นักวิจัยนาซาเผยแผ่นดินไหว 8.8 ริกเตอร์ที่ชิลี ทำแกนโลกเปลี่ยน ทำเวลาโลกสั้นลง 1.26 ไมโครวินาที และอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงถาวร อีกทั้งแผ่นดินไหวในอดีตก็เคยทำให้เวลาโลกสั้นลง เช่น เมื่อปี 2004 ซึ่งก่อสึนามิครั้งใหญ่ ทำเวลาโลกสั้นลง 6.8 ไมโครวินาที
ริชาร์ด กรอสส์ (Richard Gross ) นักวิทยาศาสตร์จากห้องปฏิบัติการจรวดขับเคลื่อนความดัน (Jet Propulsion Laboratory) องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) เผยข้อมูลกับสเปซด็อทคอมว่า แผ่นดินไหว 8.8 ริกเตอร์ที่ประเทศชิลี ซึ่งจัดเป็นแผ่นดินไหวรุนแรงอันดับที่ 7 นับแต่มีการบันทึกมานั้น อาจเปลี่ยนแปลงการหมุนของโลก (Earth's rotation ) และทำให้เวลาของโลกสั้นลง 1.26 ไมโครวินาที โดย 1 ไมโครวินาทีนั้นเท่ากับเวลา 1 ในล้านส่วนของวินาที
“การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อาจจะถาวร” กรอสส์กล่าว อย่างไรก็ดียังมีโอกาสที่การหมุนของโลกจะยืดออก แต่ตอนนี้ยังเร็วไปที่จะบอกได้
จากแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ที่กรอสส์และคณะใช้ประเมินผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่ชิลี ยังพบอีกว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งนี้ได้เคลื่อน “แกนรูปทรงของโลก” (Earth's figure axis) ไปประมาณ 3 นิ้วหรือ 8 เซนติเมตร
แกนรูปทรงของโลกนี้ต่างจากแกนโลกเหนือ-ใต้ ซึ่งหมุนรอบวันด้วยความเร็ว 1,604 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยแกนรูปทรงของโลกนี้คือแกนรอบๆ บริเวณที่มวลของโลกสมดุล และอยู่ในตำแหน่งข้างเคียงกับแกนเหนือ-ใต้ประมาณ 10 เมตร
อย่างไรก็ตาม แผ่นดินไหวที่รุนแรงก่อนหน้านี้ ได้เคยเปลี่ยนแปลงวันเวลาและแกนของโลกมาแล้วในอดีต อย่างกรณีแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุมาตรา 9.1 ริกเตอร์เมื่อปี 2004 ซึ่งทำให้เกิดมหันตภัยสึนามินั้น ได้หดเวลาของโลกไป 6.8 ไมโครวินาที และได้ขยับแกนของโลกไป 2.76 นิ้วหรือ 7 เซนติเมตร
ทั้งนี้ความยาวของเวลาโลก 1 วันนั้น ประมาณ 24 ชั่วโมงหรือ 86,400 วินาที และโดยปกติความยาวของวัน จะเปลี่ยนแปลงทีละน้อยประมาณ 1 มิลลิวินาทีหรือ 1,000 ไมโครวินาที ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้กรอสส์กล่าวว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลของกระแสน้ำในมหาสมุทรและกระแสอากาศในชั้นบรรยากาศ
กรอสส์อธิบายอีกว่า ช่วงฤดูหนาวนั้นมีวันที่ยาวกว่า เพราะแกนโลกหมุนช้าลง ส่วนฤดูร้อนแกนโลกหมุนเร็วขึ้นจึงทำให้ช่วงวันสั้นลง
สำหรับแผ่นดินไหวที่ชิลีนี้ รุนแรงน้อยกว่าแผ่นไหวที่สุมาตรามาก แต่แผ่นดินไหวครั้งนี้ ยังคงส่งผลกระทบต่อโลก เนื่องจากตำแหน่งที่เกิดแผ่นดินไหว ซึ่งพื้นดินเหนือศูนย์กลางแผ่นดินไหว (epicenter) ครั้งนี้อยู่ในตำแหน่งกลางละติจูดของโลก แทนที่จะอยู่ใกล้กับเส้นศูนย์สูตรเหมือนกับเหตุแผ่นดินไหวที่สุมาตรา
กรอสส์ยังได้เปรียบเทียบการหมุนของโลกกับนักสเก็ตน้ำแข็งซึ่งจะหุบแขนลงเพื่อหมุนตัวให้เร็วขึ้นบนลานน้ำแข็ง และเพราะแผ่นดินไหวที่สุมาตราใกล้กับศูนย์กลางของโลก ผลกระทบที่ทำให้เวลาของโลกสั้นลงจึงแรงกว่า หากแต่การเลื่อนของแผ่นเปลือกโลกจากแผ่นดินครั้งล่าสุดนี้ ทำมุมสูงชันกว่าแผ่นดินไหวที่สุมาตรา
“ด้วยเหตุนี้แผ่นเปลือกโลกที่ชิลี จึงส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนที่ของมวลโลกในแนวดิ่งมากกว่า และมีผลกระทบในการเคลื่อนย้ายแกนรูปทรงของโลกมากกว่า” กรอสส์ระบุสิ่งที่เขาค้นพบซึ่งได้มาจากข้อมูลล่าสุดของแผ่นดินไหวที่ชิลี และยังแสดงความเชื่อมั่นในความแม่นยำของแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ว่ามีความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยที่พอรับได้