xs
xsm
sm
md
lg

Herodotus บิดาของประวัติศาสตร์ หรือบิดาแห่งการโกหกกันแน่

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

รูปปั้นจำลองของ Herodotus ตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Ancient Agora Museum ในกรุงเอเธนส์
ปราชญ์ตะวันตกยกย่อง Homer ว่าเป็นบิดาแห่งกาพย์กลอน นับถือ Demosthenes ว่าเป็นบิดาแห่งสุนทรพจน์ และชื่นชม Herodotus ว่าคือบิดาแห่งประวัติศาสตร์ เพราะ Herodotus เป็นผู้ริเริ่มกระบวนการบันทึกเหตุการณ์ และกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ รวมถึงการนำนิทาน เรื่องเล่า และตำนานมาให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ เข้าใจ และให้อนุรักษ์ความรู้เหล่านั้นไม่ให้สูญหายไปจากโลก

Herodotus เกิดที่เมือง Halicarnassus ใน Asia Minor เมื่อประมาณ 484 ปีก่อนคริสตกาล ในสมัยที่ Herodotus ยังอยู่ในวัยเยาว์ เมือง Halicarnassus มีกษัตริย์ชื่อ Lygdanis ปกครอง เพราะพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่โหดร้าย และทารุณ Herodotus กับลุงชื่อ Panyasis จึงได้เข้าร่วมขบวนต่อต้านการปกครองของ Lygdanis เมื่อลุงถูกตัดสินประหารชีวิต Herodotus ได้หลบหนีไปอาศัยอยู่ที่เกาะ Samos เป็นเวลา 8 ปี

เมื่อกษัตริย์จอมโหดถูกปลงพระชนม์ Herodotus ได้เดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอน แต่ได้พบว่าเจ้าเมืองใหม่ ยังทำตนเป็นศัตรู Herodotus จึงตัดสินใจหลบหนีจาก Halicarnassus อย่างถาวร และได้วางแผนเดินทางไปท่องเที่ยวในดินแดนต่างๆ ของโลก

เพราะ Athens ณ เวลานั้น คือศูนย์กลางวัฒนธรรม และอารยธรรมของโลก Herodotus จึงเดินทางไป Athens และได้พบเพื่อนใหม่หลายคน เช่น Sophocles กับ Pericles ผู้มีชื่อเสียงด้านการประพันธ์บทละคร และสถาปัตยกรรม ส่วน Herodotus ได้ยึดอาชีพเป็นคนอ่านผลงานเขียนของตนให้ชาวเมือง Athens ฟัง ซึ่งก็ได้ทำให้ชาวเมืองชื่นชม Herodotus มาก จนถึงกับขอเงินจากผู้บริหารนคร Athens มามอบให้ Herodotus เป็นค่าตอบแทน

การมีนิสัยรักการท่องเที่ยว ทำให้ Herodotus พักอยู่ที่ Athens ได้ไม่นาน จึงได้เดินทางไปท่องเที่ยวที่อียิปต์ตอนบน แล้วเดินทางต่อไป Babylon และ Susa ใน Persia จากนั้นได้ล่องเรือใน Black Sea ถึงปากแม่น้ำ Danube ผ่านแหลม Crimea แล้วลัดเลาะไปตามชายฝั่งของ Syria จนถึงประเทศ Libyaจากนั้นก็เดินทางกลับถึง Athens เมื่อปี 432 ก่อนคริสตกาล

Herodotus เสียชีวิตในอีก 17 ปีต่อมา

ในสมัยเมื่อ 600 ปีก่อนคริสตกาล กรีซมีนักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่หลายคน เช่น Heraclitus ผู้เคยกล่าวว่า มนุษย์จะต้องเรียนรู้ธรรมชาติของตน และสิ่งแวดล้อม ครั้นเมื่อ Heraclitus พบว่าชาติต่างๆ มีศีลธรรมที่แตกต่างกัน และมีวิธีคิดที่ไม่เหมือนกัน เขาจึงได้เสนอแนะให้คนกรีกเปลี่ยนแนวคิดจากการเชื่อศรัทธาในเทพเจ้ามาเป็นการตั้งคำถามหาเหตุผลสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกเรื่อง โดย Heraclitus เชื่อว่าการสังเกตผล จะทำให้มนุษย์รู้สาเหตุ และใช้ความรู้ที่ได้คาดการณ์อนาคตได้

