กรมอุตุฯ เผยรับมือแผ่นดินไหวหน่วยงานเดียวไม่ได้ วอนทุกหน่วยงานช่วยประสานวางระบบ ชี้ก่อนเกิดเหตุมีการฝึกซ้อมหนีภัย ขณะเกิดต้องเข้าใจสถานการณ์ หลังเกิดภัยต้องมีงบฟื้นฟูระยะยาว แนะหากเกิดเหตุ ชั้นบนปลอดภัยสุด แม้รับแรงแกว่งมากสุด และงดใช้ลิฟต์
นายบุรินทร์ เวชบันเทิง ผู้อำนวยการส่วนเฝ้าระวังและติดตามแผ่นดินไหวและสึนามิ กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) เปิดเผยถึงการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติจากแผ่นดินไหว ระหว่างการบรรยาย เรื่อง “แผ่นดินไหวและการตรวจวัดในไทย” ที่ห้องประชุมชั้น 2 อาคารเจริญวิศวกรรม (ตึก 4) คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ วันที่ 21 มี.ค. 54 ที่ผ่านมา
นายบุรินทร์ กล่าวว่า การเกิดเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติในประเทศไทยนั้น หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งไม่สามารถแก้ไขหรือรับผิดชอบได้ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมาช่วยกันวางระบบให้มีความพร้อมอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นกรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรธรณี กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หน่วยงานท้องถิ่น ตำบล อำเภอ จังหวัด สถาบันทางการศึกษา หน่วยงานด้านสาธารณสุข เป็นต้น
นายบุรินทร์ กล่าวว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมรับมือแผ่นดินไหวนั้นแบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ 1.ก่อนเกิดเหตุแผ่นดินไหว 2. ขณะเกิดเหตุแผ่นดินไหว และ 3. หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว
ก่อนเกิดเหตุแผ่นดินไหวนั้นจะต้องมีระบบตรวจวัดที่ได้มาตรฐาน มีการศึกษาวิจัยด้านวิศวกรรม ด้านแผ่นดินไหว หรือจุดเกิดแผ่นดินไหว ทั้งนี้จะต้องมีการการวางแผนปฏิบัติและแบบจำลองเหตุการณ์ การฝึกซ้อม รวมถึงความแข็งแรงของอาคารอีกด้วย ส่วนขณะเกิดเหตุแผ่นดินไหวต้องใช้ความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติตนตามสถานการณ์ และหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวจะต้องเข้าถึงพื้นที่ มีการช่วยเหลือที่มีความพร้อมทั้งเครื่องมือและกำลังคน และงบประมาณเพื่อกรณีฉุกเฉินและการฟื้นฟูในระยะยาว
ทั้งนี้ นายบุรินทร์ ยังเขียนอธิบายเรื่องภัยแผ่นดินไหว ลงหนังสือ “อยู่กับภัยใกล้ตัว” ของสำนักป้องกันภัยและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ จึงได้หยิบยกประเด็นเกี่ยวกับการปฏิบัติตนเมื่อเกิดแผ่นดินไหว มารายงานให้ทุกคนได้เตรียมความพร้อมและรับมือหากเกิดภัย
ชั้นบนของอาคารปลอดภัยสุด - งดใช้ลิฟต์
