xs
xsm
sm
md
lg

ชูวิจัยสมุนไพรไทยสกัดการแพร่กระจาย "อาวุธชีวภาพ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พลตรี มจ.เฉลิมศึก ยุคล ยกตัวอย่างการใช้เชื้อโรคแอนแทรกซ์เป็นอาวุธชีวภาพในการโจมตีของผู้ก่อการร้ายลัทธิโอมชินริเกียในญี่ปุ่นเมื่อหลายปีก่อน
ขึ้นชื่อว่า "อาวุธ" ย่อมทำอันตรายต่อมนุษย์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาวุธชีวภาพ ที่จัดว่าเป็นอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงอย่างหนึ่ง ที่ก่อให้เกิดผลกระทบเป็นบริเวณกว้างได้ ภายในระยะเวลารวดเร็ว แต่นักวิจัยระบุอัตราความเสี่ยงของอาวุธชีวภาพ ยังน้อยกว่าอาวุธเคมี พร้อมชูการวิจัยตำรับยาสมุนไพรต้านเชื้อโรค รับมืออาวุธชีวภาพระบาด ลดนำเข้ายาต่างประเทศ

พลตรี มจ.เฉลิมศึก ยุคล ที่ปรึกษากรมวิทยาศาสตร์ทหารบก บอกว่า อาวุธชีวภาพ จัดเป็นอาวุธที่มีอำนาจทำลายสูง ที่ประกอบไปด้วย อาวุธเคมี อาวุธชีวภาพ อาวุธรังสี และอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งในยุคสงครามเย็น มีภัยคุกคามจากอาวุธที่มีอำนาจทำลายสูงปรากฏอยู่ในแทบทุกภูมิภาคของโลก

แต่เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลง ความจำเป็นในการพัฒนาและสะสมอาวุธเหล่านี้จึงลดลงและเกือบจะหมดไป เว้นแต่อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ของชาติมหาอำนาจ และอาวุธนิวเคลียร์ทางยุธวิธีของชาติ ที่มีความขัดแย้งในระภูมิภาคบางภูมิภาค

ประเทศที่เคยมีการทดลองและผลิตอาวุธชีวภาพ เพื่อใช้ในการสงครามเมื่อในอดีต ปัจจุบันก็ได้ทำลายอาวุธชีวภาพไปหมดแล้ว ตามอนุสัญญาห้ามอาวุธเคมีและอาวุธชีวภาพ ซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิกอยู่ด้วย ทว่าในความเป็นจริงภัยคุกคามจากอาวุธที่มีอำนาจทำลายสูงมิได้หมดไป ตามการสิ้นสุดของภาวะสงครามเย็นและการลดอาวุธตามอนุสัญญาดังกล่าว แต่กลับเป็นภัยคุกคามจากอาวุธที่มาในรูปแบบของการก่อการร้ายแทนการทำสงครามในสนามรบ

ทั้งนี้ ตัวอย่างกรณีการโจมตีของผู้ก่อการร้ายด้วยอาวุธเคมีและชีวภาพที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ คือการใช้เชื้อโรคแอนแทรกซ์ สารซาริน และสารวีเอ็กซ์ ในญี่ปุ่นโดยลัทธิโอมชินริเกียว และการส่งซองจดหมายบรรจุสปอร์ของเชื้อแอนแทรกซ์ในสหรัฐฯ ซึ่งอาวุธชีวภาพก็คือยุทธภัณฑ์อย่างหนึ่งที่ใช้ในการแพร่กระจายสารชีวภาพและสัตว์พาหะออกไปโจมตีในบริเวณกว้าง และหมายรวมถึงสารพิษที่ผลิตขึ้นจากสิ่งมีชีวิตด้วย

"ภัยคุกคามจากอาวุธชีวภาพสามารถเกิดขึ้นได้ในภาวะที่ไม่ปกติ คือภาวะสงคราม ซึ่งมีแนวโน้มว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้อย่างแน่นอน แต่ในภาวะปกติอาจเกิดขึ้นได้ในรูปแบบของการก่อการร้าย แต่สำหรับการก่อการร้ายในประเทศไทย ยังไม่ปรากฏว่ามีความพันธ์ หรือความช่วยเหลือจากกลุ่มผู้ก่อการร้ายนอกประเทศที่เข้าถึงอาวุธชีวภาพได้ และที่ผ่านมาก็ไม่พบว่าเคยมีอุบัติการของอาวุธชีวภาพในประเทศไทย มีแต่อุบัติการของโรคระบาดเท่านั้น เช่น โรคไข้หวัดนก และแอนแทรกซ์" พลตรี มจ.เฉลิมศึก กล่าว

ที่ปรึกษากรมวิทยาศาสตร์ทหารบก ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เชื้อโรคที่มีอยู่ในธรรมชาติสามารถนำมาทำให้เป็นอาวุธชีวภาพได้ทั้งสิ้น แต่การแพร่ระบาดของโรคอาจไม่ได้เกิดจากอาวุธชีวภาพเสมอไป ซึ่งเมื่อมีอุบัติการณ์ของโรคระบาดเกิดขึ้น จะต้องมีการสอบสวนหาสาเหตุของการระบาดว่าเกิดขึ้นอย่างไร เป็นอาวุธชีวภาพหรือไม่ เช่น การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่แพร่กระจายไปทั่วโลกนั้นเป็นการระบาดบริเวณกว้างใหญ่เกินกว่าที่จะเป็นอาวุธชีวภาพที่จะต้องเกิดขึ้นในบริเวณเฉพาะถิ่น นอกจากนั้นอาวุธชีวภาพยังอาจใช้เป็นเครื่องมือโจมตีพืชหรือสัตว์เศรษฐกิจได้นอกเหนือจากใช้เพื่อโจมตีมนุษย์ด้วยกัน

