นักวิชาการจากภาครัฐ เอกชน และกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม หรือ “สยามเอ็นซิส” ผนึกกำลังร่วมกันศึกษาและค้นพบสัตว์ในกลุ่มจิ้งจก/ตุ๊กแก 10 ชนิดใหม่ของโลก อาทิ “ตุ๊กกายดำนุ้ย” “จิ้งจกนิ้วยาวนราธิวาส” เผยทั้งหมดเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นพบได้ในไทยเท่านั้น
นายนณณ์ ผาณิตวงศ์ นักศึกษาปริญญาเอก คณะวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม หรือ สยามเอ็นซิส เปิดเผยผ่านศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช. ว่า ในรอบปี 2553 ที่ผ่านมา ได้มีการค้นพบสัตว์ในกลุ่มจิ้งจก/ตุ๊กแกชนิดใหม่ของโลกมากถึง 10 ชนิด
ทั้งนี้ การค้นพบดังกล่าวเป็นความร่วมมือของนักอนุกรมวิธานจากหลายหน่วยงาน อาทิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมประมง กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ องค์การสวนสัตว์ และ กลุ่มสยามเอ็นสิส ในการสำรวจศึกษาสัตว์เลื้อยคลานและสะเทินน้ำสะเทินบกของประเทศไทย โดยจิ้งจก/ตุ๊กแกที่ค้นพบใหม่ทั้ง 10 ชนิด ได้แก่
1.ตุ๊กกายถ้ำเหนือ หรือ ตุ๊กกายดำนุ้ย (Cyrtodactylus dumnuii) มีลายสีน้ำตาลเข้มไม่เป็นระเบียบคาดขวางลำตัว พบในถ้ำทางภาคเหนือของประเทศไทย ชื่อวิทยาศาสตร์ถูกตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่นาย โสภณ ดำนุ้ย ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
2.ตุ๊กกายถ้ำปล้องทอง (Cyrtodactylus auribalteatus) จัดเป็นตุ๊กกายที่มีความสวยงามมากชนิดหนึ่งมีลายคล้ายใส่เข็มขัด พบในถ้ำในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จ.พิษณุโลก
3.ตุ๊กแกถ้ำหินปูน หรือ ตุ๊กแกถ้ำอาจารย์วีรยุทธ (Gekko lauhachindai) พบในถ้ำในเขตจังหวัดสระบุรี ลักษณะเด่นคือ ที่หลังมีลายคล้ายอักษร " T " ชื่อวิทยาศาสตร์ ถูกตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ รศ.ดร.วีรยุทธ เลาหะจินดา วิทยาลัยสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
4.จิ้งจกนิ้วยาวอาจารย์ธัญญา (Cnemaspis chanardi) พบในเขตจังหวัดสุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ พังงา ตรัง และสตูล ชื่อวิทยาศาสตร์ถูกตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่นาย ธัญญา จั่นอาจ นักวิจัยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งในอดีตจิ้งจกนิ้วยาวชนิดนี้เคยถูกจำแนกเป็นจิ้งจกนิ้วยาวสยาม (Cnemaspis siamensis)
5.จิ้งจกนิ้วยาวคลองนาคา (Cnemaspis vandeventeri) พบในเขตจังหวัด ระนอง พังงา และ ภูเก็ต
6.จิ้งจกนิ้วยาวหมอสุเมธ (Cnemaspis kamolnorranathi) ปัจจุบันพบเฉพาะในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี ชื่อวิทยาศาสตร์ตั้งให้เป็นเกียรติแก่ น.สพ.สุเมธ กมลนรนาถ ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
7.จิ้งจกนิ้วยาวหัวสีส้ม (Cnemaspis huaseesom) พบในเขตจังหวัดกาญจบุรี เป็นชนิดที่มีหัวและหางสีส้มสวยงามมากในตัวผู้