กรณีความสั่นสะเทือนมากให้ปิดสวิตช์ไฟหลักและปิดถังแก๊ส ให้มุดใต้โต๊ะ เก้าอี้ พิงผนังด้านใน แล้วอยู่นิ่งๆ หากไม่มีโต๊ะ ใช้แขนปิดหน้า ปิดศีรษะ หมอบตรงมุมห้อง อยู่ให้ห่างกระจก หน้าต่าง และเลี่ยงบริเวณที่สิ่งของหล่นใส่หรือล้มทับ เช่น โคมไฟ ตู้ หากยังนอนอยู่ ให้อยู่บนเตียง ใช้หมอนปิดบังศีรษะ หลีกเลี่ยงบริเวณที่อาจมีสิ่งของหล่นใส่ อยู่บริเวณที่ปลอดภัย
ใช้ช่องประตูเป็นที่หลบภัยถ้าอยู่ใกล้ ให้อยู่ในอาคารจนกว่าการสั่นสะเทือนจะหยุด จึงออกไปภายนอกบริเวณที่ปลอดภัย เพราะอันตรายส่วนใหญ่เกิดจากสิ่งของหล่นใส่ และต้องคาดว่าหรือตระหนักเสมอว่า ไฟฟ้าอาจดับ หรือสปริงเกอร์อาจทำงาน หรือมีเสียงเตือนไฟไหม้
อย่างไรก็ดี อย่าใช้ลิฟต์ขณะมีการสั่นไหว ถ้าอยู่ในลิฟต์แล้วไม่ทราบว่าอยู่ชั้นไหน ให้กดปุ่มแล้วออกจากลิฟต์ทันที บริเวณใกล้ลิฟท์จะเป็นส่วนที่แข็งแรงของอาคารเหมาะแก่การหลบและหมอบ
ทั้งนี้ อย่ากรูกันวิ่งออกมาหน้าอาคาร เมื่อการสั่นไหวหยุดแล้ว จึงทยอยออกนอกบริเวณที่คิดว่าปลอดภัย ชั้นบนสุดของอาคารเป็นที่ปลอดภัยที่หนึ่งแต่ความสั่นสะเทือนและการโยกจะมากกว่าชั้นที่ต่ำลงมา
ถ้าเกิดไฟใหม้ในช่วงแรกร่วมด้วยให้รีบดับไฟและให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบความเสียหายของอาคารหากปลอดภัยสามารถกลับเข้าในอาคารได้ และหากเป็นแผ่นดินไหวใหญ่ให้ระลึกเสมอว่าอาจเกิดแผ่นดินไหวตามมา (After Shock) แต่มีขนาดเล็กกว่า
นอกอาคารที่โล่งแจ้งปลอดภัย
ให้อยู่ด้านนอกในที่โล่งแจ้งปลอดภัยที่สุด อยู่ให้ห่างจากอาคาร เสาไฟ สายไฟฟ้า ต้นไม้ ป้ายโฆษณา หรือสิ่งของที่อาจหล่นใส่
จอดรถที่โล่ง
ให้จอดรถเมื่อสามารถจอดได้โดยปลอดภัยและในที่ซึ่งไม่มีของหล่นใส่ อยู่ให้ห่างอาคาร ต้นไม้ ทางด่วน สะพานลอย เชิงเขา เป็นต้น
รีบนำเรือออกสู่ทะเลลึก
ความสั่นสะเทือนเนื่องจากแผ่นดินไหวไม่ทำอันตรายผู้อาศัยอยู่บนเรือ ยกเว้นในกรณีเกิดสึนามิ เรือที่อยู่ใกล้ชายฝั่งจะได้รับความเสียหายให้รีบนำเรือออกสู่ทะเลลึก
อยู่ในโรงงานห้ามใกล้สารเคมี-วัตถุระเบิด
เมื่อรู้สึกสั่นสะเทือน ให้ตั้งสติ อย่าตกใจวิ่งหนีออกนอกอาคาร ให้หมอบอยู่ใกล้เสา หรือเครื่องจักรที่แข็งแรง อยู่ให้ห่างเสาไฟฟ้า โคมไฟ สิ่งห้อยแขวน สิ่งของที่อาจล้มคว่ำ หรือหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ภาชนะที่เป็นสารเคมีอันตราย วัตถุระเบิด หรืออยู่ใกล้เครื่องจักรที่กำลังหมุนทำงาน เมื่อความสั่นสะเทือนหยุด จึงเดินออกไปที่โล่งแจ้งและติดตามข่าวสารจากทางราชการและตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้น
ติดในซากอาคารงดใช้เสียง อยู่นิ่งๆ
อย่าติดไฟ อยู่อย่างสงบ ใช้ผ้าปิดหน้า เคาะท่อ ฝาผนัง ใช้นกหวีด เพื่อเป็นสัญญาณต่อหน่วยช่วยชีวิต การตะโกนอาจสูดสิ่งอันตรายเข้าร่างกาย ต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และให้กำลังใจต่อกัน