ส่งมอบ "ชุดตำรวจนาโนวา" ให้ตำรวจจราจร 500 ชุด ลดปัญหากลิ่นอับและสีกากีที่ไม่ได้มาตรฐาน ด้านนักวิจัยผู้พัฒนาเผยได้รับโจทย์ยาก ให้พัฒนาเสื้อผ้าที่แข็งแรงแต่สวมใส่สบาย ส่วนตำรวจระบุสีกากีคือสีพระราชทาน เตือนให้ระลึกถึงวินัยและเป็นตำรวจของแผ่นดิน
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งมอบ "ชุดตำรวจนาโนวา" ให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ จำนวน 10 ชุด พร้อมผ้าสำหรับตัดชุด 500 ชุด โดยมี พลตำรวจเอก ดร.วัชรพล ประสารราชกิจ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นตัวแทนรับมอบเมื่อบ่ายวันที่ 12 มี.ค.53 ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยชุดตำรวจนาโนวานี้ เป็นความร่วมมือในการพัฒนาระหว่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ศูนย์นาโนเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) และบริษัท อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด
นายอุกฤช กิจศิริเจริญชัย ผู้จัดการโครงการชุดตำรวจนาโนวา สนช.บอกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า สนช.ได้รับทราบปัญหาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า ชุดตำรวจซึ่งเจ้าหน้าที่ใส่ปฎิบัติงานนั้นมีปัญหากลิ่นอับชื้นและมีสีไม่สม่ำเสมอ จึงได้สนับสนุนโครง
การนี้
ในการพัฒนาคุณภาพเส้นใยและสีผ้าให้เป็นมาตรฐานนั้น ได้รับความร่วมมือจาก ดร.สาธิต พุทธชัยยงค์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งทอมาร่วมพัฒนาโครงสร้างของผ้าให้มีความยืดหยุ่น และ ผศ.ดร.เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ นักวิชาการจากศูนย์นาโนเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาเทคโนโลยีการตกแต่งสำเร็จ โดยใช้สารเคมีเพื่อช่วยให้เส้นใยซึมน้ำได้ดีและแห้งเร็ว ซึ่งช่วยให้ผู้สวมใส่รู้สึกแห้งสบาย และตกแต่งผ้าด้วยสารนาโนซิลเวอร์ เพื่อป้องกันแบคทีเรียสาเหตุกลิ่นอับ หากแต่การผลิตจริงต้องปรับปรุงเทคนิคการย้อม ซึ่งได้รับความร่วมมือกับ บริษัท แสนทวี อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด
ดร.สาธิต พุทธชัยยงค์ ซึ่งร่วมในงานแถลงข่าวส่งมอบชุดตำรวจนาโนวากล่าวว่า ได้รับโจทย์ยากให้พัฒนาผ้าที่มีโครงสร้างแข็งแรงแต่ใส่สบายและดูดี พร้อมทั้งกล่าวถึงความพร้อมของมหาวิทยาลัยในการพัฒนาสิ่งทอว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล มีคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอที่เก่าแก่ที่สุดในไทย และเชื่อว่าอนาคตจะมีความพร้อมในระดับภูมิภาคด้วย
ส่วนพลตำรวจเอก ดร.วัชรพล กล่าวถึงปัญหาของชุดตำรวจว่า ทุกปีสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องจัดหาชุดตำรวจให้แก่ตำรวจชั้นประทวนกว่า 170,000 นาย นายละ 2 ชุดต่อปี แต่ทุกปีจะมีปัญหาในการจัดซื้อผ้าสีกากีสำหรับตัดชุดให้ตำรวจ เนื่องจากหาสีกากีที่เป็นมาตรฐานได้ยาก ดังนั้น ในปี 2551 จึงได้ยกเลิกการจัดหาผ้าสีกากี และจ่ายเป้นเงิน 2,000 บาทให้กับตำรวจชั้นผู้น้อยโดยตรง พร้อมทั้งพยายามทำผ้าสำหรับตัดเครื่องแบบสีกากีที่เป็นมาตรฐาน และได้รับความช่วยเหลือจาก สนช.
“สีกากีเป็นสีที่ระบุยาก และยังไม่รู้สีกากีไหนที่เป็นสีกากีแห่งชาติ อีกทั้งตำรวจชั้นประทวนต้องปฏิบัติงานนอกที่ตั้ง ในสภาพนอกที่นั้นตั้งต้องเจอทั้งแดด ลม ฝน จึงต้องมีผ้าทีมีคุณสมบัติพิเศษ ระบายความอับชื้นได้ดี และเพื่อพิสูจน์ว่าผ้าที่พัฒนาขึ้นมานั้นดีจริงหรือไม่ เราจึงเลือกตำรวจจราจรในพื้นที่ทำงานหนักจริงๆ ในเขตพญาไท ปทุมวัน ลุมพินี และตำรวจจราจรในโครงการตามพระราชดำริ ทดลองสวมใส่ชุดเครื่องแบบกากีในโครงการนี้" พลตำรวจเอก ดร.วัชรพลกล่าว
พร้อมกันนี้รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติยังกล่าวถึงชุดสีกากีของตำรวจว่าเป็นชุดพระราชทานจากรัฐกาลที่ 5 ซึ่งมีพระราชหัตถเลขาว่า สีกากีนั้นแปลว่าสีของแผ่นดิน ดังนั้นต้องเป็นตำรวจของแผ่นดิน เหมือนแผ่นดินที่เอื้อต่อสิ่งสิ่งชีวิตทั้งหลาย และเครื่องแบบตำรวจจึงเป็นเครื่องเตือนสติตำรวจให้รักษาวินัย และเป็นตำรวจของแผ่นดิน
ด้าน จสต.ก้องไกรวุฒิ สมไพบูลย์ ผู้บังคับหมู่โครงการงานจราจรตามพระราชดำริ สังกัดกองบังคับการตำรวจจราจร ซึ่งเป็น 1 ในตำรวจ 10 นายที่ได้ทดลองสวมใส่ชุดตำรวจนาโนวา บอกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า สวมใส่สบายและรู้สึกนุ่มมาก แ่ต่เพิ่งได้ทดลองใส่เป็นครั้งแรก ยังไม่ได้ใส่ออกปฏิบัติงานจริง จึงยังไม่ทราบว่าเมื่อต้องเจอแดดและฝุ่นแล้วจะเป็นอย่างไรบ้าง และสำหรับชุดปกติที่ใส่อยู่นั้นจะมีกลิ่นอับขณะสมใส่ปฏิบัติหน้าที่.