xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอยมรดกโลก ตอนจบ

เผยแพร่:   โดย: เทพมนตรี ลิมปพยอม

ตามที่ผมได้เสนอบทความย้อนรอยไปทั้งหมด 3 ตอน ย่อมเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า

1. การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารให้เป็นมรดกโลกของคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 32 นั้นเป็นไปด้วยความไม่ชอบและผิดประเภทของการขึ้นทะเบียน เพราะปราสาทพระวิหารถือเป็นศาสนสถานที่ประกอบขึ้นจากคติความเชื่อในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวะนิกาย (พระศิวะเป็นเทพเจ้าสูงสุด) มีการวางแผนผังอย่างเป็นระเบียบ โดยเริ่มต้นจากความเชื่อที่ว่าเมื่อพระศิวะมีวิมานอวิมุกติบนยอดเขาพระสุเมรุ (บางทีให้เป็นเขาไกรลาสซึ่งความจริงแล้วคนละภูเขากัน) บนสรวงสวรรค์ที่มองไม่เห็น มนุษย์ในฐานะเป็นสาวกและเป็นศาสนิกจึงต้องสร้าง “วิมานทิพย์” เพื่อเป็นที่ประทับของพระศิวะบนโลกมนุษย์ “วิมาน” อันเป็นที่ประดิษฐานแท่นฐานโยนีธรณะและศิวลึงค์จึงถูกสร้างขึ้นโดยการออกแบบของ “พราหมณ์” อันเป็นชนชั้นที่ได้รับสิทธิในการออกแบบและสร้างวิมาน.

ดังนั้นองค์ประกอบของวิมานจึงมีสถาปัตยกรรมหลายประเภทอยู่ภายในด้วย โดยในแต่ละประเภทนี้เป็นองค์ประกอบที่ทำให้ “วิมาน” มีความสมบูรณ์แบบมากขึ้น การออกแบบดังกล่าวเริ่มจากบันไดสิงห์ บันไดและสะพานนาค ชานชลารูปกากบาท โคปุระ 3 ชั้น ทางเดินที่มีเสานางเรียง อาคารประกอบพิธีกรรม เช่น การบูชาไฟ อาคารหอพระสมุด อาคารสำหรับบูชาและตั้งรูปเคารพ และตัววิมานที่ประกอบไปด้วย มณฑป มุขกระสัน และปรางค์ประธาน (ครรภะ). ดังนั้นการที่คณะกรรมการมรดกโลกมีมติให้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเฉพาะตัวปราสาทจึงเป็นการทำลายประเภทมรดกโลกที่ตนเองกำหนดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การพิจารณาการขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทจึงยอมตามหลักวิชาการในโลกสากลมิได้

2. ประเทศไทยเคยสนับสนุนการขึ้นทะเบียนและภายหลังไม่สามารถสนับสนุนได้เพราะคำสั่งของศาลปกครองได้สั่งเรื่องนี้รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยพื้นที่รอบตัวปราสาทเป็นของไทย การสูญเสียดินแดนเป็นเรื่องใหญ่จึงปล่อยให้กัมพูชานำพื้นที่รอบตัวปราสาทไปขึ้นทะเบียนมิได้

3. ขบวนการฉ้อฉลทั้งฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำที่พยายามบิดเบือนข้อมูลและขัดคำสั่งของศาลปกครองได้ได้จัดจ้างให้กลุ่มนักวิชาการ 7.1 ล้านทำการศึกษาโดยใช้ขบวนการวิจัยบังหน้าแต่ข้อมูลอันเป็นเท็จของฝ่ายกัมพูชา อีกทั้งข้าราชการประจำแอบให้ข้อมูลและสร้างหลักฐานเท็จเพื่อให้ฝ่ายกัมพูชาได้เปรียบ

4. คณะกรรมการมรดกโลกออกมติขัดแย้งกับความเป็นจริง และพยายามช่วยเหลือกัมพูชาโดยไม่คำนึงถึงข้อความในอนุสัญญาที่ตนเองเป็นผู้กำหนด โดยใช้วิธีการสร้างหลักฐานเท็จ ปกปิดข้อมูล บิดเบือนหลักการทางวิชาการอย่างเห็นได้ชัด นับตั้งแต่มติครั้งที่ 32-34

5. ประเทศของเรามีคนเห็นแก่ประโยชน์ของตัวเองมากกว่าประโยชน์ชาติ

ในตอนท้ายของบทความที่มีความยาวหลายตอนนี้ ผมขอแสดงความคิดเห็นว่า ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เราไม่ควรจะสูญเสียดินแดน การสูญเสียดินแดนเป็นเรื่องใหญ่ เราจะปล่อยให้ประวัติศาสตร์จารึกหรือว่า คนไทยเทิดทูนสถาบันโดยการปล่อยให้ศัตรูเข้ายึดครองจนเกิดขบวนการสูญเสียดินแดน
กำลังโหลดความคิดเห็น