xs
xsm
sm
md
lg

เฟสแรกผ่าน "เซิร์น" จับโปรตอนชนกันสำเร็จ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เหล่านักวิทยาศาสตร์และผู้บริหารของเซิร์น ขณะร่วมกันรับชมสัญญาณภาพจากเครื่องเร่งอนุภาคใหญ่ ในช่วงเวลาที่ยิงลำแสงชนกัน เพียง 3 วันหลังจากทดสอบยิงลำแสงเดียวได้ครบรอบ (AFP/Fabrice Coffrini)
เครื่องเร่งอนุภาคที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้เดินหน้ายิงลำแสงชนกันแล้ว เมื่อวันที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา อนุภาคแรกแห่งการชนกันของโปรตอนได้เกิดขึ้น หลังปิดซ่อมแซมและล่าช้ากว่ากำหนดเดิมนับปี แต่ครั้งนี้เป็นการทดลองใช้พลังงานระดับต่ำ ก่อนจะเดินเครื่องเต็มกำลังในปีหน้า

องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศในทวีปยุโรปเพื่อการวิจัยและพัฒนาทางด้านนิวเคลียร์ หรือเซิร์น (The European Organization for Nuclear Research: CERN) ได้ใช้งานเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี (LHC) ยิงอนุภาคให้ชนกันตามที่รอคอยมานานหลายสิบปี เมื่อคืนวันที่ 23 พ.ย.52 (ตามเวลาประเทศไทย)

เดิมทีกำหนดการยิงอนุภาคชนกันของเครื่อง LHC ตามที่ตั้งใจไว้นั้นคือช่วง 2 เดือนแรกของปี พ.ศ.2553 เพื่อจะหาร่องรอยของการกำเนิดจักรวาล ผ่านอนุภาคที่เล็กที่สุด แต่เซิร์นก็ได้ทดลองชนกันอนุภาคโปรตอนในระดับพลังงานต่ำไปก่อนเมื่อคืนวันที่ 23 พ.ย.52 ที่ผ่านมา (ช่วงประมาณ 21.00 น.ของวันเดียวกันตามเวลาประเทศไทย)

ลำแสงโปรตอน 2 ลำ จาก 2 ทิศทางได้พุ่งเข้าชนกันภายในอุโมงค์ขนาดใหญ่ซึ่งขดเป็นวงกลมยาว 27 กิโลเมตรลึก 100 เมตรใต้ชายแดนฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์ โดยการระเบิดดังกล่าว บันทึกไว้โดยเครื่องตรวจวัดอนุภาคจำนวน 4 เครื่อง ที่ติดตั้งอยู่ตามจุดต่างๆ แยกเป็น 4 สถานี 4 ห้องปฏิบัติการ นับเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นการระเบิดของโปรตอน

ในช่วงแรกลำแสงได้ตัดกันที่จุด 1 และ 5 ในอุโมงค์ โดยมีเครื่องตรวจวัดอนุภาคแอลตลาส (ATLAS) และ ซีเอ็มเอส (CMS) จับสัญญาณการระเบิด ซึ่งแอตลาสได้บันทึกการระเบิดครั้งแรกไว้ที่เวลา 14.22 น. (21.22 น. ตามเวลาประเทศไทย) จากนั้นซีเอ็มเอสก็ได้บันทึกเส้นทางแสงตัดกันในอีกหลายชั่วโมงต่อมา

กระทั่งตอนค่ำของเซิร์น (ประมาณ 03.00 น.ของวันที่ 24 พ.ย.ตามเวลาประเทศไทย) เครื่องตรวจวัดอนุภาคอลิซ (ALICE) ก็ได้รับสัญญาณการชนกัน และตามด้วยเครื่องแอลเอชซีบี (LHCb) ที่ได้บันทึกการระเบิดในเวลาต่อมา

"นับเป็นข่าวดีที่สุด ที่เราได้เริ่มยุคสมัยแห่งความมหัศจรรย์ของฟิสิกส์ และหวังว่าการค้นพบหลังจากทำงานมายาวนานกว่า 20 ปีของนานาชาติ ที่ได้สร้างเครื่องทดลองขนาดใหญ่ จะได้ทดลองสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน" ตัวแทนนักฟิสิกส์จาก 2,000 กว่าคนในสถานีแอตลาสเผยความรู้สึก

ขณะที่ทีมงานทางห้องปฏิบัติการต่างๆ ทั้ง 4 ต่างลุ้นให้เกิดการชนกันครั้งแรก ซึ่งท้ายที่สุดแถลงการณ์ของเซิร์นก็แจ้งว่าระบบควบคุมลำแสงที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน และการชนกันนั้นเป็นไปได้อย่างดี

ที่จริงแล้วการระเบิดที่ต้องการก่อให้เกิดร่องรอยแห่งกำเนิดจักรวาลนั้น จะต้องให้ลำแสงชนกันที่ความเร็ว เพื่อจำลองสถานการณ์หลังเกิดบิกแบงในช่วง 1-2 แสนล้านส่วนวินาทีเท่านั้น ซึ่งการทดลองชนกันครั้งนี้ถือเป็นการทดสอบศักยภาพของเครื่อง และจะค่อยๆ เร่งระดับเดินเครื่องเต็มที่ภายในปีหน้า เพื่อการทดลองเต็มรูปแบบ
ภาพจำลองเครื่องเร่งอนุภาคใหญ่ในการทำงานยิงลำแสง (AFPTV)
ผู้อำนวยการทั่วไปเซิร์น กับฉากหลังวงแม่เหล็กขนาดใหญ่ที่จะนำพาลำแสงไปตามท่อ เพื่อชนกัน (AFP/File/Fabrice Coffrini)
จอแสดงสถานะของลำแสงโปรตอนที่ถูกยิงแบบตามและทวนเข็มนาฬิกา เพื่อให้ตัดผ่านกันจนเกิดการระเบิด (CERN)
ลำแสดงกำลังเดินทางปะทะกันที่เครื่องจับอนุภาค CMS ตรวจได้ (CERN)
ลำแสงโปรตอนตัดกันที่สถานี ALICE ตรวจจับได้ (CERN)
กำลังโหลดความคิดเห็น