Thales แห่ง Miletus ก็เป็นปราชญ์อีกผู้หนึ่งในยุคเดียวกัน ผู้เชื่อว่า เอกภพมีการกำเนิด และการแตกดับ การศึกษาธรรมชาติอย่างเป็นระบบทำให้ Thales รู้ว่าอุปราคาต่างๆ เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่แน่นอน เช่น Thales รู้ว่าได้เคยเกิดสุริยุปราคาเหนือ Asia Minor เมื่อ 585 ปีก่อนคริสตกาล เป็นต้น

ส่วน Anaximander นั้น เป็นนักดาราศาสตร์ผู้พยายามเสาะหาความเป็นระบบของหมู่ดาวต่างๆ บนท้องฟ้า และเชื่อว่าธรรมชาติ กับสังคมมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

Herodotus ใช้ชีวิตใน Athens โดยการเล่าเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิต และผลงานของผู้คนในต่างแดน โดยได้เสริมเนื้อหาให้คนฟังรู้สึกสนุก มากกว่าจะมุ่งให้คนฟัง รู้ความจริงที่ Herodotus รู้จัก ดังนั้น วิธีเขียนประวัติศาสตร์ ของ Herodotus จึงมิใช่ประวัติศาสตร์ที่เรารู้จักในปัจจุบัน เพราะไม่แม่นยำ และถูกต้องในเชิงปริมาณและข้อมูล

จุดด้อยของ Herodotus อีกประเด็นหนึ่ง คือ การชอบอ้างเทพเจ้าว่ามีบทบาทในการกำหนดชะตาชีวิตของคน และเหตุการณ์ต่างๆ แต่เราก็ต้องตระหนักว่า คนในสมัยนั้นแทบทุกคนศรัทธาในเทพเจ้า ดังนั้นเมื่อ Herodotus ต้องการให้ผู้อ่านชื่นชม และสนุกกับเนื้อหาที่เขาเขียน เขาจึงอ้างเทพเจ้าบ่อย เช่น Herodotus เขียนว่า การที่กษัตริย์ Xerxes แห่งอาณาจักร Persia ทรงปราชัยในการทำสงครามกับกรีซ เพราะเทพเจ้า ไม่ประสงค์จะให้พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ปกครองทั้งยุโรป และเอเชีย เป็นต้น

ดังนั้นในภาพรวม ผลงานของ Herodotus คือ การสร้าง (เล่า) อดีตให้คนปัจจุบันได้รับรู้ และเก็บให้คนรุ่นหลังอ่าน และเข้าใจ เพราะเนื้อหาที่สมควรจะเล่ามีมาก และหลากหลาย Herodotus เองจึง กล่าวว่ามันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่คนๆ เดียว จะสามารถบันทึกทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นได้หมด จะอย่างไรก็ตาม Herodotus คิดว่า กำลังใจและความกล้าหาญ คือ สาเหตุสำคัญที่จะทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง

ในหนังสือ History of the Persian Wars ที่ Herodotus เรียบเรียงนั้น เขาได้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 504 ปีก่อนคริสตกาลว่า เวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่อาณาจักร Persia กำลังแผ่อำนาจและอิทธิพลเข้าสู่กรีซ และกษัตริย์ Persia ทรงบังคับให้ชาวกรีกส่งบรรณาการไปถวาย แต่ชาว Athens ขัดขืนไม่ยินยอม กษัตริย์ Darius จึงทรงกรีฑาทัพบุกกรีซ เมื่อ 490 ปีก่อนคริสตกาล โดยมีจุดมุ่งหมายจะจับคนกรีกไปเป็นทาสรับใช้ในอาณาจักร Persia

