ข่าวดี! กทม.ไร้คนตายเพิ่มหวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 พร้อมอบรมนักเรียนให้เป็นอาสาหมอน้อยกระจายข้อมูลต้านหวัด 2009 ด้าน “สุขุมพันธุ์” ประชาชนอย่าตื่นตระหนก ประสานการท่าเรือฯ เข้าตรวจหนูที่มากับเรือขนส่ง สัตวแพทย์เผยผลตรวจหนูท่าเรือคลองเตยไม่พบเชื้อกาฬโรค
พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมการตรวจและติดตามผลการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในพื้นที่ กทม.ว่า จากสถิติผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในพื้นที่ กทม. ตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย. - 5 ส.ค. พบว่ามียอดผู้ป่วยสะสม 3,648 ราย รวมยอดในรอบสัปดาห์เพิ่มขึ้น 268 ราย ทั้งนี้ยังมีผู้ป่วยรักษาอยู่ในโรงพยาบาลสังกัด กทม.574 ราย ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมาจำนวน 32 ราย ส่วนยอดผู้เสียชีวิตนั้นยังคงที่ 18 ราย ซึ่งสถานการณ์การระบาดมีแนวโน้มที่ลดลง แต่ทางเจ้าหน้าที่ กทม.ไม่ได้นิ่งนอนใจ จะยังคงการลงพื้นที่และเน้นการให้ความรู้ด้านสุขศึกษากับประชาชนเพิ่มมากขึ้นรวมไปถึงโรคกาฬโรค ที่มีหมัดหนูเป็นพาหะด้วย
ทั้งนี้ มาตรการป้องกันโรคกาฬโรคเข้าสู่พื้นที่ กทม. เบื้องต้นได้ให้เจ้าหน้าที่เขตคลองเตยประสานไปยังการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อขออนุญาตเข้าพื้นที่ เพื่อตรวจหาหนูและหมัดที่เป็นพาหะนำโรค ซึ่งคาดว่าจะสามารถลงพื้นที่ได้ประมาณสัปดาห์หน้า ซึ่งหากมีการตรวจพบหมัดหนูที่เป็นพาหะ อาจต้องมีการกักเรือไว้เป็นเวลา 3 วัน
ในวันเดียวกัน พญ.มาลินี พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักการแพทย์ และสำนักอนามัยลงพื้นที่ที่โรงพยาบาลสิรินธร เขตประเวศ เพื่อร่วมเป็นประธานการเปิดอบรมโครงการหมอน้อยโรงเรียนเครือข่ายต้านหวัด 2009 ซึ่งมีนักเรียนในพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งที่สังกัด กทม. และสังกัดอื่นๆ เข้ารับฟังข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ เพื่อคัดเลือกนักเรียนตัวแทนเป็นหมอน้อยในการช่วยเผยแพร่และประชาสัมพันธ์วิธีการป้องกันไข้หวัดใหญ่ให้กับครอบครัว ประชาชนในพื้นที่ และเพื่อนนักเรียนด้วย
ด้าน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวถึงการเตรียมพร้อมรับมือโรคกาฬโรคว่า ในการประชุมคณะผู้บริหารเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาได้มีการจัดเตรียมแผนที่จะรับมือแล้ว อย่างไรก็ตามตนขอให้ประชาชนอย่าเพิ่งตื่นตระหนกต่อเรื่องดังกล่าว
นายสัตวแพทย์พลายยงค์ สการะเศรนี นายสัตวแพทย์กรมควบคุมโรค นำเจ้าหน้าที่กรมฯ และเจ้าหน้าที่ด่านท่าเรือคลองเตยเก็บกักดักหนูที่วางไว้เมื่อคืนวานนี้ นำหนูมาสางหมัดเพื่อหาดัชนีหมัดในตัวหนู หาค่าความเสี่ยงการเกิดกาฬโรค หลังจากเกิดกาฬโรคชนิดปอดที่จีนและมีผู้เสียชีวิต 3 ราย ซึ่งจากการนำกรงดักจำนวน 35 กรง พบหนูเพียง 7 ตัว ในการสางหมัดและเจาะเลือดหนูที่ขั้วหัวใจ นำอวัยวะภายในมาชุบสี ก็ไม่พบเชื้อกาฬโรค สำหรับประเทศไทยไม่พบเชื้อนี้มาประมาณ 50 ปี มีการระบาดครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2495 ส่วนจีนระบาดครั้งสุดท้ายเมื่อ 25 ปีก่อน อย่างไรก็ตาม ในการตรวจสอบทางกรมฯ จะดักหนูตามด่านพรมแดนทั่วประเทศอีก 64 ด่านต่อไป เพื่อหาค่าดัชนีหมัด
นอกจากนี้ การป้องกันกาฬโรคที่อาจจะเกิดขึ้น ประชาชนควรทำบ้านเมืองให้สะอาด สร้างสุขาภิบาลในที่อยู่อาศัยให้ดี และควรหมั่นสังเกตว่าในสภาพแวดล้อมใกล้เคียงมีหนูตายจำนวนมากหรือไม่ เพราะอาจสงสัยได้ว่าหนูติดเชื้อกาฬโรค ส่วนกรณีมีประชาชนในเขตกรุงเทพฯ แจ้งว่า มีการเลี้ยงหนูในบ้านมากกว่า 100 ตัว ซึ่งเกิดจากความเคยชินและสงสารไม่อยากฆ่าสัตว์ จึงให้อาหารเลี้ยงทำให้เกิดลูกจำนวนมากก็ขอเตือนให้ระมัดระวังเพราะหนูเป็นพาหะนำโรคได้หลายชนิด แต่ในการกำจัดหนูให้ถูกต้อง อาจเลี้ยงแมวหรือใช้กับดัก เมื่อหนูตายให้ฝังกลบเพื่อทำลายเชื้อโรค