เชื่อกันว่าใครที่ประพฤติผิดในกามเมื่อตายแล้วจะตกนรกไปปีน “ต้นงิ้ว” ต้นไม้ที่มีหนาวแหลมรอบลำต้น แต่หลายคนคงจะลืมไปแล้วว่าต้นงิ้วนั้นมีลักษณะเช่นไรเพราะหาดูไม่ได้แล้ว โชคดีที่ใน “ป่าสะแกราช” ผืนป่าดิบแล้งแห่งวังน้ำเขียวยังคงมีไม้พันธุ์นี้หยัดยืนอยู่
ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์มีโอกาสได้เห็นต้นงิ้วอายุกว่า 20 ปี ยืนผลัดใบอยู่ริมทางเดินของป่าสะแกราชในสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชของสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประเทศไทย (วว.) อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายทางชีวภาพในป่าดิบแล้ง
ลุงหิน หีบกิ่ง พรานป่าและปราชญ์ชาวบ้านประจำสถานีวิจัยวัย 76 ปี ให้ข้อมูลทีมงานว่า ต้นงิ้วมีหนามเพื่อป้องกันตัวเองเนื่องจากเป็นไม้เนื้ออ่อน ในอดีตต้นงิ้วถูกตัดไปทำเป็นก้านไม้ขีดไฟ แต่ปัจจุบันใช้ไม้ไผ่แทน ส่วนผลสามารถนำไปยัดหมอนหรือฟูกได้เช่นเดียวกับผลนุ่น เมื่ออายุมากขึ้นหนามของต้นงิ้วจะค่อยๆ หมดไป ซึ่งในป่าสะแกราชนั้นมีต้นงิ้วให้พบเห็นอยู่ราวๆ 20 กว่าต้น
นอกจากนี้ยังมีความหลากหลายของพันธุ์พืชในป่าดิบแล้งให้เราได้ศึกษาเรียนรู้ระหว่างเดินป่า โดยเฉพาะเถาวัลย์ชนิดต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อป่าดิบแล้ง ซึ่งสัตว์ต่างๆ ใช้ปีนป่าย และเถาวัลย์เองจะพันเกี่ยวต้นไม้เข้าไว้ด้วยกัน ช่วยป้องกันต้นไม้ล้มเมื่อเกิดพายุ ซึ่งเถาวัลย์เด่นของป่าดิบแล้งคือเถาวัลย์บันไดลิง ส่วนไม้เด่นของป่าชนิดนี้คือตะเคียนหิน ซึ่งมีความแข็งมากและในอดีตถูกตัดออกไปทำหมอนรองรางรถไฟจำนวนมาก
ลักษณะสำคัญของป่าดิบแล้งคือมีแดดน้อยเหมือนป่าดิบทั่วไป แต่ได้รับน้ำฝนน้อยเพียง 3 เดือน ต่างจากป่าดิบชื้นที่ได้มากในภาคใต้ซึ่งมีสภาพอากาศแบบ “ฝน 8 แดด 4” คือเป็นป่าที่ได้รับปริมาณน้ำฝนเกือบตลอดทั้งปี