xs
xsm
sm
md
lg

วอนประชาชนอย่าตื่นภัยสารกัมมันตภาพรังสี มข.ชี้ห่างไกลมั่นใจอีสานไร้แผ่นดินไหวใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เวทีสาธารณะเรื่อง “ธรณีพิโรธ : พิบัติภัยสึนามิ-กัมมันตภาพรังสี บทเรียนที่คนอีสานควรรู้” จัดขึ้นที่ห้องประชุมสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ศูนย์ข่าวขอนแก่น -ม.ขอนแก่น แนะชาวอีสานอย่าตื่นตระหนกภัยกัมมันตภาพรังสี จากเหตุสึนามิญี่ปุ่น ชี้ ระยะทางห่างกันมาก ทั้งเหตุระเบิดเฉพาะกับตัวอาคารโรงปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ยกพื้นที่ภาคอีสานปลอดภัยจากแผ่นดินไหวใหญ่ แต่ยังห่วงการดึงทรัพยากรใต้ดินมาใช้อาจทำให้แผ่นดินทรุด ชี้ ทางออกหากไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในอีสาน แนะโรงไฟฟ้าจากพลังก๊าซธรรมชาติ และพลังงงานลม เป็นทางเลือก

วันนี้ (18 มี.ค.) สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) จัดเวทีสาธารณะเรื่อง “ธรณีพิโรธ : พิบัติภัยสึนามิ-กัมมันตภาพรังสี บทเรียนที่คนอีสานควรรู้” เพื่อให้ความรู้ด้านพิบัติภัยสึนามิและโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ รวมถึงการเตรียมความพร้อมป้องกันเฝ้าระวังแผ่นดินไหวในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ ห้องประชุมสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น

เวทีดังกล่าว มีนักวิชาการที่เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง อาทิผศ.พย.กฤษณา ร้อยศรี ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มข., ศ.นพ.กระแส ชนะวงศ์ ประธานมูลนิธิศูนย์เตรียมความพร้อมและป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (ADPC) ผศ.พัชร์สุ วรรณขาว อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีธรณี คณะเทคโนโลยี มข.มาร่วมเสวนาให้ความรู้

รศ.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวนอกชายฝั่งเกาะฮอนชู ประเทศญี่ปุ่น ความรุนแรงถึง 9 ริกเตอร์ จนทำให้เกิดสึนามิสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงในรอบ 140 ปีของญี่ปุ่น ทั้งเกิดผลกระทบต่อเนื่องกับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เกิดการระเบิดและมีการรั่วไหลของสารกัมมันตภาพรังสีนั้น

บทบาทของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นศูนย์กลางการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ท้องถิ่น และประชาชนในภาคอีสาน ไม่ได้นิ่งนอนใจกับเหตุการณ์ความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับประชาชนชาวญี่ปุ่น จึงมอบหมายให้สถาบันวิจัยและพัฒนาจัดเวทีสาธารณะ “ธรณีพิโรธ : พิบัติภัยสึนามิ-กัมมันตภาพรังสี บทเรียนที่คนอีสานควรรู้” เพื่อให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับประชาชนในภูมิภาค

รศ.กิตติชัย กล่าวต่อว่า ผลกระทบกรณีจากโรงปฏิกรณ์นิวเคลียร์ระเบิดนั้น สารกัมมันตภาพรังสีที่แผ่กระจายออกมา ไม่น่าจะส่งผลกระทบถึงประเทศไทย เนื่องจากการระเบิดเกิดขึ้นเฉพาะตัวอาคารโรงปฏิกรณ์นิวเคลียร์เท่านั้น ตัวแกนปรมาณูไม่ได้ระเบิด ดังนั้น ความรุนแรงของการแพร่กระจายสารกัมมันตภาพรังสี จึงไม่รุนแรง ทั้งประเทศไทยอยู่ห่างจากที่ตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มากกว่า 4,000 ไมล์ ไม่น่าจะแพร่ขยายมาถึงได้

ขณะเดียวกัน บทเรียนเหตุระเบิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ประเทศรัสเซีย เหตุระเบิดครั้งนั้นสร้างความเสียหายกับแกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั้งหมด แต่การฟุ้งกระจายสารกัมมันตภาพรังสี แพร่กระจายวงจำกัดอยู่รอบโรงไฟฟ้าและประเทศรัสเซียเท่านั้น ไม่ขยายพื้นที่ไปถึงประเทศข้างเคียงในกลุ่มสหภาพยุโรป เหตุการณ์ระเบิดอาคารโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่น น่าจะควบคุมได้ในเร็ววันนี้

อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า กรณีพิบัติภัยแผ่นดินไหวที่รุนแรง คงไม่เกิดขึ้นกับภาคอีสาน เนื่องจากภูมิประเทศไม่ได้ตั้งอยู่ขอบเปลือกโลก เหมือนกับประเทศญี่ปุ่น แต่จะมีผลกระทบทางอ้อม หากมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น สปป.ลาว หรือที่ จ.เชียงใหม่ จะมีผลกระทบแผ่นดินไหวขึ้นในภาคอีสานเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตามการดึงทรัพยากรธรรมชาติชั้นใต้ดิน มาใช้จำนวนมาก เช่น โปรแตส หรือก๊าซธรรมชาติจ อาจทำให้แผ่นดินทรุดตัวลงได้

ทั้งนี้ ตามแผนการจัดหาพลังงานไฟฟ้าใช้ในประเทศ ที่ครม.อนุมัติในหลักการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5 แห่ง 1 ในนั้นอยู่ที่ อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี ในอีก 13 ปีข้างหน้านั้น หากประชาชนหวาดกลัวผลกระทบจากสารกัมมันตภาพรังสี ไม่ต้องการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ความต้องการพลังงานไฟฟ้าที่สูงขึ้น จะต้องหาโรงไฟฟ้าจากพลังงานชนิดอื่นทดแทน

ศักยภาพการผลิตไฟฟ้าที่เหมาะสมในภาคอีสาน ยังมีวัตถุดิบชนิดที่สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าได้หลากชนิด เช่น ก๊าซธรรมชาติ ปัจจุบันมีก๊าซธรรมชาติจากแหล่งภูฮ่อม อ.หนองแสง จ.อุดรธานี มาใช้ผลิตไฟฟ้า หรือพลังงานลม น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีในการลงทุนผลิตพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคอีสานในอนาคตได้

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้เปิดรับบริจาคเงินจากบุคลากร นักศึกษา และประชากรในมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติเหตุการณ์สึนามิ ประเทศญี่ปุ่น ในนาม มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนักเรียนเก่าญี่ปุ่น ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้บริจาคเป็นทุนเบื้องต้นจำนวน 1 แสนบาท

นักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว และสารกัมมันตภาพรังสี มาร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้
รศ.กิตติชัย  ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น
กำลังโหลดความคิดเห็น