"เกษตร" จับมือ "สกว." ตั้งศูนย์วิจัยและทดสอบผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเพื่อการผลิตสัตว์ทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะ มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสารสกัดจากสมุนไพรที่ใช้ในครัวเรือน หากคนกินได้พิสูจน์แล้วว่าปลอดภัย พร้อมพัฒนามาตรฐานการทดสอบผลิตภัณฑ์เพื่อยืนยันคุณภาพสินค้าทั้งในและต่างประเทศ พร้อมตั้งอีก 2 ศูนย์ ส่งเสริมวิทยาการด้านเป็ดและส้มโอ
รศ.ดร.นวลจันทร์ พารักษา อาจารย์และนักวิจัยภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการนำสมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์ธรรมชาติมาใช้ในการเลี้ยงสัตว์กันมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาสารตกค้างในเนื้อสัตว์ แต่ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่พัฒนาขึ้นมา หากไม่มีการตรวจสอบและรับรองคุณภาพก็ไม่สามารถจำหน่ายได้ ซึ่งขณะนี้ในประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานให้บริการการทดสอบและให้การรับรองผลิตภัณฑ์ธรรมชาติสำหรับการผลิตสัตว์โดยเฉพาะ
คณะเกษตร กำแพงแสน จึงได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาการทดสอบผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเพื่อการผลิตสัตว์ เพื่อดำเนินการทดสอบประสิทธิภาพ คุณภาพ ตลอดจนทดสอบความเป็นพิษของผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่จะนำไปใช้ในการเลี้ยงสัตว์ พร้อมทั้งพัฒนามาตรฐานการทดสอบให้ได้มาตรฐานในระดับสากล เพื่อให้บริการตรวจสอบและให้การรับรองผลิตภัณฑ์ธรรมชาติสำหรับการผลิตสัตว์แก่ภาคเอกชนทั้งที่ผลิตในประเทศหรือนำเข้าจากต่างประเทศ
ขณะเดียวกันศูนย์ฯ ก็จะเดินหน้าศึกษาวิจัยการนำสมุนไพรไทยมาใช้ในการเลี้ยงสัตว์ทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะด้วยเช่นกัน ซึ่งจากการศึกษาพบว่าสมุนไพรหลายชนิดมีศักยภาพนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพสัตว์ เร่งการเจริญเติบโต ควบคุมเชื้อจุลินทรีย์ หรือลดคลอเรสเตอรอลในไข่ไก่ได้
"ในเบื้องต้นเราจะเน้นวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติจากพืชสมุนไพรที่มนุษย์กินเป็นอาหารอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งเป็นการพิสูจน์แล้วว่าปลอดภัยไป จึงช่วยลดขั้นตอนการทดสอบความเป็นพิษไปได้ระดับหนึ่ง เช่น พืชสมุนไพรที่ใช้ในครัวเรือนทั้งหลายอย่างพริก ข่า ตะไคร้ ขมิ้น เป็นต้น" นักวิจัยเผยต่อสื่อมวลชนและทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์
รศ.ดร.นวลจันทร์ เผยอีกว่าขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์สารสกัดจากกากชาสำหรับใช้เสริมสุขภาพสัตว์ ซึ่งมีสารอาหารของเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในลำไส้สัตว์ สามารถช่วยลดการใช้ยาปฏิชีวนะลงได้ และยังพัฒนาสารสกัดจากตะไคร้สำหรับจุ่มเต้านมแม่วัวเพื่อฆ่าเชื้อก่อนรีดนม ซึ่งช่วยลดการอักเสบของเต้านมได้ และลดการปนเปื้อนของสารเคมีในน้ำนม รวมถึงลดค่าใช้จ่ายในการรักษาเต้านมอักเสบให้แม่วัวด้วย โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะพัฒนาเสร็จภายในปีนี้
ก่อนหน้านี้ รศ.ดร.นวลจันทร์ ได้ร่วมกับนักวิจัยคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สกว. และบริษัท เบ็ทเทอร์ฟาร์ม่า จำกัด ได้ศึกษาวิจัยการใช้สารสกัดจากพริกเป็นผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพสัตว์แทนการใช้ยาปฏิชีวนะ จนสามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์จำหน่ายในเชิงพาณิชย์แล้วในชื่อว่า ไบโอแคป (Biocap) ช่วยให้สัตว์เจริญอาหาร เพิ่มประสิทธิภาพการย่อย กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้สัตว์มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นและมีสุขภาพแข็งแรง
นอกจากนี้ สกว. และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยังร่วมกันจัดตั้งศูนย์วิทยาการส้มโอ และศูนย์วิทยากรสุขภาพเป็ด โดยมีการลงนามความร่วมมือการจัดตั้งศูนย์ทั้ง 3 ศูนย์ ไปเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 53 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน แต่ศูนย์ทั้ง 3 แห่ง จะตั้งอยู่ที่วิทยาเขตกำแพงแสน โดยมีงบประมาณสนับสนุนศูนย์ละ 12 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 3 ปี
ด้าน ศ.ดร.สวัสดิ์ ตันตระรัตน์ ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่า สกว. มีความร่วมมือพัฒนางานวิจัยในเรื่องต่างๆ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มานานหลายปีแล้ว ในการจัดตั้งเป็นศูนย์วิจัยหรือศูนย์วิทยาการขึ้น ได้พิจารณาจากศักยภาพของผลิตภัณฑ์และความพร้อมของนักวิจัย เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและความสามารถในการแข่งขันให้สินค้าไทย พร้อมผลิตบุคลากรวิจัยที่มีความสามารถในด้านนั้นๆ ให้เพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ ศูนย์วิทยาการส้มโอมุ่งพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีในการผลิตส้มโอให้ได้คุณภาพดีให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลก แก้ปัญหาส้มโอเนื้อข้าวสาร การตรวจวิเคราะห์ดินและการให้ธาตุอาหารแก่ส้มโอ โดยนำเทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัดเข้ามาใช้ร่วมด้วย ตลอดจนพัฒนาการผลิตส้มโอเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
ส่วนศูนย์วิทยาการสุขภาพเป็ดเน้นการวิจัยและพัฒนาความปลอดภัยทางอาหารในระบบการผลิตเป็ด ทั้งเป็ดเนื้อและเป็ดไข่ ศึกษาการเกิดโรค พัฒนาชีวภัณฑ์ป้องกันโรค และชุดตรวจโรคสำหรับเป็ด โดยเฉพาะโรคพาร์โวไวรัส ซึ่งปัจจุบันสร้างความเสียหายให้อุตสาหกรรมการเลี้ยงเป็ดปีละประมาณ 200 ล้านบาท รวมทั้งพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการบริการข้อมูลที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเป็ด ซึ่งประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับ 1 ใน 3 ของโลก ที่ผลิตเป็ดมากที่สุด