xs
xsm
sm
md
lg

ประติมากรรมหินอ่อน Elgin

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

วิหาร Parthenon ในปี 1801
แผนที่ภูมิศาสตร์โลกเมื่อห้าถึงสองศตวรรษก่อนไม่มีประเทศกรีซ เพราะในช่วงเวลานั้น กรีซถูกตุรกียึดครอง ดังนั้นนคร Athens จึงมีทหารตุรกีประจำการมากมาย โดยกองทหารเหล่านี้อยู่ใต้บังคับบัญชาของสุลต่านแห่งนคร Constantinople และเพราะชาวตุรกีส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ดังนั้นในบริเวณโดยรอบมหาวิหาร Acropolis จึงมีสุเหร่าจำนวนมากให้เหล่าทหารได้ประกอบพิธีทางศาสนา

ค.ศ.1799 เป็นปีที่ Lord Elgin ที่ 7 ได้รับแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำอาณาจักร Ottoman ณ กรุง Constantinople โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่เดือนมกราคม ค.ศ.1800 ถึงเดือนธันวาคม ค.ศ.1803

บรรพบุรุษของตระกูล Elgin ล้วนเป็นทูต ตัว Elgin เป็นคนมีฐานะดี อีกทั้งมีรสนิยมสูง เพราะชอบซื้อและสะสมวัตถุมีค่า เพื่อนำออกแสดงให้สาธารณชนชื่นชม ในฤดูร้อนของปี ค.ศ.1801 Lord Elgin ได้เดินทางไป Athens เพื่อศึกษาอารยธรรมกรีก และหาซื้อวัตถุมีค่า โดยนำจิตรกรชื่อ Lusieri ไปด้วย เพื่อจะให้วาดภาพสเก็ตซ์ของโบราณสถานที่เห็น เช่น Parthenon และจำลองรูปประติมากรรมต่างๆ เพื่อ Elgin จะได้นำกลับมาเก็บในพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวที่ London

แต่เมื่อได้เห็นประเทศกรีซและสถานการณ์การเมืองของกรีซในขณะนั้น ซึ่งกำลังปั่นป่วนมาก Elgin ก็เปลี่ยนความตั้งใจ คือแทนที่จะให้ Lusieri วาดภาพ และจำลองรูปปั้น Elgin กลับขนศิลปวัตถุล้ำค่าของกรีซจำนวนมากกลับอังกฤษ และทั้งๆ ที่วาระการดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตได้สิ้นสุดลงตั้งแต่ปี 1803 แต่การขนมหาสมบัติระดับมรดกโลกออกนอกประเทศกรีซก็ยังดำเนินต่อไป อย่างปราศจากการต่อต้านหรือการขัดขวางใดๆ จนในที่สุดการขนย้ายศิลปวัตถุจำนวน 170 กล่องเพื่อบรรทุกเรือทั้งหมด 15 ลำ ก็เสร็จสิ้นในเดือนเมษายน ค.ศ.1811

Elgin ได้เขียนบันทึกไว้ว่า เมื่อเดินทางถึง Athens เขาได้ไปที่มหาวิหาร Parthenon บน Acropolis ซึ่งเป็นศาสนสถานโบราณที่สร้างโดย Iktinos และ Kallikrates เมื่อ 2,000 ปีก่อนเพื่อใช้เป็นสถานที่บวงสรวงเทพเจ้าของชาว Athens และเป็นสถานที่ให้เจ้าเมือง Athens ออกว่าราชการ ตัววิหารทำด้วยหินอ่อน อาคารมีเสาหินอ่อนขนาดใหญ่เรียงรายโดยรอบ บนยอดเสาสูงมีลวดลายแกะสลักงดงาม ภายในวิหารมีรูปแกะสลักมากมาย ในปี ค.ศ.1687 วิหารถูกทหาร Venice บุกโจมตีด้วยกระสุนปืนใหญ่ ทำให้บริเวณส่วนกลางของวิหารพังทลาย และประติมากรรมแกะสลักหลายชิ้นแตกกระจัดกระจาย มีผลให้ชาวต่างชาติที่ไปเยือน Parthenon ในช่วงเวลานั้นได้ขโมยชิ้นส่วนไปเป็นจำนวนมาก

