xs
xsm
sm
md
lg

เซิร์นอุ่นเครื่อง LHC รอบ 2 ฉลุย พร้อมชนโปรตอนสัปดาห์หน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรดานักวิทยาศาสตร์และเจ้าหน้าที่ภายในศูนย์ควบคุมของเซิร์นต่างปรบมือแสดงความดีใจภายหลังสามารถเดินเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซีได้อีกครั้ง เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 52 (เอเอฟพี)
เซิร์นเริ่มอุ่นเครื่องเร่งอนุภาค LHC อีกครั้ง หลังปิดซ่อมนานปีกว่า คาดอีก 1 สัปดาห์ จะทดลองยิงโปรตอน 2 ทิศทาง พุ่งเข้าหากันที่พลังงานระดับต่ำ พร้อมเก็บข้อมูลการชนครั้งแรก เตรียมความพร้อมก่อนทดลองจริงเต็มศักยภาพต้นปีหน้า

องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศในทวีปยุโรปเพื่อการวิจัยและพัฒนาทางด้านนิวเคลียร์ หรือเซิร์น (The European Organization for Nuclear Research: CERN) เริ่มเปิดเดินเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี (LHC) อย่างเป็นทางการอีกครั้งเมื่อกลางดึกของคืนวันที่ 20 พ.ย.52 ตามเวลาในประเทศไทย หลังจากปิดซ่อมแซมนานถึง 14 เดือน เนื่องจากเกิดความผิดพลาดทางเทคนิคในการเดินเครื่องครั้งแรกเมื่อเดือน ก.ย. 51 ตามที่เจมส์ กิลลีส์ (James Gillies) โฆษกของเซิร์นให้สัมภาษณ์ในเอเอฟพี

กิลลีส์ เปิดเผยว่า เซิร์นเดินเครื่องเร่งอนุภาคเร็วกว่าที่คาดกันไว้ราว 9 ชั่วโมง โดยยิงลำโปรตอนแรก เข้าสู่ท่อของแอลเอชซีและให้วิ่งวนในทิศทางตามเข็มนาฬิกาเมื่อเวลาประมาณ 22.00 น. ของวันที่ 20 พ.ย. ที่ผ่านมา (ตามเวลาในประเทศไทย) และอีกราว 2 ชั่วโมงถัดจากนั้น จึงเริ่มยิงลำโปรตอนอีกลำหนึ่งในทิศทางตรงกันข้าม

ในการเดินเครื่องครั้งนี้ เซิร์นเริ่มต้นเร่งอนุภาคโปรตอนที่ระดับพลังงานต่ำ แล้วค่อยๆ เร่งให้มีพลังงานสูงขึ้นเป็นลำดับ เพื่อหลีกเลี่ยงต่อการเกิดความผิดพลาดในระหว่างที่มุ่งหน้าสู่การทดลองทางวิทยาศาสตร์ครั้งสำคัญ โดยจะค่อยๆ เร่งเพิ่มระดับพลังงานขึ้นไปจนถึง 3.5 TeV (เทราอิเล็กตรอนโวลต์) เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์ศึกษาการทำงานของระบบระหว่างเดินเครื่อง ก่อนที่จะทำการทดลองทำให้ลำโปรตอนที่ระดับพลังงาน 7 TeV พุ่งเข้าชนกัน ซึ่งนั่นเป็นระดับพลังงานสูงสุดของแอลเอชซี โดยคาดว่าจะเริ่มการทดลองดังกล่าวได้ในเดือน ม.ค. 53

