xs
xsm
sm
md
lg

ศึกษา "พิษแมงป่อง" ทางเลือกยาแก้ปวดแทนมอร์ฟีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พิษแมงป่องอาจเป็นทางเลือกยาแก้เจ็บปวดแทนมอร์ฟีน (istockphoto/ไซน์เดลี)
นักวิจัยอิสราเอลศึกษา "พิษแมงป่อง" สารเคมีที่เป็นพิษต่อระบบประสาท อาจเป็นทางเลือกยาแก้ปวดแทน "มอร์ฟีน" สารเคมีมีพิษและมีฤทธิ์ทำให้เสพติด ด้วยศักยภาพที่มีโปรตีนกว่า 300 ชนิดเฉพาะต่อประสาทรับรู้ความเจ็บปวด

ศ.ไมเคิล กูเรวิทซ์ (Prof.Michael Gurevitz) จากภาควิชาพืชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ (Tel Aviv University) ประเทศอิสราเอล ได้สืบหาวิธีใหม่ในการพัฒนานวัตกรรมยับยั้งความเจ็บปวด จากองค์ประกอบเคมีทางธรรมชาติ ซึ่งพบในพิษของแมงป่อง

เขากล่าวว่า องค์ประกอบเหล่านี้ ได้ผ่านวิวัฒนาการยาวนานหลายล้านปี โดยบางองค์ประกอบแสดงถึงประสิทธิภาพสูง และมีความจำเพาะเจาะจงต่อองค์ประกอบที่มีอยู่ในร่างกายโดยไม่มีผลข้างเคียง สารพิษเปปไทด์ซึ่งพบในพิษแมงป่อง ทำอันตรกริยาต่อช่องสัญญาณโซเดียมในระบบประสาทและกล้ามเนื้อ และบางช่องสัญญาณโซเดียมนี้สื่อสารกับความเจ็บปวด

“ร่างกายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีช่องสัญญาณโซเดียม 9 ช่องสัญญาณ ซึ่งมีเพียงชนิดย่อยชนิดเดียวที่นำส่งความเจ็บปวดสู่สมองของเรา เราพยายามที่จะเข้าใจว่าสารพิษในพิษแมงป่องนั้น ทำอันตรกริยากับช่องสัญญาณโซเดียมในระดับโมเลกุลอย่างไร สารพิษบางตัวมีความแตกต่างต่อช่องสัญญาณย่อยอย่างไร" ไซน์เดลีระบุคำอธิบายของ ศ.กูเรวิทซ์

ศ.กูเรวิทซ์อธิบายว่า หากเราหาคำตอบนี้ได้ เราก็อาจะปรับเปลี่ยนสารพิษเหล่านี้ได้บ้าง เพื่อทำให้สารพิษนี้มีศักยภาพและจำเพาะต่อความเจ็บปวดที่เชื่อมต่อช่องสัญญาณโซเดียม และวิศวกรเคมีจะคำนวณหาวิธีเลียนแบบพิษแมงป่องได้ ซึ่งจะทำให้เราได้นวัตกรรมยับยั้งความเจ็บปวด ที่มีความจำเพาะสูงและไม่มีผลข้างเคียง

ในงานวิจัยของเขา ศ.กูเรวิทซ์ได้พุ่งเป้าเข้าไปที่การศึกษา "แมงป่องเหลือง" (yellow scorpion) ของอิสราเอล ซึ่งเป็นหนึ่งในแมงป่องที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก โดยในปริมาณพิษเพียงเล็กน้อยของแมงป่องนั้น มีเปปไทด์มากกว่า 300 ชนิด ซึ่งเหตุผลที่เขาสนใจพิษแมงป่องชนิดนี้เพราะพิษที่ออกฤทธิ์นั้น ผ่านการคัดเลือกจากธรรมชาติให้มีความหลากหลายมาเป็นเวลาหลายร้อยล้านปี

ระหว่างกระบวนการคัดเลือกโดยธรรมชาตินี้ สารพิษบางตัวได้มีวิวัฒนาการให้มีขีดความสามารถที่มีผลกระทบโดยตรงต่อช่องสัญญาณโซเดียมชนิดย่อย ในขณะที่สารพิษตัวอื่นๆ จำเพาะและมีผลกระทบต่อช่องสัญญาณโซเดียมของสัตว์ไม่มี่กระดูกสันหลัง อย่างเช่น แมลง เป็นต้น ซึ่งความหลากหลายในความจำเพาะต่อการออกฤทธิ์นี้ จะเป็นบทเรียนในการศึกษาว่าจะจัดการสารพิษโดยใช้เทคนิคพันธุวิศวกรรมอย่างไรต่อไป

อย่างไรก็ดี ชาวจีนได้ใช้ประโยชน์จากพิษแมงป่องมานานหลายร้อยปีแล้ว โดยแพทย์แผนจีนซึ่งเป็นการแพทย์ทางเลือกอย่างหนึ่งนั้น ได้ใช้พิษแมงป่องในการรักษาบางโรค ด้วยความเชื่อว่าเป็นพิษที่มีคุณสมบัติบรรเทาปวดสูง และบางการศึกษายังแสดงให้เห็นว่า พิษแมงป่องสามารถนำไปใช้บำบัดโรคลมบ้าหมูได้

“เราศึกษาว่าพิษเหล่านี้จะให้ผลในการรักษาตามแบบแผนตะวันตกได้อย่างไร เพื่อดูว่าจะจะนำพิษนี้ไปประยุกต์ใช้เป็นยาระงับปวดที่มีศักยภาพได้อย่างไร" ศ.กูเรวิทซ์กล่าว

การค้นพบนี้อาจช่วยแก้หนึ่งในปัญหาใหญ่ที่สุดของวงการแพทย์ปัจจุบัน โดยความเจ็บปวดเป็นการตอบสนองเชิงกายภาพต่ออันตราย ความเจ็บปวดเชิงกายภาพ และสุขภาพย่ำแย่ และแพทย์ยังจำเป็นต้องลดความเจ็บปวดอันแสนสาหัสให้กับผู้ป่วย ซึ่งยาแอสไพรินไม่สามารถช่วยได้ ถึงทุกวันนี้ยาแก้ปวดที่มีองค์ประกอบของฝิ่นยังค่อนข้างได้ผล แต่ด้วยความเสี่ยงจากการใช้ยาแก้ปวดชนิดนี้ วงการแพทย์จึงพยายามที่จะหาทางเลือกอื่นแทน

“ยาชนิดใหม่นี้มีประโยชน์ต่อความเจ็บปวดจากไฟไหม้และอวัยวะขาดที่รุนแรง ตลอดจนการใช้ในทางทหารและรับมือจากผลที่ตามมาเนื่องจากแผ่นดินไหวและภัยพิบัติทางธรรมชาติ แทนที่จะยืดเยื้อต่อความเสี่ยงในการติดยา ยาซึ่งเลียนแบบเปปไทด์เป็นพิษนี้จะทำงานตามวิถีทางที่ควรจะเป็น และผ่านส่วนต่างๆ ของร่างกายไปโดยไม่ทิ้งร่องรอยหรือผลข้างเคียง" ศ.กูเรวิทซ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น