สดร. จับมือ มรภ. สงขลา สร้างหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชน สงขลาหวังเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์สำหรับประชาชนและสถาบันการศึกษาในภาคใต้
รองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ ด้วงวิเศษ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดตั้งและดำเนินงานหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชน สงขลา เมื่อวันที่ 26 ม.ค.54 เวลา 10.00 น. ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา จังหวัดสงขลา โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ในการจัดตั้งและดำเนินงานหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชน สงขลา โดยมุ่งหวังให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์สำหรับประชาชนและสถาบันการศึกษาในภาคใต้ และกระจายโอกาสในการบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง
สำหรับหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชนสงขลา ได้รับความอนุเคราะห์จากเทศบาลตำบลเขารูปช้าง จังหวัดสงขลา และมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ให้ใช้พื้นที่เขารูปช้าง ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เนื้อที่ 18 ไร่ 2 งาน ภายในบริเวณหอดูดาวฯ ประกอบด้วยอาคารหอดูดาวที่มีกล้องโทรทรรศน์หลัก ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5 เมตร กล้องถ่ายภาพซีซีดี กล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กและขนาดกลาง สำหรับให้บริการทางดาราศาสตร์สำหรับประชาชน อาคารนิทรรศการทางดาราศาสตร์ที่มีโดมดาราศาสตร์ขนาดเล็กสำหรับฉายดาว ลานกิจกรรมอเนกประสงค์กลางแจ้งใช้จัดกิจกรรมดูดาวกลางแจ้ง นอกจากนี้หอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชน ยังเชื่อมโยงข้อมูลและภาพจากกล้องโทรทรรศน์จากหอดูดาวแห่งชาติ ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย
หอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชน เป็นหนึ่งในโครงสร้างทางดาราศาสตร์ของชาติที่มีมาตรฐานและมีศักยภาพสูง สามารถให้การบริการวิชาการและระบบสารสนเทศทางดาราศาสตร์อย่างมีประสิทธิภาพ ทั่วถึงทุกภูมิภาคของประเทศ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนจะได้ใช้กล้องโทรทรรศน์และเครื่องมือทางด้านดาราศาสตร์คุณภาพสูง สามารถจัดการเรียนการสอนดาราศาสตร์และสาขาที่เกี่ยวข้อง เกิดความตระหนักและตื่นตัวด้านดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์เป็นรูปธรรม มีเครือข่ายการประสานงานการวิจัยและวิชาการทางดาราศาสตร์เพิ่มขึ้น สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนทางดาราศาสตร์ของประเทศไทยในอนาคต
สดร.ได้กำหนดแผนในการก่อสร้างหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชน 5 แห่ง ได้แก่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สงขลา ขอนแก่น และพิษณุโลก โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 24 มี.ค.52 ระยะเวลาการดำเนินงานทั้งสิ้นประมาณ 4 ปี (พ.ศ.2552-2555) งบประมาณทั้งสิ้น 460 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายหลักให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์สำหรับประชาชนและสถาบันการศึกษาในภูมิภาค
หอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชนเหล่านี้ จะเชื่อมโยงข้อมูลและภาพจากกล้องดูดาวจากหอดูดาวแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนการให้บริการวิชาการแก่ชุมชน และสนับสนุนจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนและสถาบันอุดมศึกษา รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวิชาการที่สำคัญของภูมิภาค อุปกรณ์หลักของหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชนแต่ละแห่ง ได้แก่ กล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5 เมตร และกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กอีกจำนวนหนึ่ง เครื่องถ่ายภาพซีซีดี เครื่องบันทึกสเปกตรัม อาคารและอุปกรณ์เพื่อรองรับการจัดฝึกอบรม การจัดนิทรรศการและการจัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์เพื่อสร้างความตระหนักทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่ชุมชน
หอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชนจะทำให้ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานทางดาราศาสตร์ที่มีมาตรฐานและมีศักยภาพสูง สามารถให้การบริการวิชาการและระบบสารสนเทศทางดาราศาสตร์อย่างมีประสิทธิภาพ และกระจายโอกาสในการบริการวิชาการทางด้านดาราศาสตร์ได้อย่างทั่วถึงทุกภูมิภาคของประเทศอย่างทัดเทียมกัน