ด้าน นพ.ธีระ กลลดาเรืองไกร ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราช เปิดเผยว่า การรับมืออาวุธชีวภาพสามารถทำได้โดยใช้มาตรการเดียวกับการรับมือและการควบคุมโรคระบาดทั่วไป ส่วนการรักษาผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อโรคหรือสารพิษจากอาวุธชีวภาพ สามารถให้การรักษาได้โดยใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านไวรัสที่ใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อทั่วไป แต่ปัญหาคือความสามารถในการรองรับผู้ป่วยจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบเมื่อเกิดการโจมตีด้วยอาวุธชีวภาพ

"อาวุธชีวภาพอาจติดต่อเข้าสู่คนได้ผ่านทางการสูดดม การเข้าทางบาดแผลตามร่างกาย และถูกกัดโดยสัตว์พาหะ ซึ่งอาวุธชีวภาพที่น่ากังวลมากที่สุดคือ อาวุธชีวภาพที่ติดต่อผ่านระบบทางเดินหายใจ เพราะติดต่อจากคนสู่คนง่ายและควบคุมยากกว่าการติดต่อผ่านช่องทางอื่น และอาวุธชีวภาพที่เป็นเชื้อไวรัสรักษายากกว่าเชื้อแบคทีเรีย" นพ.ธีระ เผย

"แต่อาวุธชีวภาพไม่ใช่ว่าจะผลิตกันได้ง่ายๆ เพราะต้องนำเชื้อก่อโรคมาเพาะเลี้ยงเพิ่มจำนวนเชื้อ บางโรคต้องใช้สัตว์พาหะ และเชื้อโรคบางชนิดก็หายาก เช่น กาฬโรค อีกทั้งการผลิตอาวุธชีวภาพต้องลงทุนสุง เพราะต้องทำในห้องแล็บที่มีความปลอดภัยตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไป และต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายจนทำอันตรายต่อผู้ที่คิดผลิตอาวุธชีวภาพเอง ดังนั้นความเสี่ยงต่ออาวุธชีวภาพจึงมีน้อยกว่าอาวุธเคมี ที่สารเคมีสามารถหาซื้อได้ทั่วไป" นพ.ธีระ กล่าว

ด้าน รศ.ดร.อ้อมบุญ วัลลิสุต หัวหน้าภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการนำเชื้อไวรัสมาใช้เป็นอาวุธชีวภาพ ซึ่งยาแผนปัจจุบันอาจไม่ให้ผลในการรักษา การรักษาด้วยสมุนไพรจึงเป็นอีกทางหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะประเทศไทยมีความหลากหลายของสมุนไพรและมีภูมิปัญญาดั้งเดิมเป็นต้นทุน สามารถนำมาใช้เป็นจุดเริ่มต้นของการวิจัยได้

"มีแนวคิดการใช้ตำรายาสมุนไพรค่อนข้างเยอะ แต่ยังไม่ค่อยมีการศึกษาวิจัยกันมากนัก ส่วนใหญ่มุ่งเน้นศึกษาสารออกฤทธิ์จากสมุนไพรเดี่ยว ซึ่งไม่ใช่ตำรับยาสมุนไพรแผนโบราณ ตำรับยาสมุนไพรแผนโบราณ จะต้องมีตัวยาอย่างน้อย 3 ตัวยาสมุนไพร คือ ตัวยาหัวหน้า ตัวยาช่วยฤทธิ์ และตัวยาคุมฤทธิ์ เพราะว่าตัวยาสมุนไพรส่วนมากจะมีอาการข้างเคียง ดังนั้นการใช้สมุนไพรเดี่ยวรักษาโรคจึงไม่ใช่การใช้สมุนไพรตามหลักแพทย์แผนไทย ซึ่งตามหลักของแพทย์แผนตะวันออก เราต้องทำให้ร่างกายแข็งแรง กินอาหารที่มีประโยชน์ อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งจะทำให้มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง สามารถป้องกันอาวุธชีวภาพได้ในระดับหนึ่ง" รศ.ดร.อ้อมบุญ กล่าว

สำหรับสมุนไพรที่มีผลการวิจัยยืนยันฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัส ได้แก่ ประยงค์ มะรุม ขนุนป่า ผักกาดน้ำ ว่านหางจระเข้ บัวบก โกฐน้ำเต้า ส้ม องุ่น บัว กานพลู พืชในตระกูลสบู่เลือด และพืชในตระกูลบานไม่รู้โรย เป็นต้น

รศ.ดร.อ้อมบุญ เสนอแนะว่า รัฐบาลควรปรับแนวคิดและนโยบายการให้การให้ความรู้เกี่ยวกับการแพทย์แผนไทย และส่งเสริมการศึกษาวิจัยตำรับยาสมุนไพรในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น เพราะไทยเรามีภูมิปัญญาดั้งเดิมที่เป็นพื้นฐานที่จะทำให้การวิจัยประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก ซึ่งจะสามารถช่วยลดการนำเข้ายาแผนปัจจุบันจากต่างประเทศได้เป็นมูลค่ามหาศาล และแก้ปัญหาการรักษาที่ไม่ได้ผลจากการใช้ยาแผนปัจจุบันได้

ทั้งนี้ เป็นการเปิดเผยระหว่างการประชุมวิชาการเรื่อง "อาวุธทำลายล้างสูง: ภัยจากอาวุธชีวภาพ" เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 53 ณ อาคารเทพรัตน์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีสื่อมวลชนจำนวนมากรวมทั้งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ เข้าร่วมฟัง
นพ.ธีระ กลลดาเรืองไกร
รศ.ดร.อ้อมบุญ วัลลิสุต
กำลังโหลดความคิดเห็น