แม้จะเดินทางถึงสถานที่ในฝันแล้ว แต่ Elgin ก็ไม่สามารถเดินเข้าไปดูสภาพภายในมหาวิหารได้ เพราะที่นั่นเป็นสถานที่ตั้งของกองบังคับบัญชาทหารตุรกี Elgin จึงแอบให้สินบนแก่แม่ทัพนายทหารตุรกีเพื่อจะได้เข้าไปดูภายใน Parthenon และพบว่า คงหยิบฉวยอะไรออกมาไม่ได้เลย เพราะเสาหินอ่อนแต่ละเสามีขนาดใหญ่และสูงมาก นอกจากนี้ก็ไม่มีนั่งร้าน (scaffold) สำหรับให้ Lusieri ได้ขึ้นไปสเกตซ์ภาพรูปปั้นหรือรูปแกะสลักต่างๆ บนยอดเสา ด้านทหารตุรกีเองก็ระแวงว่า Elgin จะแอบมาล้วงความลับทางทหาร และคิดว่าทหารที่ติดตาม Elgin อาจฉวยโอกาสล่วงเกินสมาชิกของครอบครัวทหารที่ตั้งค่ายเรียงรายรอบ Acropolis

หลังการเยือน Parthenon Elgin ได้เดินทางกลับ Constantinople และครุ่นคิดเรื่องการขนศิลปวัตถุล้ำค่าของกรีซกลับอังกฤษ รวมถึงคิดวิธีขนย้ายและอุปสรรคต่างๆ ในการขนส่งด้วย เมื่อถึงกลางปี ค.ศ.1801 Elgin ก็ได้ส่งสาธุคุณ Philip Hunt ไป Athens เพื่อศึกษาลู่ทาง และเขียนโครงการขนมหาสมบัติแห่ง Parthenon ไปอังกฤษ

ตามความเห็นของ Hunt, Lusieri และ Logothert ผู้เป็นกงสุลอังกฤษประจำกรีซในขณะนั้น คนทั้งสามมีความเห็นพ้องกันว่า ความต้องการของ Elgin จะสัมฤทธิ์ผล 100% ถ้าได้รับอนุญาตจากสุลต่านอย่างเป็นทางการ ดังนั้นในวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ.1801 เมื่อ Elgin ได้รับจดหมายอนุญาตจากสุลต่าน ทหารตุรกีจึงไม่อาจขัดขวางการขนย้ายศิลปวัตถุได้อีกต่อไป ในอีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมา Elgin ได้ส่งทหารอังกฤษและช่างแกะสลักไปที่ Parthenon เพื่อขนประติมากรรมหินอ่อนรูปเทพ Theseus กับ Centaur ไปอังกฤษเป็นสองชิ้นแรก

ในวันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ.1801 Hunt ได้เข้าพบสุลต่าน Ali Pasha ที่เมือง Yannina ในตุรกี เพื่อขอบคุณสุลต่านที่อนุญาตให้ทหารอังกฤษดำเนินการขนโบราณวัตถุได้ และได้รายงานความคืบหน้าในการขนย้ายศิลปวัตถุด้วย

ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1802 Elgin กับภรรยาได้กลับไปที่ Athens อีกเพื่อขอบคุณเจ้าหน้าที่สถานทูตอังกฤษ และตระเตรียมเรือสำหรับขนสัมภาระล้ำค่าจากกรีซไปอังกฤษ

หลังจากที่หมดวาระการดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตที่ Constantinople แล้ว ตั้งแต่ปี 1803-1806 Elgin ได้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำฝรั่งเศส จากนั้นก็เกษียณอายุราชการ แต่แทนที่ชีวิตบั้นปลายจะสงบสุข กลับเหมือนต้องคำสาป เพราะครอบครัวเริ่มมีปัญหา ภรรยาที่สวยและร่ำรวยของเขาได้ตกหลุมรักเพื่อนสนิท เธอจึงขอหย่าในปี 1808 ตัว Elgin เองก็มีปัญหาสุขภาพ คือ อาการจมูกอักเสบอย่างรุนแรงจนต้องเข้ารับการผ่าตัด ปัญหาเหล่านี้ทำให้สถานภาพทางการเงินของ Elgin ย่ำแย่ลงๆ จนถึงเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1810 Elgin จึงถูกศาลพิพากษาเป็นบุคคลล้มละลาย ทำให้ต้องนำสมบัติมีค่าทุกชิ้นออกขาย และหนึ่งในบรรดาสมบัติเหล่านั้น คือ ประติมากรรมหินอ่อน Elgin ซึ่งเป็นวัสดุนำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้นสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษจึงได้เข้ามาสอบสวนว่า วัตถุที่ Elgin จะนำออกประมูลขายนั้นถูกขโมยมา หรือได้มาอย่างถูกกฎหมาย

