"ดร.เจษฎา" เผยภาพเอกซ์เรย์เครื่องจีที 200 พบกลวงเห็นๆ ไร้ซึ่งวงจรใดๆ ระบุเป็นข้อพิสูจน์เครื่องนี้ทำงานไม่ได้ทั้งในเชิงทฤษฎี เชิงกลไกและเชิงประสิทธิภาพ แจงที่ตรวจพบเพราะความชำนาญของเจ้าหน้าที่ในการหาข้อพิรุธจุดซ่อนระเบิดและการข่าวที่ดี แนะใช้สุนัข เน้นการข่าวที่ดี ดีกว่ามุ่งหาเครื่องอื่นมาใช้ทดแทน
ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้รับข้อความจาก ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แจ้งว่า ได้เผยแพร่ภาพฉายรังสีเอกซ์ของเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิดจีที 200 ลงกระทู้ห้องหว้ากอ เว็บไซต์พันทิป พร้อมคำอธิบายว่าทำไมบางครั้งเครื่องจึงชี้ระเบิดได้ ซึ่งจากการตรวจสอบของทีมงาน ได้พบกระทู้ที่นำเสนอภาพการฉายรังสีเอกซ์เครื่องจีที 200
ทั้งนี้ ภาพของเครื่องจีที 200 ที่ผ่านการฉายรังสีเอกซ์นั้น เผยให้เห็นว่าภายในเครื่องว่างเปล่า ไม่มีวงจรใดๆ อย่างที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ควรจะเป็น โดย ผศ.ดร.เจษฎาได้แสดงความเห็นไว้ว่า ชุมชนวิทยาศาสตร์หว้ากอได้รับเครื่องจีที 200 จาก พลเอกปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ ประธานองค์กรอุนาโลม แต่ไม่สามารถผ่าเครื่องได้โดยตรง จึงได้นำไปฉายรังสีเอกซ์ในคลินิคแห่งหนึ่ง
จากการตรวจสอบพบว่า ภายในเป็นเครื่องกลวงๆ และบริเวณที่ใส่การ์ดก็ไม่มีหน้าสัมผัสกับการ์ดโดยตรง ส่วนการ์ดเป็นเพียงแผ่นพลาสติกที่ทากาวติดกันและไม่มีวงจรอิเล็กทรอนิกส์ใดๆ อีกทั้งยังไม่มีกลไกในการบังคับเสาอากาศ เพียงแค่ยึดไว้กับพลาสติกที่เสียบกับแกนลวดให้โยกขึ้น-ลง และหมุนซ้าย-ขวาได้
“สรุปได้ชัดเจนแล้วว่า เครื่องจีที200 ไม่อาจจะทำงานเองได้ ครบตั้งแต่ไม่มีความเป็นไปได้ในเชิงทฤษฎีวิทยาศาสตร์ (เรื่องไฟฟ้าสถิต/แม่เหล็กผลัก-ดูด) ไม่มีความเป็นไปได้ในเชิงกลไก (จากภาพเอ็กซเรย์ดูด้านใน) และไม่มีความเป็นไปได้ในเชิงประสิทธิภาพ (ทดสอบแล้วชี้เป้าไม่ได้ถูกต้องเกิน 13 จาก 20 ครั้งตามหลักสถิติ เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นการเดาสุ่มหรือไม่)” ความเห็นสรุปการทำงานของเครื่องจีที 200
ส่วนกรณีที่เจ้าหน้าที่ตรวจหาวัตถุระเบิดได้นั้น มีคำอธิบายว่า น่าจะมาจากความสามารถส่วนบุคคลที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีในการตรวจหาพิรุธของการซุกซ่อนวัตถุระเบิด และมีการข่าวที่ดีมาก่อน เมื่อใช้เครื่องตรวจจึงทำให้จิตสำนึกสั่งงานให้เอียงเครื่องโดยไม่รู้ตัว และชี้ไปยังวัตถุต้องสงสัย ดังนั้นการใช้เครื่องจึงมีความเสี่ยงสูงมาก รวมถึงเครื่องอื่นๆ ที่มีลักษณะการทำงานคล้ายกัน เช่น เครื่องอัลฟา 6 เป็นต้น
อีกทั้ง ตัวแทนจากชุมชนวิทยาศาสตร์หว้ากอได้เสนอว่า ให้เน้นที่การใช้สุนัข มีการข่าวที่ดีและให้สวัสดิการที่เหมาะสมแก่เจ้าหน้าที่ ดีกว่าหาเครื่องอื่นมาทดแทนจีที 200 เพราะตอนนี้ยังไม่มีแนวโน้มที่จะสร้างเครื่องมือวิทยาศาสตร์ซึ่งตรวจหาระเบิดในระยะไกลๆ ได้.