“ลีโอนาร์โด” โมดูลถาวรชิ้นสุดท้ายของยุโรป ประกอบเข้ากับสถานีอวกาศแล้ว หลัง “ดิสคัฟเวอรี” นำส่งโมดูลทรงกระบอกสำหรับใช้เป็นโกดังอวกาศ
นักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station) ใช้แขนกลเพื่อขนย้ายโมดูล “ลีโอนาร์โด” (Leonardo) ที่กระสวยอวกาศ “ดิสคัฟเวอรี” (Discovery) ลำเลียงขึ้นไป แล้วติดเข้ากับสถานีอวกาศที่โคจรอยู่ที่ระดับความสูง 350 กิโลเมตรจากพื้นโลก ซึ่งบีบีซีนิวส์รายงานว่า โมดูลดังกล่าวจะถูกใช้เป็นโกดังพิเศษบนสถานีอวกาศ และได้รับการออกแบบให้มีฉนวนพิเศษป้องกันการกระแทกของอุกกาบาตลูกเล็กๆ
โมดูลลีโอนาร์โดนี้เป็น 1 ใน 3 โมดูลเอนกประสงค์มัลติเพอร์โพสโลจิสติกส์ (Multipurpose Logistics Modules) หรือเอ็มพีแอลเอ็มส์ (MPLMs) ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของ 2 องค์กรอวกาศคือ องค์การอวกาศอิตาลี (Italian space agency: Asi) และองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา)
ในความร่วมมือนี้ทำให้อิตาลีได้โควตาที่นั่งสำหรับนักบินอวกาศในการเดินทางไปกับกระสวยอวกาศ โดยในเดือน เม.ย. โรเบอร์โต วิตตอรี (Roberto Vittori) นักบินอวกาศอิตาลีจะเดินทางไปสถานีอวกาศนานาชาติพร้อมกับกระสวยอวกาศเอนเดฟเวอร์ (Endeavour) ซึ่งเป็นเที่ยวบินสุดท้ายของกระสวยอวกาศนาซาด้วย
โมดูลลีโอนาร์โดสร้างขึ้นที่เมืองตูรินในอิตาลีโดย บริษัทเธลีส อาเลเนีย สเปซ (Thales Alenia Space) ซึ่งห้องปรับความดันกว่าครึ่งของสหรัฐฯ บนสถานีอวกาศ สร้างขึ้นโดยบริษัทเดียวกันนี้ รวมถึงตู้เย็นอวกาศโจฮันเนส เคปเลอร์ (Johannes Kepler) โหนด 2 (Nodes 2) และโหนด 3 (Nodes 3) ของโมดูลห้องปฏิบัติการโคลัมบัสของยุโรป และหน้าต่างสังเกตการณ์คูโพลา (Cupola) ก็เป็นผลงานของบริษัทอิตาลีแห่งนี้
โครงการยักษ์ต่อไปของเธลีส อาเลเนีย สเปซ คือการสร้างยานกลขนส่ง “ซิกนัส” (Cygnus) สำหรับสถานีอวกาศ ซึ่งร่วมมือกับ บริษัท อเมริกันออร์บิทัล ไซน์ คอร์ปอเรชัน (American Orbital Sciences Corporation) โดยบริษัทอิตาลี จะพัฒนาส่วนบรรทุกปรับความดันด้านหน้าของยาน ซึ่งจะบรรทุกสัมภาระขึ้นไปยังสถานีอวกาศ ส่วนบริษัท อเมริกันพัฒนาระบบขับเคลื่อนและระบบควบคุมด้านหลัง รวมถึงจรวดสำหรับขนส่งยานขึ้นสู่วงโคจร โดยยานซิกนัสลำแรกจะถูกส่งขึ้นไปก่อนปลายปีนี้ .