xs
xsm
sm
md
lg

3 ญี่ปุ่นกวาดเรียบโนเบลฟิสิกส์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ซ้ายไปขวา) มาโกโต โคบายาชิ, โตชิฮิเดะ มัสกาวา และ โยอิชิโร นามบุ (ภาพรอยเตอร์)
โนเบลฟิสิกส์ปีนี้ กลับมาที่ "ทฤษฎี" ตกเป็นของ 3 นักฟิสิกส์เชื้อชาติญี่ปุ่น โดยหนึ่งในนั้นคือ "นามบุ" ในนามสหรัฐฯ ผู้พัฒนาแบบจำลองพื้นฐาน อันนำไปสู่การหลอมรวมทุกแรงเข้าไว้ภายใต้ทฤษฎีเดียว และอีกส่วนมอบให้ 2 ญี่ปุ่นที่ทำนายการมีอยู่ของควาร์ก

เมื่อเวลา 17.30 น. ของวันที่ 7 ต.ค.51 (ตามเวลาประเทศไทย) ราชบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน (Royal Swedish Academy of Sciences) ได้ประกาศมอบรางวัลโนเบลในสาขาฟิสิกส์ประจำปี 2551 ให้แก่นักฟิสิกส์เชื้อชาติญี่ปุ่น ที่มุ่งศึกษาทฤษฎีพื้นฐานทางด้านฟิสิกส์โดยแบ่งรางวัลออกเป็น 2 ส่วน ให้แก่ 3 คน

รางวัลครึ่งหนึ่งมอบให้แก่ มาโกโต โคบายาชิ (Makoto Kobayashi) วัย 64 ปี นักวิทยาศาสตร์จากองค์กรวิจัยเครื่องเร่งพลังงานสูง (High Energy Accelerator Research Organization : KEK) ในเมืองสึคุบะ ประเทศญี่ป่น และ โตชิฮิเดะ มัสกาวา (Toshihide Maskawa) วัย 68 ปี จาก สถาบันฟิสิกส์ทฤษฎียุกาวา มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญีปุ่น (Yukawa Institute for Theoretical Physics (YITP), Kyoto University Kyoto, Japan)

ทั้งนี้ คณะกรรมการได้มอบรางวัลให้ทั้ง 2 โดยกล่าวสดุดีต่อการค้นพบ "ต้นกำเนิดการทำลายสมมาตรที่เกิดขึ้นเอง (Spontaneous symmetry breaking) ซึ่งทำนายการมีอยู่ของควาร์กในธรรมชาติ ว่ามีอย่างน้อย 3 ตระกูล"

ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นของโยอิชิโร นามบุ (Yoichiro Nambu) วัย 87 ปี ในฐานะนักวิจัยแห่งสหรัฐฯ จากสถาบันเอนริโก เฟอร์มิ มหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐฯ (Enrico Fermi Institute, University of Chicago Chicago, IL, USA)

ทั้งนี้ คณะกรรมการได้กล่าวสดุดีไว้ว่า สำหรับการพัฒนา "แบบจำลองพื้นฐานของอนุภาคมูลฐานในทางฟิสิกส์อนุภาค ซึ่งรวมโครงสร้างที่เล็กที่สุดของสสาร และรวม 3 ใน 4 ของแรงพื้นฐาน อยู่ภายในทฤษฎีเดียว

ด้านเอเอฟพีรายงานว่า การศึกษาด้านฟิสิกส์อนุภาคของทั้ง 3 คนนั้น ฟพุ่งความสนใจไปที่เครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี (Large Hadron Collider: LHC) ซึ่งเป็นเครื่องเร่งอนุภาคที่ใหญ่สุดในโลกของ "เซิร์น" (CERN) และเพิ่งเดินเครื่องยิงลำแสงแรกไปเมื่อวันที่ 10 ก.ย. โดยนามบุได้พัฒนาแนวคิดที่เรียกว่า "การทำลายสมมาตรที่เกิดขึ้นเอง" (Spontaneous symmetry breaking) ในสภาพตัวนำยวดยิ่งและอนุภาคมูลฐาน

ทฤษฎีเหล่านี้เป็นหลักของแบบจำลองพื้นฐาน (Standard Model) ในทางฟิสิกส์ ที่รวมแรงพื้นฐาน 3 ใน 4 ที่มีอยู่ในธรรมชาติให้อยู่ในทฤษฎีเดียว ได้แก่ แรงนิวเคลียร์อย่างอ่อน แรงนิวเคลียร์อย่างเข้ม และแรงแม่เหล็กไฟฟ้า โดยเอเอฟพีอ้างคำแถลงของคณะกรรมการรางวัลโนเบลว่า ทฤษฎีของนามบุได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประโยชน์อย่างยิ่ง และเสริมแบบจำลองพื้นฐานของอนุภาคมูลฐาน

ส่วนเอพีกล่าวถึงนามบุว่า เขาได้ย้ายไปสหรัฐฯ เมื่อปี 2495 และเป็นศาสตราจารย์ประจำที่มหาวิทยาลัยชิคาโกได้ราว 40 ปี จากนั้นเขาได้เป็นพลเมืองสหรัฐฯ เมื่อปี 2513 พร้อมระบุคำแถลงของคณะกรรมการโนเบลด้วยว่า นามบุได้เสนอทฤษฎีซึ่งอธิบายด้วยสูตรทางคณิตศาสตร์เมื่อช่วงปี 2503

