นักอียิปต์วิทยาเผยข้อมูลใหม่แห่งราชวงศ์ไอยุปต์ ผลดีเอ็นเอชี้ "ฟาโรห์ตุตันคาเมน" สิ้นพระชนม์ด้วยโรคมาลาเรียตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ และไม่ใช่พระโอรสของพระนางเนเฟอร์ติตีผู้โด่งดัง แต่เป็นพระขนิษฐาของฟาโรห์ผู้เป็นพระบิดา
มีข้อค้นพบใหม่ๆ เกี่ยวกับฟาโรห์ "ตุตันคาเมน" (Tutankhamun) มาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยล่าสุดผลการพิสูจน์ดีเอ็นเอ และการทำซีทีสแกนพระศพบ่งชี้ว่า ยุวกษัตริย์แห่งอียิปต์พระองค์นี้สิ้นพระชนม์ด้วยโรคมาลาเรีย ไม่ใช่ถูกปลงพระชนม์อย่างที่เคยเชื่อกันมาก่อนหน้านี้
อีกทั้งยังพบว่า ตุตันคาเมนมีอาการเท้าแปข้างหนึ่งด้วย ซึ่งซาไฮ ฮาวาสส์ (Zahi Hawass) นักโบราณคดีผู้เชี่ยวชาญด้านอียิปต์วิทยา แถลงต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 17 ก.พ. ที่ผ่านมา ณ พิพิธภัณฑ์อียิปต์ (Egyptian museum) ในกรุงไคโร
ฮาวาสส์เปิดเผยว่า พบร่องรอยการบาดเจ็บบริเวณด้านหลังของกะโหลกศีรษะของฟาโรห์หนุ่ม ซึ่งเป็นหลักฐานให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจว่าพระองค์ถูกลอบปลงพระชนม์ แต่ที่จริงแล้วร่องรอยดังกล่าวเกิดขึ้นจากการแต่งพระศพ
"เราพบหลักฐานจากดีเอ็นเอที่พิสูจน์ว่า พระองค์ได้รับเชื้อโรคมาลาเรียอย่างรุนแรง พระองค์ประชวร พระวรกายไม่แข็งแรง และต้องใช้ไม้เท้าช่วยเดิน เมื่อพระองค์มีพระชนมายุ 19 พรรษา และได้รับเชื้อมาลาเรีย พระองค์ทรงลื่นล้ม ซึ่งเราอาจไม่รู้ว่าเป็นอย่างไรแน่ บางทีอาจลื่นล้มในห้องน้ำก็เป็นได้" ฮาวาสส์เผย
"เมื่อพระองค์ทรงลื่นล้ม และพระวรกายที่อ่อนแอเนื่องจากโรคมาลาเรีย จึงเป็นเหตุให้พระองค์สิ้นพระชนม์ก่อนวัยอันควร" ฮาวาสส์ กล่าว ซึ่งนักอียิปต์วิทยาสันนิษฐานว่าฟาโรห์ตุตันคาเมนสิ้นพระชนม์ในขณะมีพระชนมายุได้เพียง 19 พรรษา หลังจากปกครองอียิปต์ได้เพียง 10 ปี ตั้งแต่ช่วง 1333-1324 ปีก่อนคริสต์ศักราช และในเวลานั้นพระองค์อาจกำลังมีรัชทายาท เนื่องจากผลการพิสูจน์ศพของทารก 2 ศพ ที่พบในสุสานของพระองค์พบว่ามีเชื้อสายของฟาโรห์ตุตันคาเมน และน่าจะเกิดจากพระชายาอัคเซนปาอามุน (Ankhsenpaamon)
ทีมนักวิจัยยังได้นำผลการตรวจดีเอ็นเอของฟาโรห์ตุตันคาเมนและมัมมีอื่นๆ รวม 11 ศพ ที่พบในสุสาน มาร่างเป็นแผนภูมิลำดับเครือญาติ ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่าพระบิดาของตุตันคาเมนคือฟาโรห์อาเคนาเตน (Akhenaten) ที่ปกครองอียิปต์ในช่วง 1351-1334 ปีก่อนคริสต์ศักราชอย่างแน่นอน
นอกจากนั้น มัมมี่ที่เคยพบในหลุมศพที่ 55 ของหุบผากษัตริย์ (Valley of Kings) ซึ่งก่อนหน้านี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นร่างของบุคคลใด แต่ล่าสุดทีมวิจัยสามารถระบุได้แล้วว่าร่างดังกล่าวคือพระศพของราชินีตียี (Queen Tiye)
ส่วนมัมมีอีกร่างหนึ่งที่ก่อนหน้านี้ระบุไม่ได้เช่นกัน แต่รู้จักกันในนาม "หญิงสาวผู้อ่อนเยาว์" (Younger lady) ซึ่งถูกค้นพบในหุบผากษัตริย์เมื่อปี 1898 โดยนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส บัดนี้ได้รับการยืนยันแล้วว่าคือร่างของพระมารดาที่แท้จริงของฟาโรห์ตุตันคาเมน ซึ่งล้มล้างทฤษฎีเดิมที่ว่าตุตันคาเมนเป็นพระโอรสของพระนางเนเฟอร์ติตี (Queen Nefertiti) ทว่ายังไม่มีผู้ใดทราบพระนามของพระนาง
"พระนางเป็นพระธิดาในฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 3 (Amenhotep III) และราชินีตียี ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเป็นพระนางเนเฟอร์ติตี" ฮาวาสส์ กล่าว ฉะนั้นพระมารดาของฟาโรห์ตุตันคาเมนก็คือพระขนิษฐาของฟาโรห์อเคนาเตน ซึ่งก็คือพระบิดาของตุตันคาเมนนั่นเอง ซึ่งการแต่งงานระหว่างพี่กับน้องไม่ใช่เรื่องผิดปกติของราชวงศ์แห่งไอยคุปต์
"ข้อมูลนี้ทำให้เราได้ข้อมูลด้านใหม่ของราชวงศ์แห่งไอยคุปต์ หลังจากที่ไม่สามารถมีพระโอรสกับพระนางเนเฟอร์ติตี มเหสีเอก และเจ้าหญิงกียา (Kiya) พระชายาอีกพระองค์ได้ ฟาโรห์อเคนาเตนก็ทรงได้พระขนิษฐาของพระองค์เป็นพระชายาอีกพระองค์หนึ่ง ซึ่งให้กำเนิดพระโอรสในเวลาต่อมา" มาร์ค กาบอร์ด(Marc Gabord) นักอียิปต์วิทยาชาวฝรั่งเศส ผู้เชี่ยวชาญด้านฟาโรห์ตุตันคาเมน กล่าวในเอเอฟพี