ในการชี้แจงเรื่องนี้ Elgin ได้นำจดหมายอนุญาตจากสุลต่านตุรกีออกแสดง และอ้างว่าที่ต้องขนศิลปวัตถุล้ำค่านี้ออกจากประเทศกรีซ เพราะตนต้องการอนุรักษ์และพิทักษ์วัตถุอารยธรรมให้รอดพ้นจากการถูกทำลายอย่างป่าเถื่อนด้วยสงคราม เมื่อมีหลักฐานพร้อมและเหตุผลมีน้ำหนัก การประมูลซื้อ-ขาย จึงเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1816 และ Elgin ได้รับเงินจากรัฐบาลอังกฤษ 35,000 ปอนด์ (ประมาณ 4 ล้านบาทในราคาปัจจุบัน) เป็นมูลค่าของประติมากรรมทั้งหมด

ในความเป็นจริง เมื่อนักประวัติศาสตร์อังกฤษได้ศึกษาจดหมายที่ Elgin เขียนถึงเพื่อนๆ และครอบครัว ในช่วงปี 1800 - 1802 ก็พบว่าหลักฐาน ในเอกสารล้วนแสดงให้เห็นว่า Elgin ต้องการเก็บโบราณวัตถุล้ำค่านี้เป็นสมบัติส่วนตัว

เมื่อกรีซได้รับเอกราชในปี 1829 ชาวกรีกที่รักชาติได้เริ่มเรียกร้องให้อังกฤษคืนประติมากรรม Elgin ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ British Museum แก่กรีซ โดยให้เหตุผลว่า จะนำไปติดตั้งที่ Parthenon เพื่อให้วิหารดูสมบูรณ์ และได้อ้างว่าที่วิหาร Erechtheum ซึ่งปัจจุบันมีเสาหินอ่อนแกะสลักเป็นรูปหญิงสาว 5 ต้น และได้หายไป 1 ต้น เพราะเสาต้นที่ 6 ขณะนี้อยู่ที่ British Museum แม้แต่ Lord Byron กวีผู้มีชื่อเสียงของอังกฤษก็ได้ออกมาประณามอังกฤษในการถือครองประติมากรรม Elgin โดยได้เขียนข้อเรียกร้องนี้ในกวีนิพนธ์ของเขาเรื่อง “Childe Harold’s Pilgrimage”

แม้เวลาจะผ่านไปร่วม 182 ปี แล้วก็ตามคณะผู้บริหารของ British Museum และรัฐบาลอังกฤษก็ยังยืนยันมาโดยตลอดว่า “ไม่คืน” ด้วยเหตุผลว่า อังกฤษได้สมบัติล้ำค่านี้มาอย่างถูกกฎหมายระหว่างประเทศ นอกจากนี้ British Museum ก็เป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับการเก็บศิลปวัตถุยิ่งกว่า Parthenon เนื่องจากมีเทคโนโลยีทันสมัยในการอนุรักษ์ประติมากรรมให้ปลอดจากการถูกทำลายด้วยมลภาวะ เหตุผลเหล่านี้จึงทำให้ British Museum เป็นสถานที่ดีที่สุดในการเผยแพร่อารยธรรมกรีกให้นานาชาติได้ชื่นชม

การโต้เถียงว่าจะคืน-ไม่คืนนี้ได้ทำให้เลือดรักชาติพุ่งอย่างรุนแรงทั้งในอังกฤษและกรีซ ในปี 1996 ประชาชนอังกฤษ 92% คิดว่าอังกฤษควรคืน แต่รัฐบาลอังกฤษไม่ฟังประชามติเสียงส่วนใหญ่ ด้านคนกรีกก็อ้างเหตุผลที่อังกฤษต้องคืนหินอ่อนว่า ในช่วงเวลาที่ Elgin ขนย้ายประติมากรรมนั้น กรีซอยู่ภายใต้การปกครองของตุรกี เมื่อผู้อนุญาตคือคนตุรกี ดังนั้นประติมากรรมจึงยังเป็นของกรีซ และได้เสนอจะให้ British Museum ยืมหยิบโบราณวัตถุชิ้นอื่นไปแสดงแทนในระยะยาว แต่อังกฤษก็ยังไม่เห็นดี และไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ของกรีซเลย

เมื่อเหตุผลข้อหนึ่งของอังกฤษคือ กรีซไม่มีสถานที่เหมาะสมสำหรับเก็บประติมากรรมหินอ่อน Elgin ดังนั้น ในวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ.2009 นคร Athens จึงได้มีการเปิดพิพิธภัณฑ์ใหม่ชื่อ Acropolis Museum ที่สร้างขึ้นด้วยมูลค่าการก่อสร้าง 6,300 ล้านบาท โดยมี Jose Manuel Baroso ประธานแห่งสหภาพยุโรปหรือ EU และ Kostas Karamantes นายกรัฐมนตรีของกรีซเป็นประธานในพิธีเปิด

