xs
xsm
sm
md
lg

‘ไต้หวัน’เฉลิมฉลอง“วันชาติ”แบบเรียบๆ

เผยแพร่:   โดย: หลินจือซิน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Taiwan tones down celebrations
By Lin Zixin
15/10/2009

ขณะที่จีนแผ่นดินใหญ่เฉลิมฉลองวาระครบรอบ 60 ปีของตนอย่างยิ่งใหญ่มโหฬาร ไต้หวันกลับฉลองวันชาติของตนอย่างสมถะกว่าเป็นอันมาก สืบเนื่องจากเกิดพายุไต้ฝุ่นคร่าชีวิตผู้คนจำนวนมากไปเมื่อไม่นานมานี้ ในการกล่าวสุนทรพจน์วันชาติที่ค่อนข้างจะเงียบๆ ของเขา ประธานาธิบดีหม่าอิงจิ๋วพูดถึงสายสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน-แผ่นดินใหญ่ที่อบอุ่นขึ้นมามาก แต่ขณะเดียวกันเขาก็ไม่ลืมที่จะระบุถึงภัยคุกคามทางทหารซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากแผ่นดินใหญ่

ไทเป – หลังจากที่จีนจัดการสวนสนามและเดินพาเหรดเคลื่อนริ้วขบวนอันยิ่งใหญ่โอฬารเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 60 ปีแห่งการกลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ ในอีก 10 วันต่อมา คนไต้หวันก็ฉลองวันชาติของพวกเขาเอง ถึงแม้ในวันนี้ท้องฟ้าจะเต็มไปด้วยเมฆหนาปกคลุม แต่ชาวไต้หวันก็ยังคงคิดถึงวันเวลาที่สดใสยิ่งกว่านี้ และสายสัมพันธ์กับแผ่นดินใหญ่ที่แม้อยู่ใกล้กันนิดเดียวก็เสมือนเหินห่างกันไกลโพ้น

วันที่ 10 ตุลาคมเป็นวันชาติที่เรียกกันว่า “สอง 10” (วันที่ 10 เดือน 10) ของไต้หวัน โดยปีนี้เป็นปีที่ 98 สาเหตุที่ถือเอาวันนี้เป็นวันชาติก็เพื่อรำลึกถึงวันเริ่มต้นการลุกขึ้นสู้ในปี 1911 ซึ่งนำไปสู่การล่มสลายของราชวงศ์ชิงของจีน และการสถาปนาสาธารณรัฐจีน (Republic of China) ขึ้นในเดือนมกราคม 1912

ไต้หวันยังคงฉลองวันชาติกันในวันที่ 10 ตุลาคม ภายหลังที่รัฐบาลสาธารณรัฐจีนควบคุมเอาไว้ได้เฉพาะไต้หวัน แต่สูญเสียการควบคุมแผ่นดินใหญ่จีน จากชัยชนะของพวกคอมมิวนิสต์ในวันที่ 1 ตุลาคม 1949 ในวันนั้นเองที่สาธารณรัฐประชาชนจีน (People's Republic of China) จัดการเฉลิมฉลองในฐานะเป็นวันก่อตั้งประเทศของตน

ประธานาธิบดีหม่าอิงจิ่วของไต้หวัน กล่าวคำปราศรัยเนื่องในวันชาติว่า รอบปีที่ผ่านมาได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับแผ่นดินใหญ่ (ที่อยู่กันคนละฟากฝั่งช่องแคบไต้หวัน ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายนี้จึงนิยมเรียกกันว่า ความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบ cross-strait relations) มีความอบอุ่นเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก อันที่จริงแล้วตั้งแต่ที่หม่าขึ้นดำรงตำแหน่งในปี 2008 เขาก็ได้นำพาไต้หวันเข้าสู่กระบวนการปรับความสัมพันธ์กับแผ่นดินใหญ่ให้เข้าสู่ภาวะปกติได้มากที่สุดในรอบเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาทีเดียว

สำหรับผู้คนจำนวนมากบนเกาะซึ่งมีประชากรกว่า 23 ล้านคนแห่งนี้ รอบปีที่ผ่านมายังเป็นโอกาสแห่งการครุ่นคิดคำนึงถึงปัจจัยที่ผูกพันประชาชนในไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่เข้าด้วยกัน ท่ามกลางภูมิหลังของความตึงเครียดทางการเมืองและการยั่วแหย่ท้าทายกันซึ่งปะทุดุเดือดขึ้นเป็นพักๆ ตลอดระยะ 6 ทศวรรษมานี้

“ผมคิดว่าความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกันมากขึ้น สามารถช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างสองฝ่าย” หลี่กั๋วกวง (Lee Guo Guang) อาจารย์วัย 55 ปีให้ความเห็น “สำหรับตอนนี้ จะเป็นเรื่องดีมากถ้าเราไม่พยายามตอกย้ำประเด็นปัญหาที่ยังเผชิญหน้ากันอยู่ให้มากเกินไป”