ขณะที่เอเอฟพีรายงานว่าโคบายาชิและมัสกาวาได้อธิบายเรื่องการทำลายสมมาตร โดยใช้แบบจำลองพื้นฐานที่ขยายความด้วยอนุภาคมูลฐานที่เรียกว่า "ควาร์ก" (quark) 3 ตระกูล ซึ่งสมมุติฐานของทั้งสองได้นำมาทดลองเป็นเวลาเกือบ 3 ทศวรรษแล้ว

"การทำลายสมมาตรที่เกิดขึ้นเองตามที่นามบุศึกษานั้นต่างไปจากการทำลายสมมาตรที่อธิบายโดย มาโกโตโคบายาชิ และโทชิฮิเดะ มัสกาวา โดยปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเองนี้ดูคล้ายว่ามีอยู่ในธรรมชาติมาตังแต่เริ่มต้นของเอกภพ อีกทั้งได้สร้างความแปลกใจอย่างยิ่ง เมื่อปราฏการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นครั้งแรกในการทดลองทางฟิสิกส์อนุภาคเมื่อปี 2507" เอพีระบุคำแถลงของคณะกรรมการ

แต่นักวิทยาศาสตร์เพิ่งจะยืนยันสิ่งที่โคบายาชิและมัสกาวานำเสนอตั้งแต่ปี 2515 ได้เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ โดยเมื่อปลายปี 2544 เครื่องตรวจวัดอนุภาค "บาบาร์" (BaBar) ที่เมืองแสตนฟอร์ด สหรัฐฯ และเครื่องตรวจวัดอนุภาค "เบลล์" (Belle) ที่เมืองซึคุบะ ญี่ปุ่น ซึ่งทำงานโดยเป็นอิสระต่อกัน ได้ตรวจพบการทำลายสมมาตร โดยผลเป็นไปตามที่โคบายาชิและมัสกาวาทำนาย

"ผมมีความสุขมากที่คุณนามบุได้รับรางวัลนี้ด้วย ผมคิดว่ามีโอกาสมากเลยในปีนี้" เอเอฟพีระบุคำกล่าวของมัสกาวาที่ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ออนไลน์จิจิเพรส (Jiji Press) ของญี่ปุ่น และกล่าวว่านามบุเป็นต้นแบบของเขา

ทางด้านองค์กรวิจัยเครื่องเร่งพลังงานสูงซึ่งโคบายาชิทำงานอยู่นั้นก็กล่าวสดุดีผู้ได้รับรางวัลโนเบลประจำปีนี้ โดย โยเฮอิ มอริตะ (Yohei Morita) โฆษกขององค์กรวิจัยกล่าวว่า เป็นข่าวดีขององค์กรอย่างมาก และ ศ.โคบายาชิ ศ.มัสกาวา และศ.นามบุ ได้สร้างผลงานที่ยิ่งใหญ่

พร้อมกันนี้ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้สอบถามไปยัง ดร.อรรถกฤต ฉัตรภูติ อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งให้ความเห็นว่า ในบรรดาผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปีนี้ นามบุคือผู้ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด และเป็นผู้มีผลงานสำคัญๆ ในหลายด้าน และยังเป็นคนแรกๆ ที่ศึกษาทฤษฎีสตริง (String Theory) ซึ่งเป็นทฤษฎีที่เขากำลังศึกษาอยู่

ส่วน ดร.อภิสิทธิ์ อึ้งกิจจานุกิจ อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า เคยร่วมประชุมวิชาการที่มีโคบายาชิและมัสกาวาเข้าร่วม แต่ยังไม่เคยได้พบนามบุซึ่งนับเป็นคนดังในวงการและมีผลงานที่โดดเด่น เป็นผู้บุกเบิกงานสำคัญๆ หลายชิ้น

"ผลงานของทั้งสามเป็นพื้นฐานให้เข้าใจสมบัติของอนุภาคพื้นฐาน และหลักของฟิสิกส์ยุคใหม่นี้อยู่ภายใต้เรื่องความสมมาตร และนับว่ารางวัลปีนี้เหมาะสมดี โดยเฉพาะนามบุซึ่งสมควรได้รับเนื่องจากอายุมากแล้ว อาจจะไม่ไหวเสียก่อน เนื่องจากรางวัลโนเบลมอบให้กับคนที่มีชีวิตอยู่เท่านั้น ถ้าไม่มีผลงานของพวกเขา ความรู้ของฟิสิกส์คงจะไปได้ช้ากว่านี้" ดร.อภิสิทธิ์กล่าว

ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปีนี้จะได้เงินรางวัล 48 ล้านบาทรร่วมกัน พร้อมเกียรติบัตรและร่วมพิธีมอบรางวัลในวันที่ 10 ธ.ค. ซึ่งเป็นวันครบรอบการเสียชีวิตของ อัลเฟรด โนเบล (Alfred Nobel) ผู้ก่อตั้งรางวัลอันทรงเกียรตินี้


การประกาศผลรางวัลโนเบลประจำปี 2008

มาโกโต โคบายาชิ ระหว่างแถลงข่าว (รอยเตอร์)
โตชิฮิเดะ มัสกาวา (รอยเตอร์)
โยอิชิโร นามบุ ระหว่างให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ (รอยเตอร์)
คณะกรรมการกำลังประกาศรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ให้แก่ นักฟิสิกส์ทฤษฎีทั้ง 3 โดยทั้งหมดเชื้อชาติญี่ปุ่น แต่ ศ.นามบุถือสัญชาติอเมริกัน เครดิตจึงตกเป็นของสหรัฐฯ  (ภาพเอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น