พิพิธภัณฑ์แห่งใหม่นี้ตั้งอยู่ห่างจากมหาวิหาร Parthenon ประมาณ 300 เมตร ได้รับการออกแบบโดยสถาปนิกชาวสวิส-อเมริกัน ชื่อ Bernard Tschumi เป็นอาคาร 3 ชั้น ทำด้วยคอนกรีต หิน เหล็ก และกระจก มีจุดมุ่งหมายเพื่อจัดแสดงประวัติศาสตร์ของกรีซและชาวกรีก ตั้งแต่เมื่อ 2,500 ปีก่อน จนถึงปัจจุบัน

ความประสงค์ลึกๆ ประการหนึ่งของพิพิธภัณฑ์นี้ คือต้องการให้ทุกคนเห็นว่าเมื่อไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์บางส่วนของกรีซ ความเข้าใจและซาบซึ้งเกี่ยวกับอารยธรรมกรีกจึงไม่สมบูรณ์ในทำนอง เดียวกับการดูภาพบรรพบุรุษของวงศ์ตระกูลหนึ่ง แล้วไม่มีภาพของคนบางคน ภาพนั้นก็ดูจะบกพร่อง ฉันใดก็ฉันนั้น ถ้าประติมากรรม Elgin ถูกนำมาติดตั้งที่ Parthenon ประวัติศาสตร์ของกรีซจะดูสมบูรณ์ทันที และสำหรับชิ้นส่วนอื่นๆ ที่ถูก “ขโมย” ไปแล้วนั้น ทางพิพิธภัณฑ์ได้หล่อรูปด้วยปูนปลาสเตอร์สีขาวเพื่อนำมาแสดงแทน

จนแล้วจนรอดอังกฤษก็ยังไม่คืน และได้อ้างเพิ่มเติมว่า ประติมากรรม Elgin เป็นมรดกโลก มิใช่เป็นของกรีซแต่เพียงประเทศเดียว เมื่ออารยธรรมกรีกเป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมตะวันตก ดังนั้นประติมากรรม Elgin จึงเป็นของคนทั้งโลก นอกจากเหตุผลนี้แล้วทางอังกฤษยังเห็นว่า ถ้าอังกฤษต้องคืนประติมากรรมหินอ่อน Elgin เยอรมนีก็ต้องคืนรูปปั้น Nefertiti ด้วย และถ้าทุกพิพิธภัณฑ์ต้องคืนทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว British Museum ก็จะเหลืออะไรนำออกแสดง

ในหนังสือ Lord Elgin and the Marbles ของ William St. Clair ที่จัดพิมพ์โดย Oxford University Press ในปี 1998 St. Clair ได้อธิบายสาเหตุที่ทำให้ การขโมยระดับโลกครั้งนั้นดำเนินไปได้ด้วยดี เพราะรัฐบาลตุรกีในขณะนั้นรู้สึกซาบซึ้งในมิตรไมตรีของอังกฤษที่ได้ช่วยตุรกีต่อสู้กองทัพ Napoleon ซึ่งได้บุกโจมตีทั้งตุรกีและอียิปต์ที่อยู่ในความปกครองของตุรกี จนกระทั่ง Napoleon ปราชัย ตุรกีกับอียิปต์จึงรอดพ้นจากการถูกคุกคาม เมื่ออังกฤษมีบุญคุณอันใหญ่หลวงเช่นนี้ ตุรกีจึงจำต้องทดแทน ดังนั้นจึงกุลีกุจอเอาใจ Lord Elgin ให้ขนศิลปวัตถุกรีกใดๆ ก็ได้ที่ใจปรารถนา โดยในระยะแรกทหารตุรกีไม่ได้ขัดขวางใดๆ และรัฐบาลตุรกีก็ไม่เคยแยแสจะดูแลและพิทักษ์ Parthenon เลย ด้วยเหตุนี้การขโมยครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์จึงเกิดขึ้นอย่างง่ายดาย

แต่ในปี 1807 เมื่อตุรกีประกาศสงครามกับอังกฤษ การขนย้ายก็เริ่มประสบอุปสรรค เพราะถูกทหารตุรกีขัดขวาง และถูกทหารฝรั่งเศสเข้าช่วงชิง อย่างไรก็ดี ณ เวลานั้นประติมากรรมหินอ่อน Elginชิ้นสำคัญๆ ได้เดินทางถึงอังกฤษเรียบร้อยแล้ว
ปะติมากรรมหินอ่อน Elgin รูป Dionysus Hercules
รูปแกะสลักประดับผนัง
Acropolis Museum


*********************

เกี่ยวกับผู้เขียน



สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน - ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์

ประวัติการศึกษา - ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์
กำลังโหลดความคิดเห็น