xs
xsm
sm
md
lg

จุฬา-มหิดลย้ำเบตาดีนป้องกันไอโอดีน-131 ไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ลักษณะของเบตาดีนตามท้องตลาดที่มีจำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน
เวชศาสตร์นิวเคลียร์ จุฬา ชี้ เบตาดีนไม่สามารถป้องกันไอโอดีน-131 ได้ เช่นเดียวกับคณบดีฯเภสัชศาสตร์ มหิดล บอกใช้เบตาดีนไม่ใช่วิธีมาตรฐาน ย้ำคนไทยยังไม่จำเป็นต้องกินโพแทสเซียมไอโอโอด์

จากกรณีที่ข่าวลือแพร่สะพัดตามอินเทอร์เน็ต ว่าหากอยู่บริเวณที่มีการฟุ้งกระจายของกัมมันตรังสี หรือผู้ที่จะเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีโอกาสเสี่ยงจะได้รับสารกัมมันตรังสีนั้น ให้ใช้เบตาดีนทางบริเวณคอ หรือ กินเกลือผสมไอโอดีนที่มีขายทั่วไป จะสามารถช่วยป้องกันไม่ให้ไอโอดีน -131 เข้ามาสะสมที่ต่อมไทรอยด์ได้

ย้ำเบตาดีนป้องกันไอโอดีน-131 ไม่ได้

เรื่องนี้ รศ.นพ.ธวัชชัย ชัยวัฒนรัตน์ หัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า จากข่าวลือดังกล่าวทำให้ประชาชนตื่นตระหนกกับข่าวลือดังกล่าว แต่การใช้เบตาดีน หรือยาทาแผลที่มีไอโอดีนนำไปทาที่คอ หรือ กินเกลือผสมไอโอดีนที่มีขายทั่วไปนั้นไม่สามารถป้องกันได้

“ทั้งนี้ เพราะว่าในเบตาดีนหรือเกลือมีปริมาณไอโอดีนไม่เพียงพอที่จะทำให้ต่อมไทรอยด์อิ่มตัวได้ และหากรับรังสีเข้าไปสู่ร่างกายแล้วก็ยิ่งไม่มีผลเลย และการทาเบตาดีน หรือกินเกลือนั้นก็ไม่สามารถป้องกันอันตรายจากรังสีชนิดอื่นๆ หรือป้องกันการเกิดมะเร็งในอวัยวะอื่นๆ ได้เช่นกัน” รศ.นพ.ธวัชชัยกล่าว

ใช้โพแทสเซียมไอโอไดด์เท่านั้น

รองศาสตราจารย์จุฑามณี สุทธิสังข์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การที่มีกระแสข่าวออกมาในลักษณะนี้ อยากจะให้ทุกคนเข้าใจว่า การอาเอาเบทาดีนมาทาเพื่อป้องกันความเป็นพิษ จากไอโอดีน- 131 ที่ต่อมไทรอยด์นั้น ขอชี้แจงว่า วิธีการดังกล่าวไม่ใช่วิธีมาตรฐานในการป้องกัน แต่การป้องกันที่ได้มาตรฐานนั้นจะต้องกินไอโอดีนเสถียร หรือ โพแทสเซียมไอโอไดด์ เท่านั้น

“ถามว่าทาเบตาดีนได้ไหม ขอตอบว่า ได้ แต่สารไอโอดีนที่จะซึมเข้าร่างกายเท่าไหร่ไม่รู้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งบริเวณที่ทา อุณหภูมิห้อง หรืออุณหภูมิร่างกายอยู่ตรงไหน ซึ่งมีความไม่แน่นอนแต่ละบุคคล สารที่เข้าไปจึงไม่สามารถคาดคะเนได้ และไม่รู้ว่าต้องใช้มากแค่ไหน ถึงจะเพียงพอ จึงไม่แนะนำให้ใช้วิธีนี้” รศ.จุฑามณี กล่าว

โพแทสเซียมไอโอโอด์ป้องกันได้ 1 วัน

รศ.นพ.ธวัชชัย ยังให้ความเห็นเกี่ยวกับการกินไอโอดีนเสถียร หรือ โพแทสเซียมไอโอโอด์ ที่ช่วยป้องกันไอโอดีน-131 เข้าสะสมที่ต่อมไทรอยด์ว่า จะต้องกินก่อนที่ได้รับไอโอดีน-131 อย่างน้อย 24 ชั่วโมง จึงได้ผลดีที่สุด และไอโอดีนเสถียรนั้นมีผลป้องกันเพียง 24 ชั่วโมง จึงจำเป็นที่จะต้องกินทุก 24 ชั่วโมงหรือวันละครั้งจนกว่าจะออกจากบริเวณที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี

ทั้งนี้ ต้องกินให้มากพอที่ต่อมไทรอยด์จะอิ่มตัว และหากรับยาช้าก็มีผลป้องกันน้อยลง โดย รศ.นพ.ธวัชชัย แนะนำว่า สำหรับผู้ใหญ่ให้กินไอโอดีนเสถียรวันละ 130 มิลลิกรัม ส่วนในเด็กให้ลดปริมาณลงตามน้ำหนัก

ด้าน รศ.จุฑามณี เสริมว่า ไอโอดีนเสถียร 1 เม็ด มีปริมาณ 130 มิลลิกรัม ซึ่งถือเป็นปริมาณที่ต้องกินสำหรับผู้ที่อยู่ท่ามกลางการปนเปื้อนกัมมันตรังสี

คนไทยยังไม่จำเป็นต้องกินไอโอดีนกันรังสี

รศ.นพ.ธวัชชัย กล่าวว่า การกินไอโอดีนเสถียรนั้นไม่ปลอดภัยเสมอไป เนื่องจากบางคนอาจแพ้สารไอโอดีน และอาจทำให้ต่อมไทรอยด์หยุดชั่วคราว อีกทั้งยังส่งผลให้ต่อมไทรอยด์เป็นพิษอีกด้วย และในกรณีของผู้เป็นโรคต่อมไทรอยด์อยู่แล้ว ก่อนกินควรที่จะปรึกษาแพทย์เพื่อความปลอดภัย

เช่นเดียวกับ รศ.จุฑามณี ที่บอกว่า หากต้องเดินทางไปญี่ปุ่น 5 วัน ต้องกิน 1 เม็ดทุกวัน นอกจากนี้ หากร่างกายรับไอโอดีนเสถียรเข้าไปในปริมาณมากก็มีผลต่อต่อมไทรอยด์เช่นกัน และผู้ที่แพ้อาหารทะเล หรือเป็นโรคหัวใจ ก็ไม่ควรตัดสินใจกินเอง ควรปรึกษาแพทย์ก่อน และประชาชนในประเทศไทยนั้นยังไม่จำเป็นต้องกินไอโอดีนเสถียร เนื่องจากสถานการณ์ทางรังสีในไทยยังอยู่ในระดับปกติ
นพ.ธวัชชัย ชัยวัฒนรัตน์ หัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าเบตาดีนไม่สามารถป้องกันไอโอดีน-131 ได้
รองศาสตราจารย์จุฑามณี สุทธิสังข์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวว่ากรใช้เบตาดีนทาบริเวณคอ หรือตามร่างกายเพื่อป้องกันไอโอดีน-131 ไม่ใช่วิธีมาตรฐาน
กำลังโหลดความคิดเห็น