หลังทำให้ทั่วโลกตื่นเต้น กับการทดสอบปล่อยลำอนุภาค เข้าเครื่องเร่งขนาดใหญ่ที่สุดในโลกไปเมื่อสัปดาห์ก่อน ล่าสุด "เซิร์น" ได้ออกมาเปิดเผยความเสียหาย ที่เกิดขึ้นกับเครื่องทดลองอันทรงพลัง และอาจต้องหยุดดำเนินงานอย่างน้อย 2 เดือน
ทั้งนี้เซิร์น (CERN) หรือองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศในทวีปยุโรปเพื่อวิจัยและพัฒนาทางด้านนิวเคลียร์ (European Center for Nuclear Research) ได้เปิดเผยผ่านเว็บไซต์ขององค์กรว่า ระหว่างการเดินเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี (Large Hadron Collider: LHC) ในส่วนสุดท้าย หรือบริเวณเซคเตอร์ที่ 34 (sector 34) ด้วยกระแสไฟฟ้าที่สูงถึง 5 เทราอิเล็กตรอนโวลต์ โดยไม่ได้ปล่อยอนุภาคเข้าไปนั้น ได้เกิดเหตุขึ้น ที่ส่งผลให้ฮีเลียมปริมาณมากรั่วเข้าสู่อุโมงค์
เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ประเมินว่า อุบัติเหตุดังกล่าว น่าจะเกิดจากปัญหาในการเชื่อมต่อทางไฟฟ้าระหว่างแม่เหล็ก 2 ตัว ซึ่งอาจละลายเมื่อกระแสสูง นำไปสู่ความผิดพลาดทางด้านกลไก แต่เซิร์นก็ย้ำว่า ได้ดำเนินการตามหลักความปลอดภัยอย่างเข้มงวด เพื่อความมั่นใจว่า จะไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงใดๆ ต่อประชาชน
แต่จากการประเมินในเชิงลึก พบว่าจำเป็นต้องเพิ่มอุณหภูมิให้กับส่วนที่เสียหายเพื่อทำการเปลี่ยน และคาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 2 เดือนหยุดการดำเนินงานของเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซีไว้ก่อน
ด้านสำนักข่าวเอพีรายงานคำแถลงของเจมส์ กิลลีส์ (James Gillies) โฆษกของเซิร์น ว่าผู้เชี่ยวชาญได้เข้าไปในอุโมงค์ที่ขดเป็นวงกลมยาว 27 กิโลเมตร อยู่ภายใต้พรมแดนระหว่างสวิตเซอร์แลนด์และฝรั่งเศส ซึ่งติดตั้งเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซีไว้ เป็นเวลาราว 36 ชั่วโมง เพื่อประเมินความเสียหาย หลังการดำเนินงานปล่อยอนุภาคครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา
"มันเร็วเกินไปที่จะกล่าวเจาะจงลงไปว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ดูคล้ายว่ามีความผิดพลาด ในการเชื่อมต่อทางไฟฟ้าระหว่างแม่เหล็ก 2 ตัว ซึ่งหยุดสภาวะการเป็นตัวนำยวดยิ่งและเกิดละลาย ซึ่งนำไปสู่ความผิดพลาดของกลไก และทำให้ฮีเลียมรั่วออกมา" เอพีรายงานคำแถลงของกิลลีส์ โดยเขาระบุว่าส่วนที่เสียหายนั้นต้องได้การเพิ่มอุณหภูมิให้สูงกว่าศูนย์องศาสัมบูรณ์ จึงจะซ่อมแซมได้
กิลลีส์กล่าวว่า ความผิดภพลาดเช่นนี้เกิดขึ้นได้บ่อย กับเครื่องเร่งอนุภาคทั่วไป แต่สำหรับกรณีนี้มีความซับซ้อนกว่ามาก เนื่องจากเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซีดำเนินการที่ระดับอุณหภูมิเข้าใกล้ศูนย์องศาสัมบูรณ์ ซึ่งเย็นยะเยือกยิ่งกว่าอวกาศห้วงลึก ทั้งนี้เพื่อให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพสูงสุด
"เมื่อเกิดเหตุลักษณะนี้กับเครื่องเร่งอนุภาคอื่นๆ ก็ใช้เวลาเพียง 2-3 วันในการซ่อมแซม แต่เพราะนี่คือเครื่องจักรตัวนำยวดยิ่ง คุณจึงต้องใช้เวลานานที่จะทำให้ลดและเพิ่มอุณหภูมิเครื่อง ซึ่งหมายความว่าเรากำลังจะหยุดการดำเนินงานเป็นเวลา 2 เดือน โดยต้องใช้เวลา 2-3 อาทิตย์เพื่อเพิ่มอุณหภูมิ จากนั้นก็ซ่อม และลดอุณหภูมิอีกครั้ง" กิลลีส์แจง
ทั้งนี้เครื่องเร่งอนุภาคมูลค่านับล้านล้านบาท ซึ่งได้รับการออกแบบและก่อสร้างเป็นเวลามากกว่า 2 ทศวรรษนั้น คือเครื่องเร่งอนุภาคให้ชนกันที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยเครื่องเร่งอนุภาคนี้จะปล่อยลำอนุภาคโปรตอนจากนิวเคลียสของโปรตอนให้วิ่งวนรอบอุโมงค์ด้วยความเร็วเข้าใกล้ความเร็วแสง จากนั้นให้ลำอนุภาคโปรตอน 2 ลำที่วิ่งสวนทางกันชนกัน แล้วเผยอนุภาคเล็กที่สุดซึ่งก่อตัวขึ้นครั้งแรกหลังเกิด "บิกแบง" (big bang) ซึ่งตามทฤษฎีระบุว่าเป็นการระเบิดครั้งใหญ่ที่ก่อให้เกิดดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์และทุกสิ่ง
การทดลองของเซิร์นด้วยการจับอนุภาคชนกันนั้น ยังหวังที่จะได้เผยข้อมูลเกี่ยวกับสสารมืด ปฏิสสารและอาจจะรวมถึงมิติพิเศษซึ่งซ่อนอยู่ในกาลอวกาศ และยังอาจได้พบอนุภาคในทางทฤษฎีที่เรียกว่า "ฮิกก์ส" (Higgs boson) หรือบางครั้งเรียกว่า "อนุภาคพระเจ้า" เพราะเชื่อว่าเป็นอนุภาคที่ทำให้เกิดมวลแก่อนุภาคอื่นๆ แล้วกลายเป็นสสารที่สร้างเอกภพขึ้นมา
นอกจากเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซีแล้ว ยังมีเครื่องเร่งอนุภาคขนาดเล็กซึ่งใช้งานกันมาหลายทศวรรษ เพื่อศึกษาการสร้างอะตอม ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าโปรตอนและนิวตรอนเป็นองค์ประกอบที่เล็กสุดของนิวเคลียสอะตอม แต่การทดลองได้แสดงให้เห็นว่า โปรตอนและนิวตรอนนั้นประกอบขึ้นจากควาร์กและกลูออน และยังมีแรงกับอนุภาคอื่นๆ อยู่อีก
Special : "เซิร์น" กับปฏิบัติการค้นหาต้นตอจักรวาล