อาจฟังดูสยอง แต่หลักฐานที่ขุดพบทางตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษชี้ว่า ชนชาติผู้ดีในยุคโบราณนั้น ใช้กะโหลกคนเป็นภาชนะในทางพิธีกรรม และยังกินเนื้อคนเป็นเรื่องปกติ
กะโหลก 3 ใบอายุกว่า 14,700 ปีพบอยู่ในถ้ำกัฟ (Gough's Cave) ที่ซัมเมอร์เซ็ตของอังกฤษ โดยบีบีซีนิวส์รายงานว่า รูปแบบของกะโหลกที่พบนั้น อธิบายได้อย่างมีเหตุผลอย่างเดียวคือเป็นการออกแบบเพื่อใช้ในการบรรจุของเหลวเท่านั้น ซึ่งนักวิทยาศาสตร์จากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ (Natural History Museum) ของลอนดอน กล่าวว่า “ถ้วยกะโหลก” นั้นน่าจะถูกใช้เพื่อพิธีกรรมบางอย่าง
“ถ้าคุณลองดูทั่วโลก จะพบว่ามีตัวอย่างของถ้วยกะโหลกอยู่อีกมาก ในวัฒนธรรมทิเบต ในฟิจิ ที่โอเชียเนีย และในอินเดียด้วย ซึ่งล้วนถูกใช้เป็นถ้วยสำหรับดื่มน้ำ และเพราะความคล้ายคลึงกับกะโหลกที่พบในถ้ำกัฟกับตัวอย่างที่อื่น เราจึงจินตนาการว่ามนุษย์โบราณกลุ่มนี้ใช้ทำในสิ่งเดียวกัน” ดร.ซิลเวีย เบลโล (Dr.Silvia Bello) นักบรรพชีวินวิทยาและหัวหน้านักวิจัยที่ศึกษาเรื่องนี้กล่าว โดยผลงานวิจัยของเธอได้ตีพิมพ์ลงวารสารพีแอลโอเอสวัน (PLoS One)
ถ้ำกัฟนั้น ตั้งอยู่ในหุบผาแห่งเมืองเชดดาร์ (Cheddar Gorge) ซึ่งเป็นหุบผาทางขอบทิศใต้ของเนินเขาเมนดิพ (Mendip Hills) ซึ่งนักสืบบรรพชนได้เริ่มค้นหาร่องรอยของบรรพชนที่นั่นมาเป็นเวลาร่วมร้อยปี และหลายๆ การค้นพบได้นำไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ และที่บริเวณดังกล่าวมีการค้นพบโครงกระดูกผู้ชายที่สมบูรณ์ “มนุษย์เชดดาร์” (Cheddar Man) เมื่อปี 1903 โดยอายุของโครงกระดูกดังกล่าวมีอายุประมาณ 10,000 ปี
สำหรับกะโหลกซึ่งเป็นประเด็นในงานวิจัยนี้ มีอายุอยู่ในยุคต้นๆ ประวัติศาสตร์ของเกาะอังกฤษ (British Isles) ซึ่งเป็นช่วงอบอุ่นสั้นๆ ระหว่างยุคน้ำแข็งที่ยอมให้มนุษย์อาศัยอยู่ในยุโรปตอนใต้ได้ผจญภัยขึ้นไปตอนเหนือเข้าสู่ภูมิประเทศที่ไม่เอื้อต่อการดำรงชีวิตอย่างที่สุด
มนุษย์โบราณเหล่านั้นคือ “มนุษย์โครมันยอง” (Cro-Magnons) ตามที่เราเรียกกันในปัจจุบัน พวกเขาดำรงชีวิตโดยล่าสัตว์ด้วยเชาว์ปัญญา และดูเหมือนว่าเมื่อถึงคราวจำเป็นหรือมีโอกาสพวกเขาก็กินเนื้อมนุษย์ด้วย
ถ้ำกัฟโดดเด่นในการเป็นแหล่งเก็บกระดูกมนุษย์ที่ถูกฆ่าอย่างโหดร้ายเพื่อขูดเอาไขกระดูก ในแบบเดียวกับที่พบในกระดูกสัตว์ซึ่งถูกกระทำในลักษณะเดียวกันนี้ และพบอยู่ในที่เดียวกัน ซึ่งในการรับรู้ของคนยุคปัจจุบันการกินเนื้อคนเป็นเรื่องน่ารังเกียจ แต่ ดร.เบลโล บอกว่ามนุษย์โบราณเหล่านี้มีชีวิตอยู่ในยุคที่แตกต่างจากเรา
“พวกเขาเป็นเพียงมนุษย์กลุ่มหนึ่ง ที่ออกไปข้างนอก ล่าสัตว์ ชำแหละและกินสิ่งที่พวกเขาล่ามา และพวกเขาก็มีทักษะสูงในสิ่งที่พวกเขาทำ แต่นั่นคือวิธีที่ทำให้พวกเขาอยู่รอดมาได้ ฉันคิดว่าการผลิตถ้วยกะโหลกนี้เพื่อพิธีกรรมทางศาสนา หากมีวัตถุประสงค์ง่ายๆ เพื่อกะเทาะกะโหลกแล้วกินสมองข้างในแล้วล่ะก็ มีวิธีง่ายกว่าอีกมากที่จะทำ”
“หากให้ความสำคัญที่อาหาร กะโหลกก็จะถูกทำให้แตกมาก แต่นี่คุณจะเห็นว่าพวกเขาพยายามที่จะรักษาสภาพกะโหลกให้ได้มากที่สุด รอยตัดบอกเราว่า พวกเขาพยายามที่จะทำความสะอาดกะโหลก เอาเศษชิ้นเนื้อเยื่ออ่อนออกให้หมดจด จากนั้นพวกเขาก็จะได้ใช้งานอย่างเต็มที่ พวกเขาอาจจะประดิษฐ์อะไรบางอย่างก็ได้” ดร.เบลโลให้ความเห็น
ด้าน ศ.คริส สตริงเกอร์ (Prof.Chris Stringer) ผู้ร่วมวิจัยจากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ ได้ช่วยขุดถ้วยกะโหลกใบหนึ่งเมื่อปี 1987 และมีส่วนร่วมในงานตีพิมพ์วิจัยให้ความเห็นว่า กระบวนทำชิ้นส่วนมนุษย์นี้แพร่หลายแค่ไหน แต่มันก็เป็นไปไม่ได้เลยที่จะรู้ว่าถ้วยกะโหลกถูกเอาไปใช้อย่างไรหลังจากนั้น หากแต่ตัวอย่างที่เก็บได้ล่าสุดนั้นชี้ว่าอาจจะใช้ใสเลือด ไวน์หรืออาหารระหว่างประกอบพิธีกรรม
ด้วยอายุที่มากถึง 14,700 ปี ถ้วยกะโหลกจากถ้ำกัฟจึงเป็นตัวอย่างของใช้ประเภทเดียวกันที่เก่าแก่ที่สุดในโลก และทางพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวางแผนที่จะจัดแสดงแบบจำลองกะโหลกชิ้นหนึ่งในตัวอย่างที่พบในเดือน มี.ค.นี้ เพื่อให้ผู้เยี่ยมชมได้เข้าใจชาวอังกฤษโบราณอย่างลึกซึ้ง