โดยปกติปรากฏการณ์แสงอาทิตย์ลอดผ่านประตูปราสาทหินพนมรุ้ง 15 ช่อง จะเกิดขึ้นปีละ 4 วัน แต่ในอีก 25,000 ปี ปรากฏการณ์ที่ดึงให้คนจากทั่วสารทิศไปยลความงามของความลงตัวระหว่างปรากฏการณ์ธรรมชาติและสถาปัตยกรรมโบราณนี้จะเหลือให้ชมแค่ปีละ 2 เท่านั้น
น.อ.ฐากูร เกิดแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (ลีซา) ได้อธิบายว่า การสร้างสถาปัตยกรรมของปราสาทหินพนมรุ้งนั้น เป็นการสร้างให้ตัวปราสาทตั้งอยู่ในแนวของทิศตะวันออกและทิศตะวันตกพอดี เพื่อให้เกิดแสงอาทิตย์ขึ้นและลงผ่านลอดช่องประตู หรือสร้างตาม “วันวิษุวัต” (equinox)
ทั้งนี้ ใน 1 ปี จะมีแสงอาทิตย์ลอดผ่านประตูปราสาทหินพนมรุ้ง 2 ครั้ง และแสงอาทิตย์จะลอดผ่านทั้งขึ้นและลง ในวันเดียวกัน แต่เนื่องจากแกนโลกส่ายอยู่ตลอดเวลาทำให้ตัวปราสาทนั้นเอียงจากแนวทิศตะวันออกและตะวันตกไป 5-6 องศา ทำให้การขึ้นและลงของดวงอาทิตย์นั้นเปลี่ยนแปลงไป เราจึงได้เห็นปรากฏการณ์แสงอาทิตย์ลอดผ่านประตูทั้ง 15 ช่องถึง 4 ครั้ง
อย่างไรก็ดี เมื่อครบ 26,000 ปี นับจากการสร้างปราสาทหินจะทำให้เกิดปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ขึ้นและลง ลอดผ่านประตู 15 ช่อง ที่ปราสาทหินพนมรุ้งในวันเดียวกันหรือจะเหลือวันเกิดปรากฏการณ์นี้เพียงแค่ 2 วัน
ตอนนี้การสร้างปราสาทผ่านมาแล้วประมาณ 1,000 ปี แต่หากครบกำหนดดังกล่าว นอ.ฐากูรให้ความเห็นว่า อาจไม่มีปราสาทหินพนมรุ้งให้เห็นแล้ว พร้อมทั้งบอกด้วยว่า การสร้างปราสาทหินพนมรุ้งนั้น เกิดจากความเชื่อของคนสมัยโบราณ ที่นับถือพระอาทิตย์ ซึ่งถือเป็นการให้พลัง ให้ชีวิต โดยเปรียบเสมือนเป็นพระเจ้า
ด้าน รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ได้อธิบายถึงการใช้หลักสถาปัตยกรรมสร้างตัวประสาทสอดรับหลักการของดาราศาสตร์ เพื่อให้ทิศทางของแสงอาทิตย์ผ่านประตู 15 ช่องพอดีว่า ดวงอาทิตย์นั้นจะโคจรตามเส้น "สุริยวิถี" (Ecliptic) ซึ่งใน 1 ปีจะมี 2 วัน ที่ดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรโลก ทำให้เวลากลางคืนและกลางวันเท่ากันพอดี หรือที่เรียกว่า “วันวิษุวัต” คือ วันที่ 21 มี.ค. เรียกว่า "วันวสันตวิษุวัต" (Vernal equinox) และวันที่ 22 ก.ย. เรียกว่า "วันศารทวิษุวัต" (Autumnal equinox)
ในส่วนสถาปัตยกรรมของปราสาทหินพนมรุ้งนั้น เป็นการสร้างจากแนวทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก อยู่ในตำแหน่งเอียงจากแกนโลกแนวนอน 5 องศา จึงทำให้ในวันปกติ ดวงอาทิตย์ขึ้นและลง ผ่านช่องประตูของปราสาทหินไม่ตรงกัน
ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ดังกล่าว มีความสัมพันธ์กับวันวิษุวัต คือ การขึ้นและลงอยู่ในช่วงกึ่งกลางระหว่างวันวิษุวัตพอดี ดังนั้น การขึ้นและลงของดวงอาทิตย์ที่ผ่านประตู 15 ช่อง จึงไม่สอดรับกัน จึงทำให้ใน 1 ปี นั้น จะมี 4 ครั้ง ที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นตรงช่องประตูทั้ง 15 ช่อง คือวันที่ 3-5 เม.ย. และ 8-10 ก.ย. และดวงอาทิตย์ลงลับขอบฟ้าตรงช่องประตูทั้ง 15 ช่อง ในช่วงวันที่ 6-8 มี.ค. และ 5-7 ต.ค.