“การเผชิญหน้ากันจะไม่เป็นผลดีแก่ฝ่ายใดในหมู่พวกเราเลย” หว่องเซิงหยา (Wong Sheng Ya) นักศึกษามหาวิทยาลัยวัย 19 ปีแสดงทัศนะ “เศรษฐกิจของไต้หวันนั้นเชื่อมโยงกับของจีน และเราควรตั้งจุดมุ่งหมายที่จะสร้างความร่วมมือที่เป็นมิตรต่อกันโดยที่ต่างฝ่ายต่างก็มีทั้งให้และทั้งรับ”

ในการกล่าวสุนทรพจน์เนื่องในวันชาติ (ซึ่งเป็นไปอย่างเงียบๆ ณ ทำเนียบประธานาธิบดี ท่ามกลางแขกเหรื่อไม่กี่ร้อยคน เนื่องจากงานรื่นเริงทั้งหลายในปีนี้ต้องยกเลิกไปก่อน ภายหลังพายุไต้ฝุ่น “มรกต” กระหน่ำใส่ตอนใต้ของไต้หวันในเดือนสิงหาคม ทำให้มีผู้คนอย่างน้อย 700 คนเสียชีวิตหรือสูญหาย) หม่าได้ทบทวนเรื่องที่จีนกับไต้หวันได้ลงนามในข้อตกลงรวม 9 ฉบับ บนพื้นฐานของฉันทามติปี 1992 หรือที่เรียกขานกันว่า “หลักการจีนเดียว”

ทั้งนี้ฉันทามติปี 1992 หมายถึงผลของการประชุมหารือระหว่างคณะเจ้าหน้าที่จีนและคณะเจ้าหน้าที่ไต้หวัน ซึ่งจัดขึ้นที่ไต้หวันในปีดังกล่าว โดยที่ทั้งสองฝ่ายต่างย้ำว่ามีเพียงจีนเดียวเท่านั้น อย่างไรก็ดี ทั้งสองฝ่ายต่างยึดถือการตีความที่แตกต่างกันในเรื่องที่ว่า หนึ่งเดียวอันไหนกันแน่ที่เป็นตัวแทนอันถูกต้องตามกฎหมายแต่ผู้เดียวของอำนาจอธิปไตยของจีน

นอกจากนั้นหม่าชี้ว่าทั้งสองฝ่ายยังกำลังมองหาลู่ทางเพื่อขยายขอบเขตความร่วมมือระหว่างกัน จากที่ในปัจจุบันก็มีปริมณฑลแผ่กว้างหลากหลายมากแล้ว ตั้งแต่ด้านการท่องเที่ยวไปจนถึงเรื่องความปลอดภัยทางอาหาร

“นี่เป็นผลลัพธ์ของการทำงานหนักของทั้งสองฝ่าย แต่เราก็ต้องระลึกเอาไว้ด้วยถึงความระแวงสงสัยและความแตกต่างที่เรายังคงมีอยู่ โดยที่มีรากเหง้าอยู่ในประเด็นปัญหาต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ และไม่สามารถที่จะแก้ไขให้ตกไปได้เพียงชั่วเวลาข้ามคืน” หม่ากลาว “เราจะต้องประคับประคองรักษาความเชื่อมั่น, กล้าเผชิญความเป็นจริง, และค่อยๆ สร้างความไว้วางใจกันขึ้นมา”

ตามตัวเลขที่เผยแพร่โดยกระทรวงกิจการเศรษฐกิจของไต้หวัน การค้าทวิภาคีกับจีนในช่วงเวลาระหว่างเดือนมกราคมถึงกรกฎาคมปีนี้ ได้เพิ่มขึ้นไปสู่ระดับ 43,470 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นประมาณ 22.4% ของการค้ากับต่างประเทศทั้งหมดของไต้หวัน

ภายใต้การบริหารของหม่า ผู้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานพรรคก๊กมิ่นตั๋งด้วยนั้น ไต้หวันได้ยุติมาตรการห้ามการติดต่อทั้งทางทะเล, ทางอากาศ, และทางไปรษณีย์กับจีนที่ใช้มาหลายสิบปี และเปิดการติดต่อโดยตรงในทั้ง 3 ทางนี้แล้ว ขณะเดียวกัน ช่วงปลายปี 2008 ได้มีเจ้าหน้าที่จีนแผ่นดินใหญ่มาเยือนไต้หวันโดยถือเป็นการเยือนในระดับสูงสุดเท่าที่เคยมีมา ถึงแม้ต้องประสบกับการคัดค้านจากบางภาคส่วนในไต้หวันก็ตามที