เมื่อกองทัพที่เกรียงไกรของ Darius เดินทางถึงอ่าว Marathon ซึ่งอยู่ห่างจาก Athensประมาณ 40 กิโลเมตร ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ชาวเมือง Marathon ไม่คิดต่อสู้ เพราะไม่ต้องการจะเสียเลือดเนื้อ แต่ชาว Athens ไม่คิดเช่นนั้น

ทหาร Athens 11,000 คน (ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่ากองทัพของ Darius) ภายใต้การนำของ Miltiades ได้ขอให้รัฐ Sparta ส่งทหารมาช่วย โดย Herodotus เล่าว่าผู้ครองนคร Athens ได้ให้นักวิ่งคนหนึ่งชื่อ Philippides วิ่งจาก Athens ไป Sparta เพื่อขอกำลังมาเสริม ในขณะเดียวกัน แต่ในกรีซก็มีเรื่องเล่าเช่นกันว่านักวิ่งชื่อ Pheidippides ได้วิ่งระยะทาง 35 กิโลเมตร จากสนามรบที่ Marathon ไป Athens เพื่อบอกชาวเมือง Athens ว่า กองทัพกรีซมีชัยชนะเหนือกองทัพ Persia และทันทีที่บอกข่าวจบ Pheidippides ก็ล้มลงและขาดใจตาย เรื่องเล่านี้ กับเรื่องที่ Herodotus เขียน มีนักวิ่งที่มีชื่อคล้ายกัน แต่จนกระทั่งทุกวันนี้ ก็ไม่มีใครมั่นใจว่า เรื่องใดจริง เรื่องใดโกหก หรือโกหกทั้งสองเรื่อง

จะอย่างไรก็ตามการพ่ายแพ้สงครามของกองทหาร Persia ครั้งนั้นได้ทำให้ Herodotus สรุปว่าเป็นจุดหักเหที่สำคัญของประวัติศาสตร์ยุโรป และเอเชีย

การพ่ายแพ้สงครามครั้งนั้นได้ทำให้กองทัพ Persia เสียขวัญมาก กษัตริย์ Darius ได้ทรงดำริจะส่งกองทัพมารุกรานกรีซอีก แต่พระองค์ทรงสิ้นพระชนม์เสียก่อน และกษัตริย์ Xerxes ผู้ทรงขึ้นครองราชย์แทน ได้ทรงคิดจะเข้าครอบครองอียิปต์แทน แต่ขุนนางชื่อ Mardonius ได้ทูลว่า กษัตริย์ Xerxes พระองค์ทรงมีพระบารมีสูงพอที่จะทรงเป็นกษัตริย์แห่งยุโรป และเอเชียได้ ดังนั้น กษัตริย์ Xerxes จึงทรงดำริจะยึดครองกรีซอีก ถึงอำมาตย์หลายคนจะไม่เห็นด้วย แต่ไม่มีใครกล้าทูลค้านกษัตริย์ Xerxes

เมื่อ 480 ปีก่อนคริสตกาล กองทัพของ Xerxes ได้เดินทางถึง Hellespont และ Herodotus ได้เขียนบรรยายว่า ทหาร Persia 15,000 คน ที่สวมเกราะทองคำได้เดินทาง 7 วัน 7 คืน มุ่งสู่กรีซ ทั้งๆ ที่เทพ Apollo ทรงเตือนว่า ถ้าทหารกรีกต่อสู้นั่นหมายถึงกองทัพ Persia จะพ่ายแพ้ แต่ Xerxes ทรงคิดว่า สังคมกรีกเป็นสังคมที่อ่อนแอ เพราะผู้คนมีความแตกแยกมาก และผู้ครองประเทศไม่มีนโยบายที่แน่นอน