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ฯ กล่าวว่า หากจะสร้างอาคาร ปราสาท หรือสถาปัตยกรรมต่างๆ โดยสร้างให้อยู่ในตำแหน่ง เอียงจากแนวทิศตะวันออกไปทิศตะวันตกไม่เกิน 23.5 องศา ใน 1 ปี เราจะได้เห็นดวงอาทิตย์ผ่านช่องประตูหรือหน้าต่างทั้งหมด 4 ครั้งเหมือนกัน แต่หากจะสร้างให้แสงอาทิตย์ลอดผ่านประตูหรือหน้าต่างในวันเดียวกับประสาทหินพนมรุ้ง ต้องสร้างให้เอียงจากแนวทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก 5 องศา
ส่วนอีก 100-200 ปีข้างหน้า ทิศทางของแสงที่ลอดผ่านประตูปราสาทจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย เพราะปราสาทได้ถูกสร้างให้สอดรับกับแนวการขึ้นลงของดวงอาทิตย์อยู่แล้ว
“ปราสาทหินพนมรุ้ง” นั้นสร้างขึ้นตามความเชื่อของศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ลัทธิดังกล่าวนั้นนับถือพระศิวะเป็นเทพเจ้าสูงสุด ดังนั้นเขาพนมรุ้งจึงเปรียบเสมือนเขาไกรลาสที่ประทับของพระศิวะ อดีตกาลเชื่อกันว่าแสงที่สอดส่องมาที่ศิวลึงค์ ที่อยู่ตรงกลางปราสาทหินพนมรุ้ง ที่เปรียบเสมือนองค์พระศิวะ ซึ่งตั้งอยู่ภายในปรางค์ประธานของปราสาทพนมรุ้ง หากใครพบเห็นแสงดังกล่าวจะเป็นการเสริมพลังชีวิต และเป็นสิ่งมงคลกับตนเองและครอบครัว
หากแต่ในแง่มุมวิทยาศาสตร์นั้น รศ.บุญรักษา บอกว่าเป็นเรื่องราวของการบอกฤดูกาล เนื่องจากสมัยก่อนไม่มีปฏิทิน จึงต้องใช้ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นตัวช่วย แต่ในปัจจุบันฤดูกาลก็ไม่สอดคล้องกับการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ เนื่องจากโลกนั้นได้เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาวะโลกร้อนที่กำลัง ประสบปัญหาอยู่ เชื่อว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้จะทำให้ทุกคนตระหนักและหันมารักษาธรรมชาติให้คงอยู่มากขึ้น
“ปรากฏการณ์ดังกล่าวนอกจากจะให้ความสวยงาม จะทำให้ประชาชนสนใจและตื่นตัวกับปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์ จนส่งผลให้ได้เกิดการเรียนรู้และหาคำตอบในที่สุด” รศ.บุญรักษา กล่าวถึงประโยชน์ที่ได้รับ
นอกจากนี้ นอ.ฐากูรก็ยังได้กล่าวทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า ปรากฏการณ์ธรรมชาติใดๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นฝนดาวตก หรือแสงอาทิตย์ลอดผ่าน 15 ช่องประตูที่ประสาทหินพนมรุ้ง นอกจากความสวยงามที่ได้เห็นแล้วนั้น คนที่เห็นควรศึกษาและลองคิดให้ลึกมากขึ้น เพราะจะทำให้รู้ถึงภูมิปัญญาของสมัยอดีตกาล อีกทั้งยังได้ทราบถึงที่มาที่ไปว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ตลอดจนทำให้มีความสนุกกับการเรียนรู้ในการชมปรากฏการณ์อีกด้วย
อ่านเพิ่มเติม
- ผู้ว่าฯบุรีรัมย์ชวนเที่ยวชมมหัศจรรย์ดวงอาทิตย์ขึ้นตรง 15 ประตู “พนมรุ้ง”