แต่ในสุนทรพจน์เนื่องในวันชาติ หม่าก็ยังรีบให้ความมั่นอกมั่นใจแก่ประชากรว่า เขาไม่ได้หลงลืมถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดภัยคุกคามทางทหารจากอีกฟากฝั่งหนึ่งของช่องแคบไต้หวัน “เรากำลังเสาะแสวงหาอย่างแข็งขันเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบที่สันติ แต่ในการดำเนินการดังกล่าวก็จะไม่นำเอาความมั่นคงแห่งชาติไปเซ่นสังเวย” เขาประกาศ “เราจะแข็งขันในการพัฒนากองทัพอาชีพ ซึ่งแม้มีขนาดเล็กแต่ก็แข็งแกร่งสำหรับการป้องกันประเทศ”

สภาพการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับแผ่นดินใหญ่ที่ยังคลุมเครือไม่กระจ่างใสเช่นนี้ ก็เป็นที่เข้าอกเข้าใจของผู้คนจำนวนมากบนเกาะแห่งนี้ แอนน์ อู่ นักศึกษามหาวิทยาลัยวัย 20 ปี กล่าวว่า “คุณไม่ได้รู้สึกถึงความตึงเครียดอะไรหนักหนาหรอกในการใช้ชีวิตประจำวันของคุณ แต่ความตึงเครียดที่ว่าก็มีอยู่จริงๆนะ”

“เราจะรู้สึกว่าความสัมพันธ์แบบสันติเป็นสิ่งที่เป็นไปได้เมื่อไม่มีเรื่องอะไรเกิดขึ้นมา แต่ทันทีที่เกิดความขัดแย้งขึ้น คุณก็จะตระหนักเลยว่าระหว่างสองฝ่ายยังคงมีช่องว่างอันกว้างใหญ่มหาศาล และคุณก็เริ่มที่จะขบคิดว่าการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีทางทหารก็ใช่ว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้” ซู่กั๋ว จาง นักศึกษาระดับหลังปริญญาตรีวัย 36 ปีกล่าว

แต่ขณะที่ประเด็นปัญหาข้ามช่องแคบยังคงเป็นเรื่องที่จะต้องใช้ความระมัดระวังเพื่อทำให้เกิดความสมดุลขึ้นมานั้น หม่าก็ยังคงแสดงความมั่นใจเกี่ยวกับอนาคต เขายกตัวอย่างเหตุการณ์แผ่นดินไหวในมณฑลเสฉวน (ซื่อชวน) ปี 2008 และพายุไต้ฝุ่นมรกต ว่าเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นถึงความเป็นมิตรกันในระดับข้ามช่องแคบ หม่าบอกว่า อารมณ์ความรู้สึกแบบ “เลือดย่อมเข้มข้นกว่าน้ำ” ซึ่งมีอยู่ในทั้งสองฝ่าย คือปัจจัยที่ทำให้เกิดความรู้สึกมองการณ์ในแง่ดี

“เมื่อได้เห็นงานครบ 60 ปีของจีน แน่นอนละว่าผมมีความรู้สึกหลายๆ อย่างปนๆ กัน แต่ผมก็รู้สึกยินดีด้วยกับพวกเขา จากการที่พวกเขาสามารถลุกขึ้นยืนผงาดและเฉลิมฉลองในลักษณะนี้ได้ ถึงอย่างไร เราก็มีบรรพบุรุษเดียวกัน” หลี่ผู้เป็นอาจารย์กล่าว

“ดิฉันไม่คิดว่าการเฉลิมฉลองของพวกเขาเป็นการกระทบกระเทือนผลประโยชน์ของใครจริงๆ หรอก มันเป็นอะไรที่ก็มีคุณค่าควรแก่การเฉลิมฉลองในวิถีทางของมันเอง” อู่พูดเห็นพ้อง

สำหรับในตอนนี้ ไต้หวันเองกำลังมองไปสู่การเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปีของตนที่จะมาถึงในปี 2011 โดยมุ่งหมายที่จะจัดอย่างเอิกเกริก

ในสุนทรพจน์ของเขา หม่าประกาศว่าคณะกรรมการที่ประกอบด้วยสมาชิก 111 คนจะจัดกิจกรรมต่างๆ กันตลอดทั้งปีเนื่องในโอกาสดังกล่าว

นี่ดูจะเป็นสิ่งที่ประชาชนกำลังคาดหวังกันอยู่ “วันชาติในปีนี้ไม่ได้มีอะไรที่ควรจดจำเอาเสียเลย มันไม่ค่อยมีรสชาติอะไร จริงๆ แล้วบางคนดูเหมือนจะลืมมันไปเลยด้วยซ้ำ” หลี่โอดครวญ

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น