แต่ Xerxes ทรงคิดผิด เพราะกองทัพกรีกภายใต้การนำของ Leonidas มีทหารกล้าตายเป็นจำนวนมาก โดย Leonidas ได้คัดเอาเลือกคนที่มีบุตรชายแล้วมาเป็นทหารทัพหน้า ส่วนคนที่เป็นโสด หรือยังไม่มีลูกชายสืบสกุล Leonidas ได้จัดให้อยู่ทัพหลัง

เมื่อถึงวันที่ 17 สิงหาคม เวลา 480 ปีก่อนคริสตกาล กองทหารของ Xerxes เข้ารบชนะกองทหารของ Leonidas และได้บุกเข้ากรุง Athens และเผามหาวิหาร Acropolis ในขณะที่เจ้าเมือง Athens ชื่อ Themistocles ได้สั่งให้ชาว Athens ออกจากบ้านเรือนของตน ไปรวมพลสู้ข้าศึกที่บริเวณนอกเมือง

ในวันที่ 20 กันยายน ปีเดียวกัน กองทหารชาว Athens ได้หลบไปอยู่ที่เกาะ Salamis และบุกเข้าทำลายกองทัพเรือของ Persia ลงได้อย่างราบคาบ และตั้งแต่นั้นมา ยุโรปก็ปลอดภัยจากการรุกรานของ Persia ซึ่งมีผลทำให้ Athens ได้กลายเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจของยุโรป

นอกจากบทความประวัติศาสตร์แล้ว Herodotus ยังได้เขียนบทความเกี่ยวกับธรรมชาติเป็นจำนวนมากด้วย เช่น เรื่องจระเข้ ว่าสามารถอดอาหารได้นาน 4 เดือน แม้จะมีเท้า แต่ก็เป็นสัตว์ที่ใช้ชีวิตอยู่ในน้ำ และเมื่อถึงเวลาวางไข่ กลับขึ้นมาวางบนบก ในเวลากลางวันจระเข้ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บนบก และเมื่อถึงเวลากลางคืนจะกลับลงอยู่ในน้ำ ไข่จระเข้มีขนาดใหญ่กว่าไข่ห่าน เมื่อลูกจระเข้ออกจากไข่ ลำตัวมีขนาดเล็ก แต่เมื่อโตเต็มที่ ลำตัวจะยาวตั้งแต่ 3-4 เมตร จระเข้มีตาเหมือนหมู มีฟันเป็นซี่ และเป็นสัตว์ชนิดเดียวที่ไม่มีลิ้น ถึงกรามล่างจะไม่ขยับเขยื้อน แต่กรามบนขยับได้ เล็บเท้าแข็งแรง หนังมีเกล็ด เมื่ออยู่ในน้ำ จระเข้จะมองอะไรไม่เห็น แต่เวลาอยู่บนบกสายตาจะดี ในปากจระเข้มีทากที่ทำหน้าที่ดูดเลือด และมีนก trochilus ที่ต้องพึ่งพาให้เข้าไปกินทากในปาก ดังนั้น จระเข้จะไม่ทำร้ายนกชนิดนี้เลย

ส่วนนกอีกชนิดหนึ่งที่ Herodotus กล่าวถึง คือ นก phoenix ที่ Herodotus เขียนว่า ตนไม่เคยเห็น แต่รู้ว่านกนี้จะถือกำเนิดในทุก 500 ปี ขนมีสีทอง และแดง รูปร่างคล้ายนกอินทรี มีถิ่นกำเนิดในประเทศ Arabia

ดังนั้น เราจึงเห็นได้ว่า เรื่องที่ Herodotus เขียน บางครั้งเป็นเรื่องเล่า บางครั้งเป็นเรื่องจริง และข้อมูลอาจผิดพลาดมาก แต่ในภาพรวมรายงานที่ Herodotus เขียนล้วนเป็นร้อยแก้วที่น่าสนใจ และอ่านสนุก

คุณหาอ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมได้จาก Herodotus, The Persian Wars โดย Ernle Bradford ที่จัดพิมพ์โดย Macmillan (London ปี 1980)

สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.
กำลังโหลดความคิดเห็น