โฆษกของเซิร์นระบุว่า นี่เป็นการเริ่มต้นเข้าสู่การทดลองทางฟิสิกส์อันเป็นเป้าหมายอีกครั้ง ก่อนที่จะบังคับให้ลำโปรตอนทั้งสองทิศทางพุ่งเข้าชนกัน และวิเคราะห์ผลที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ซึ่งเป็นการจำลองเหตุการณ์ "บิกแบง" (Big Bang) เมื่อราว 1.4 หมื่นล้านปีก่อน นอกจากนั้นเซิร์นจะใช้เครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซีนี้ยิงลำไอออนตะกั่วที่มีมวลหนักมากกว่าโปรตอน 160 เท่า ให้ปะทะกันด้วย ซึ่งคาดว่าน่าจะช่วยเปิดเผยความลับทางวิทยาศาสตร์ได้อีกมาก

"ขั้นตอนต่อไปที่สำคัญคือการบังคับให้ลำโปรตอนทั้งสองทิศทางพุ่งเข้าชนกันที่ระดับพลังงานต่ำ ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้เวลาอีกราว 1 สัปดาห์นับจากนี้" โฆษกของเซิร์นเผยในเอพี ซึ่งนั่นจะทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้ข้อมูลการชนกันของอนุภาคโปรตอนครั้งแรก และทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถตรวจวัดมาตรฐานการทำงานของเครื่องมือชิ้นสำคัญนี้ได้ ก่อนเดินหน้าสู่การทำงานครั้งสำคัญที่นักฟิสิกส์อนุภาคจากทั่วโลกตั้งตารอคอยอย่างกระตือรือร้น เพราะคาดหวังว่าเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซีจะช่วยไขปริศนาการกำเนิดจักรวาล

ที่ผ่านมา นักฟิสิกส์จำนวนไม่น้อยใช้เครื่องเร่งอนุภาควงกลมขยาดย่อมศึกษาอะตอมที่อุณหภูมิห้องมาเป็นเวลาหลายสิบปี ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เคยเข้าใจกันว่าโปรตอนและนิวตรอนคือองค์ประกอบที่เล็กที่สุดในนิวเคลียสของอะตอม ทว่าเครื่องเร่งอนุภาควงกลมนั้นแสดงให้เห็นว่านิวเคลียสยังถูกสร้างขึ้นได้จาก "ควาร์ก" (quark) และ "กลูออน" (gluon) แล้วยังมีอนุภาคและแรงอื่นๆ อีก ทว่านักวิทยาศาสตร์ยังมีคำถามอีกมากมายเกี่ยวกับปฏิสสาร (antimatter) สสารมืด (dark matter) และสมมาตรยิ่งยวด (supersymmetry) ซึ่งพวกเขาต้องการคำตอบจากเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี

"มันยอดเยี่ยมมากทีเดียวที่ได้เห็นลำโปรตอนวิ่งวนอยู่ในท่อแอลเอชซีอีกครั้ง เรายังพอมีทางไปอยู่บ้างก่อนที่เครื่องมือฟิสิกส์นี้จะเริ่มต้นทำงาน ทว่าด้วยความสำคัญของมันนั้น จะช่วยให้เราดำเนินการไปได้ด้วยดีตลอดเส้นทางไปสู่จุดหมาย" รอล์ฟ-ดีเตอร์ ฮอยเออร์ (Rolf-Dieter Heuer) ผู้อำนวยการเซิร์น เผยความรู้สึกในเอพี

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 51 เซิร์นได้เปิดเดินเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซีเป็นครั้งแรก แต่เพียง 9 วัน หลังจากนั้นก็เกิดเหตุขัดข้องทางเทคนิคเกี่ยวกับระบบไฟฟ้า จนเป็นเหตุให้แม่เหล็กละลาย ทำให้เซิร์นต้องหยุดเดินเครื่องเร่งอนุภาค และปิดซ่อมแซมและเตรียมความพร้อมนานถึง 14 เดือน ก่อนที่จะเริ่มเดินเครื่องอีกครั้งดังกล่าว.
นักวิทยาศาสตร์เซิร์นสุดดีใจที่ได้เดินเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซีอีกครั้ง (เอเอฟพี)
ภายในห้องคอมพิวเตอร์กริดของเซิร์น (เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น