8.จิ้งจกนิ้วยาวคอจุด (Cnemaspis punctatonuchalis) ลักษณะเด่นคือ บริเวณด้านข้างของคอมีจุดสีดำขนาดใหญ่และมีจุดสีขาวที่กลางจุดดำ ในปัจจุบันพบเฉพาะเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
9.จิ้งจกนิ้วยาวนราธิวาส (Cnemaspis narathiwatensis) ลักษณะเด่น มีเส้นสีอ่อนพาดกลางหลัง เกล็ดที่เป็นตุ่มนูนบนหลังเรียงแถวเป็นระเบียบ พบเฉพาะในเขตจังหวัดนราธิวาส และยะลา สุดท้าย
10.จิ้งจกนิ้วยาวนิยมวรรณ (Cnemaspis niyomwanae) หน้ามีขีดสีเหลืองตามยาว 1 คู่ มีสีสันสวยงามมาก พบเฉพาะในเขตจังหวัดตรัง และสตูล
สิ่งมีชีวิตทั้ง 10 ชนิดนี้ล้วนเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นที่พบได้ในประเทศไทยเท่านั้น (ตุ๊กกาย คือชื่อสามัญของสัตว์เลื้อยคลานที่มีรูปร่างคล้ายตุ๊กแก แต่มีขนาดเล็กกว่า อยู่ในวงศ์ Gekkonidae เช่นเดียวกับตุ๊กแกและจิ้งจก แต่อยู่ในสกุล Cyrtodactylus มีนิ้วเท้าและเล็บที่แหลมยาว ไม่มีปุ่มดูดจึงไม่สามารถดูดติดเกาะผนังได้เหมือนตุ๊กแกและจิ้งจก ใช้ได้เพียงแค่ปีนป่ายเหมือนกิ้งก่าเท่านั้น)
นายนณณ์ กล่าวว่า การค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ครั้งนี้ นอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ในกลุ่ม จิ้งจก/ตุ๊กแก ในประเทศไทย ที่ปัจจุบันมีมากถึง 60 ชนิดแล้ว ยังนับเป็นนิมิตรหมายอันดี ที่นักอนุกรมวิธานไทยจากหลายหน่วยงานได้เข้ามาทำงานร่วมกัน ตั้งแต่การสำรวจ ศึกษา รวมถึงขั้นตอนสำคัญคือการจำแนกสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ ที่จะต้องมีการบรรยายรูปร่าง ลักษณะของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ ว่าแตกต่างจากชนิดที่เคยค้นพบแล้วอย่างไร
จิ้งจก/ตุ๊กแกที่ค้นพบใหม่ทั้ง 10 ชนิดนี้ ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการผ่านการตีพิมพ์ในวารสาร ZOOTAXA วารสารระดับนานาชาติที่ตีพิมพ์รายงานการค้นพบสัตว์สายพันธุ์ใหม่ของโลกเรียบร้อยแล้ว ซึ่งถือเป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งของวงการศึกษาสัตว์เลื้อยคลานและสะเทินน้ำสะเทินบกในประเทศไทย
อย่างไรก็ตามทุกวันนี้สัตว์ในกลุ่มจิ้งจก/ตุ๊กแก ประสบปัญหาการถูกรุกรานอย่างมาก ทั้งจากการถูกบุกรุกทำลายถิ่นอาศัย เช่นการระเบิดภูเขาหินปูนซึ่งเป็นที่อยู่ของจิ้งจก/ตุ๊กแกหลายชนิด รวมถึงการถูกสัตว์ต่างถิ่น เช่น แมวบ้าน ล่าจับจิ้งจก/ตุ๊กแกของไทยมาเป็นอาหาร อีกทั้งสัตว์กลุ่มนี้ยังเป็นที่ต้องการของผู้นิยมเลี้ยงสัตว์แปลกทั้งในและต่างประเทศ ทำให้มีการลักลอบค้าขายอยู่จำนวนมากด้วย
“สิ่งที่เป็นห่วงขณะนี้ คือ สัตว์ที่ถูกค้นพบใหม่จะยังไม่มีชื่ออยู่ในกลุ่มสัตว์คุ้มครองในทันที จึงกลายเป็นช่องว่างให้พ่อค้าลักลอบจับสัตว์กลุ่มนี้ออกมาป้อนตลาดอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงอยากเสนอภาครัฐให้มีการปรับกฎหมายคุ้มครองให้สามารถเพิ่มเติมรายชื่อสิ่งมีชีวิตที่ถูกค้นพบใหม่เข้าสู่ระบบอย่างรวดเร็ว เพื่อลดโอกาสที่สัตว์จะสูญพันธุ์ได้มากยิ่งขึ้น” นายนณณ์ กล่าวทิ้งท้าย