xs
xsm
sm
md
lg

อิตาลีปลุกชีพ "วัวออรอช" สัตว์พื้นเมืองยุโรปที่หายไปเกือบ 400 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพวาดวัว ออรอช วัวป่าขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งที่เคยอาศัยในยุโรปและสูญพันธุ์ไปแล้วเกือบ 400 ปี (ภาพจาก en.academic.ru)
ทีมนักวิจัยยุโรปหวังปลุกชีพพันธุ์วัวป่า "ออรอช" หลังสูญพันธุ์ไปแล้วเกือบ 400 ปี ใช้เทคโนโลยีดีเอ็นเอร่วมกับวิธีผสมกลับในวัวพื้นเมือง แล้วคัดเลือกให้ได้วัวที่มีพันธุกรรมอย่างเดียวกับออรอช หวังปล่อยสู่ธรรมชาติ คืนความหลากหลายให้ระบบนิเวศ โดยไม่จำเป็นต้องโคลนนิง

ทีมนักวิทยาศาสตร์และนักอนุรักษ์ในยุโรปวางแผนที่จะทำให้วัวออรอช (Aurochs) ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ให้กลับมามีชีวิตใหม่ โดยอาศัยวิทยาการทางด้านพันธุศาสตร์สมัยใหม่ร่วมกับวิธีการผสมพันธุ์แบบดั้งเดิม ซึ่งหากประสบความสำเร็จ นี่จะเป็นครั้งแรกที่สามารถเพาะพันธุ์สัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วให้กลับคืนมาสู่ธรรมชาติอีกครั้ง ตามรายงานจากไทม์

ออรอช อยู่ในสปีชีส์ บอส พริมิจีเนียส (Bos primigenius) เป็นวัวป่าขนาดใหญ่ มีเขาชี้ไปด้านหน้า มีความสูงนับจากหัวไหล่ถึงพื้นประมาณ 6 ฟุต และมีน้ำหนักมากกว่า 1 ตัน มีถิ่นอาศัยอยู่ในที่ราบของทวีปยุโรป มนุษย์เริ่มนำมาเลี้ยงเมื่อราว 8,000 ปีก่อน และยังมีที่อยู่ในป่าตามธรรมชาติ จนกระทั่งสูญพันธุ์ไปเมื่อปี ค.ศ. 1627 หลังจากวัวออรอชตัวสุดท้ายตายลงในป่าประเทศโปแลนด์ ปัจจุบันจึงเหลือเพียงภาพเขียนโบราณตามผนังถ้ำที่บ่งบอกให้คนรุ่นหลังรู้จักรูปร่างหน้าตาของวัวออรอช

"เริ่มแรกเราได้ทำการสกัดดีเอ็นเอจากตัวอย่างกระดูกและฟันของวัวออรอชที่เก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑ์ เพื่อนำมาวิเคราะห์และทำแผนที่จีโนมของออรอชอย่างคร่าวๆ ซึ่งจะช่วยให้เราเพาะพันธุ์วัวที่มีลักษณะใกล้เคียงกับออรอชได้" โดนาโต มาทัสซิโน (Donato Matassino) ประธานสมาคมวิจัยทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ในเมืองเบเนเวนโต (Consortium for Experimental Biotechnology in Benevento) แคว้นกัมปาเนีย ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมวิจัย เปิดเผยในเทเลกราฟ

ขณะนี้ทีมวิจัย ได้เริ่มทดลองผสมข้ามสายพันธุ์ครั้งแรกไปแล้วระหว่างวัวพันธุ์พื้นเมืองของอังกฤษ สเปน และอิตาลี และกำลังรอดูลูกวัวที่จะเกิดมาว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ ทีมวิจัยจะใช้วิธีผสมกลับ (back-breeding) และคัดเลือกลูกวัวที่มีลักษณะใกล้เคียงกับวัวออรอชมากที่สุด ซึ่งวัวขนาดใหญ่ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับวัวออรอช เช่น พันธุ์ไฮแลนด์ (Highland) และพันธุ์ไวท์มาเรมมา (white Maremma) ของอิตาลี

การผสมกลับมีข้อได้เปรียบเหนือกว่าการโคลนนิ่งคือ ทำให้ได้ประชากรสัตว์ชนิดนั้นๆ แต่การโคลนนิงเป็นเพียงการสร้างสัตว์ตัวนั้นๆ ขึ้นมาใหม่ และเผ่าพันธุ์สิ่งมีชีวิตที่จะสามารถอยู่รอดได้ในธรรมชาติ จำเป็นต้องมีความหลายหลายทางพันธุกรรมมากเพียงพอ

"ประชากรสิ่งมีชีวิตจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด" โจฮัน ฟาน อาเรนดองก์ (Johan van Arendonk) ศาสตราจารย์ด้านการเพาะพันธุ์สัตว์และพันธุศาสตร์ มหาวิทยาลัยวาเกนนิงเกน (Wageningen University) เนเธอแลนด์ กล่าวในไทม์และบอกว่าโครงการนี้จะประสบความสำเร็จระยะยาวได้ จำเป็นต้องเพาะพันธุ์วัวออรอชให้ได้อย่างน้อย 100 ตัว

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ความพยายามครั้งแรกของนักวิทยาศาสตร์ที่ตั้งใจจะเพาะพันธุ์วัวออรอชที่สูญพันธุ์ไปแล้วให้เกิดขึ้นมาใหม่ โดยครั้งล่าสุดก่อนหน้านี้ ในสมัยนาซีปกครองเยอรมนีเมื่อช่วงต้นศตวรรษที่ 20 รัฐบาลนาซีมีคำสั่งให้นักสัตววิทยาในเยอรมนีพยายามเพาะพันธุ์วัวออรอชให้ได้

ผลจากความพยายามในครั้งนั้น ทำให้ได้วัวสายพันธุ์ "เฮค" (Heck cattle) เกิดขึ้น ซึ่งแม้จะมีลักษณะภายนอกใกล้เคียงกับวัวออรอช ทว่าลักษณะทางพันธุกรรมแตกต่างกันอย่างมาก และมีความก้าวร้าวมากกว่าด้วย เนื่องจากมีเชื้อสายบางส่วนมาจากวัวกระทิงของสเปน

"เราต้องการเพาะพันธุ์สัตว์ที่เหมือนวัวออรอช ไม่ใช่แค่เพียงลักษณะภายนอก (phenotype) แต่ลักษณะพันธุกรรม (genotype) ต้องเหมือนกันด้วย ออรอชเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ ถ้าคุณต้องการจะสร้างพืชพรรณดั้งเดิมในระบบนิเวศขึ้นมาใหม่ คุณก็ต้องสร้างสัตว์ประจำถิ่นนั้นๆ ขึ้นมาด้วย" เฮนรี เคิร์กดิจก์ (Henri Kerkdijk) ผู้จัดการโครงการวิจัย กล่าว ซึ่งเขาหวังว่าการทำให้วัวออรอชเกิดขึ้นมาใหม่ได้จะช่วยกู้ธรรมชาติในชนบทของยุโรปให้กลับคืนมาได้
ภาพเขียนเกี่ยวกับวัวออรอชที่พบในผนังถ้ำแห่งหนึ่งในฝรั่งเศส (ALAMY/telegraph)
วัวป่าชนิดหนึ่งของฝรั่งเศส ที่เชื่อกันว่าสืบสายพันธุ์มาจากวัวออรอช (ไทม์)
กำลังโหลดความคิดเห็น