสดงให้เห็นว่า ธารน้ำแข็งมีปริมาตรลดลงเร็วขึ้น 10-100 เท่า ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอัตราการละลายของน้ำแข็งที่เร็วขึ้นนี้ มีผลต่อระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นเหนือระดับ “ค่าเฉลี่ย” ระยะยาวในรอบ 350 ปี ซึ่งงานวิจัยนี้ได้เผยแพร่ลงวารสารเนเจอร์จีโอไซน์ (Nature Geoscience)
ทีมวิจัยให้ความสนใจกับภาพถ่ายระยะไกลหรือภาพรีโมตเซนซิง (remote sensing) ของธารน้ำแข็งที่คร่อมเทือกเขาแอนดีส (Andes) ตรงชายแดนระหว่างชิลีและอาร์เจนตินา โดยพื้นที่น้ำแข็งทางตอนเหนือเป็นระยะทางไกล 200 กิโลเมตร และกินพื้นที่ 4,200 ตารางกิโลเมตร ส่วนพื้นที่น้ำแข็งทางตอนใต้เป็นระยะทางไกล 350 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 13,000 ตารางกิโลเมตร
นับแต่ยุคน้ำแข็งย่อย ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทีมวิจัยทำแผนที่การเปลี่ยนแปลงของตำแหน่งธารน้ำแข็งนั้น พบว่า ครั้งสุดท้ายที่พื้นน้ำแข็งทางตอนเหนือของบริเวณดังกล่าว มีน้ำแข็งปกคลุมสูงสุดคือในปี 1870 ส่วนพื้นที่ตอนใต้ มีน้ำแข็งปกคลุมสูงสุดครั้งสุดท้ายในปี 1650 เมื่อเทียบกับปัจจุบัน
ศ.นีล กลาสเซอร์ (Prof. Neil Glasser) จาก มหาวิทยาลัยแอบเบอรีสไทส์ (Aberystwyth University) ผู้เป็นหัวหน้าในการศึกษาครั้งนี้ กล่าวว่าการศึกษาระดับน้ำทะเลก่อนหน้านี้ที่อ้างอิงการละลายของธารน้ำแข็งนั้น เป็นการศึกษาที่ครอบคลุมช่วงเวลาสั้นๆ เพียงในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา หรือเริ่มต้นในช่วงที่มีภาพถ่ายดาวเทียมแล้ว เพื่อคำนวณหาการเปลี่ยนแปลงปริมาตรของธารน้ำแข็ง
หากแต่ทีมของ ศ.กลาสเซอร์ ได้ใช้วิธีใหม่ที่ทำให้ศึกษาย้อนกลับไปได้ไกลกว่านั้น เขาว่า ทีมวิจัยทราบว่าธารน้ำแข็งทั้งหลายในทวีปอเมริกาใต้นั้น มีขนาดใหญ่มากในช่วงยุคน้ำแข็งย่อย ดังนั้น พวกเขาจึงทำแผนที่น้ำแข็งที่ขยายออกไปตามปริมาณน้ำแข็งในยุคนั้น แล้วจึงคำนวณหาว่า ธารน้ำแข็งได้สูญเสียปริมาณน้ำแข็งไปเท่าไร
จากรายงานของบีบีซีนิวส์ ไม่ได้อธิบายรายละเอียดการคำนวณดังกล่าว แต่ระบุว่าการคำนวณของพวกเขานั้นได้แสดงให้เห็นว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ธารน้ำแข็งได้เพิ่มอัตราการละลายเร็วขึ้น และได้ส่งผลต่อระดับน้ำทะเลทั่วโลก
การศึกษาของทีมวิจัยพบว่า ธารน้ำแข็งซาน ราฟาเอล (San Rafael Glacier) ในพาทาโกเนีย ซึ่งเป็นหนึ่งใน 270 ธารน้ำแข็ง ที่ทีมวิจัยศึกษานั้น หดลงไปถึง 8 กิโลเมตร นับแต่ยุคน้ำแข็งย่อยที่มีปริมาณน้ำแข็งสูงสุด
ดร.สตีเฟน แฮรริสัน (Dr.Stephen Harrison) จากมหาวิทยาลัยเอกเซเตอร์ (University of Exeter) เสริมว่า งานวิจัยนี้มีความสำคัญ เพราะเป็นครั้งแรกที่มีการประเมินระดับน้ำทะเลโดยตรง อันเกิดการละลายของธารน้ำแข็ง นับแต่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมอย่างหนักในช่วงปี 1750-1850