xs
xsm
sm
md
lg

"เซิร์น" ยิงลำอนุภาคแรกแห่งปี 2010 เตรียมจับชนกันปลาย มี.ค.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิทยาศาสตร์ของเซิร์นชมข้อมูลการกลับมาเดินเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซีอีกครั้งเมื่อเดือน พ.ย.2009 ที่ผ่านมา (เอเอฟพี)
"เซิร์น" เริ่มเดินเครื่องยิงลำอนุภาคแรกในรอบปีเข้าท่อ “แอลเอชซี” เตรียมความพร้อม จับอนุภาคชนกันปลาย มี.ค.ที่ระดับพลังงาน 7 TeV เข้าใกล้ “บิกแบง” ระเบิดกำเนิดจักรวาล ส่วนเป้าหมายใหญ่ยิงอนุภาคชนกันที่ระดับพลังงาน 14 TeV ต้องรอปลายปีหน้า

เซิร์น (CERN) ยิงลำอนุภาคโปรตอนเข้าท่อเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี (LHC) เมื่อเช้าวันที่ 28 ก.พ.53 ที่ผ่านมา ทั้ง 2 ทิศทาง คือ ทวนเข็มนาฬิกาและตามเข็มนาฬิกา ซึ่งเป็นการยิงลำอนุภาคครั้งแรกของปี 2010 หลังจากหยุดเดินเครื่องในช่วงฤดูหนาวเป็นเวลา 2 เดือนครึ่ง นับแต่การเดินเครื่องเมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่ผ่านมา ซึ่งสำนักข่าวเอพีระบุว่า นักวิทยาศาสตร์ใช้ช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อตรวจสอบและปรับปรุงเครื่องเร่งอนุภาค ให้มีความพร้อมกับการจับอนุภาคชนกันที่ระดับพลังงานสูงกว่าปลายปีที่ผ่านมาถึง 3 เท่าได้ อีกทั้งยังเป็นระดับพลังงานที่ไม่เคยมีเครื่องเร่งอนุภาคใดทำได้มาก่อน

ทั้งนี้ การเดินเครื่องเร่งอนุภาคเพียงไม่กี่สัปดาห์เมื่อเดือน ธ.ค. ปีที่ผ่านมานั้น เอเอฟพีระบุว่า เป็นการสร้างสถิติเร่งอนุภาคชนกันที่ระดับพลังงานสูงถึง 2.36 TeV ซึ่งเป็นระดับพลังงานสูงที่สุดเท่าที่เคยมีการเร่งอนุภาคชนกัน และมีอนุภาคชนกันมากกว่าล้านตัว โดยก่อนหน้านั้นไม่เคยมีการเร่งอนุภาคชนกันครั้งใดที่มีระดับพลังงานสูงกว่า 0.98 TeV ซึ่งพลังงาน 1 TeV เทียบเท่าพลังงานในการบินเคลื่อนที่ของยุง 1 ตัว

การเดินเครื่องครั้งล่าสุดนี้ เป็นการทดลองต่อเนื่องจากความสำเร็จเมื่อปลายปีที่แล้ว หลังจากที่เซิร์นต้องหยุดซ่อมแซมเครื่องนานข้ามปี เนื่องจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินเครื่องยิงลำอนุภาคเข้าท่อแอลเอชซีครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 ก.ย.2008 และทำให้เกิดความเสียหายต่อชิ้นส่วนสำคัญของเครื่องจักรเร่งอนุภาคนี้ ซึ่งต้องใช้เงินซ่อมแซมไปกว่า 1,300 ล้านบาท

หากแต่การเดินเครื่องครั้งล่าสุดนี้เซิร์นมีเป้าหมายเร่งอนุภาคชนกันที่ระดับพลังงาน 7 TeV เพื่อขยับใกล้เงื่อนไขระเบิด “บิกแบง” (Big Bang) โดยจะรักษาระดับพลังงานนี้ไว้ต่อเนื่องไปอีก 18-24 เดือน และคาดว่าจะเริ่มปรับลำอนุภาคให้ชนกันได้ประมาณปลายเดือน มี.ค.นี้ และจากนั้นนักวิทยาศาสตร์ของเซิร์นตั้งเป้าที่จะจับอนุภาคชนกันที่ระดับ 14 TeV แต่จะเกิดขึ้นหลังจากการหยุดเดินเครื่องในทางเทคนิคช่วงครึ่งปีหลังของปี 2011

เป้าหมายการทดลองของเครื่องแอลเอชซี คือการแก้ปัญหาในทางฟิสิกส์และปรากฏการณ์ที่คาดว่ามีอยู่จริง เช่น สสารมืด ปฏิสสาร และท้ายที่สุดคือไขปริศนากำเนิดเอกภพซึ่งเกิดขึ้นเมื่อหลายพันล้านปีก่อน และหลายทฤษฎีเสนอว่าเอกภพกำเนิดขึ้นจากระเบิดบิกแบง

“เรากำลังเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง” คริสติน ซัตตอน (Christine Sutton) โฆษกหญิงของเซิร์นกล่าว

ความผิดพลาดที่ทำให้ต้องหยุดเดินเครื่องนานข้ามปี เป็นบทเรียนสำคัญแก่นักวิทยาศาสตร์ของเซิร์น และทีมผู้เชี่ยวชาญได้ตรวจสอบและปรับปรุงวงจรเชื่อมต่ออิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงอุปกรณ์ส่วนอื่นๆ ของเครื่องจักรด้วย แต่พวกเขาต้องพยายามเพิ่มขึ้นอีกเพื่อสร้างความมั่นใจว่าเครื่องแอลเอชซีจะเดินเครื่องที่ระดับพลังงานสูงกว่าเดิมได้

“มันมีเส้นทางที่แสนยาวไกลระหว่างการให้ลำอนุภาควิ่งวนไปรอบๆ ท่อ และการทำให้เครื่องเร่งอนุภาคทำงานได้ที่ระดับพลังงานสูงสุด เหมือนกับการออกแบบรถแข่งฟอร์มูลาวัน (Formula One) ซึ่งครั้งแรกที่คุณปล่อยรถแข่งออกไป นักแข่งของเราจะยังไม่สามารถวิ่งวนไปรอบๆ สนามได้เร็วอย่างที่เขาสามารถทำได้ จนกว่าจะได้เรียนรู้การควบคุมและรับมือกับรถแข่งนั่นแหละ” ซัตตอนเปรียบเปรย
นักวิทยาศาสตร์นั่งดูข้อมูลการเดินเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซีครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 ก.ย.2008 (รอยเตอร์)
กำลังโหลดความคิดเห็น