หากจะมีของขวัญสักอย่างมอบให้ “ดร.เจษฏา เด่นดวงบริพันธ์” ผู้มีวันเกิดตรงกับ 15 ก.พ. คงไม่มีอะไรแปลกประหลาดเท่ากับผลทดสอบ “จีที200” ที่เปิดเผยต่อสาธารณชน หลังจากที่เขาเองใช้เวลาเกือบ 5 เดือน กระทุ้งสังคมให้เห็นถึงอันตรายจาก “ไม้ล้างป่าช้า” นี้
“เมื่อวาน (16 ก.พ.53) ผมนั่งลุ้นว่านายกฯ จะประกาศผลออกมาว่าอย่างไร เพราะคณะกรรมการเสนอข้อมูลให้พูดว่า ได้ผลทดสอบมีประสิทธิภาพต่ำ แต่นายกฯ แจงตัวเลขมาเลยว่าทดสอบได้ 4 ครั้งใน 20 ครั้ง” ผศ.ดร.ว่าที่ร้อยตรี เจษฏา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวด้วยความยินดีกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ หลังต้องเก็บผลทดสอบประสิทธิภาพเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิด จีที 200 (GT200) ไว้เป็นความลับข้ามคืน ทั้งที่เขารู้ผลทดสอบตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของเขาพอดี
ทั้งนี้ ดร.เจษฏา คือ หนึ่งในคณะกรรมการตรวจสอบประสิทธิภาพเครื่องตรวจระเบิดจีที 200 และเป็นหัวหน้าทีมฝ่ายซ่อนวัตถุระเบิดในการทดสอบเมื่อวันที่ 14 ก.พ.53 ที่ผ่านมา และเขาคือนักวิชาการคนแรก ที่ออกมาเปิดข้อมูลอันน่าตกใจให้สาธารณชนได้รับทราบถึงประสิทธิภาพของเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิดราคาหลักล้าน ที่ไม่ต่างจาก “ไม้ล้างป่าช้า” ที่ทำได้เองด้วยราคาไม่เกิน 200 บาท
ตลอดทั้งวันที่ 16 ก.พ. เขาปิดโทรศัพท์มือถือไม่รับสายจากสื่อมวลชนรายใด เนื่องจากรับปากผู้ใหญ่ไว้ และรอคำแถลงจากนายกรัฐมนตรีเพียงผู้เดียว และระหว่างวันเขาก็ตรวจสอบข่าวทั้งจากในและต่างประเทศ ซึ่งกระแสข่าวไปในทิศทางที่ทำให้เขายิ้มออกได้มากขึ้นเรื่อยๆ
อาจเรียกได้ว่าเป็นโชคดีของเขา ที่ผลทดสอบออกมาเช่นนี้ เพราะหากผลทดสอบออกมาว่าเจอสารระเบิด 6 ครั้ง จาก 20 ครั้ง คงต้องเถียงกันทางสถิติอีกยาว และเมื่อผลเป็นพบ 4 ใน 20 ครั้งแทบไม่ต้องตีความทางสถิติ ผลที่ออกมาก็ชัดเจนว่า เครื่องตรวจหาวัตถุระเบิดราคาแพงนี้ให้ผลไม่ดีกว่าเดาสุ่มเลย
หลายคนอาจตั้งคำถามว่า ทำไมอาจารย์ชีววิทยาอย่างเขาจึงสนใจเข้ามาตรวจสอบเครื่องมือในเชิงวิศวกรรม ซึ่งเรื่องนี้เขาเผยมีคนถามเขาบ่อยเช่นกัน แต่จุดเริ่มต้นนั้นมาจากกระทู้ในห้อง “หว้ากอ” ของเว็บไชต์พันทิปที่นำเรื่องนี้ขึ้นมาถกกันตั้งเดือน มิ.ย.52 ที่ผ่านมา และเขาได้เริ่มออกตัวตั้งแต่เดือน ต.ค.52 อีกทั้งลูกศิษย์นำเรื่องจีที 200 มาเล่าให้ฟัง ซึ่งเมื่อฟังแล้วรู้สึก “ช็อค” แต่จุดสำคัญคือเหตุระเบิดที่สุไหงโกลก จ.นราธิวาส เนื่องจากเครื่องจีที 200 ทำงานไม่ได้ผล ทำให้เขาตัดสินใจออกมาเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชน
“หลายคนหลายองค์กรถามผม แต่เรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ความรู้สูงมาก แค่ความรู้ ม.ต้นก็เข้าใจได้ จะเป็นอาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์หรือคณะแพทยศาสตร์ ถ้าฟังหลักการทำงานของเครื่องก็รู้ว่าทำงานไม่ได้"
หลังจากรวบรวมข้อมูล-ข้อเท็จจริงทั้งหมด เขาได้นำเสนอเรื่องต่อสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ซึ่งทุกคนต่างตกใจ และเขาหวังว่าเรื่องจะส่งต่อถึงนายกรัฐมนตรี แล้วเขาก็หมดหน้าที่ แต่กลับไม่มีคนส่งเรื่องต่อ และเขาต้องเครียดกับเรื่องนี้อยู่หลายเดือน หลายคนก็บอกเขาให้ระวังตัวจากการออกมาเปิดเผยเรื่องนี้ ซึ่งเขาไม่เคยคิดว่าเรื่องจะมาถึงขั้นนี้ คล้ายกลับว่าเขาถูกส่งให้ออกไปรบเดนตายแล้วต้องสู้ให้ถึงที่สุด
“เราอยู่กรุงเทพฯ อย่างสุขสบาย และเราแทบช่วยอะไรคนที่ลำบากในพื้นที่ไม่ได้เลย แต่ตอนนี้เรามีช่องทางที่จะช่วยได้แล้ว” ดร.เจษฏากล่าวถึงเจตนาที่ออกมาแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเท็จจริงแก่สังคม
สำหรับ “ปรากฏการณ์จีที 200” นี้ ได้แสดงให้ถึงพลังเล็กๆ ของนักวิชาการที่ไม่มีอาวุธอื่นใด นอกจาก “สติปัญญา” และนำออกมาต่อสู้กับความบิดเบือนในสังคม หาก ดร.เจษฏาและนักวิชาการกลุ่มเล็กๆ เลือกที่จะเงียบ สังคมไทยคงตกอยู่ในความมืดมิด และไม่รู้ว่าจะเดินเหยียบกับระเบิดแห่ง "อวิชชา" กันอีกเมื่อใด.