เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับนักเรียนสายวิทย์ ที่ต้องท่องจำตารางธาตุซึ่งมีความสำคัญไม่ต่างจากท่องสูตรคูณ แต่ทั้งชื่อและสัญลักษณ์ของธาตุแต่ละตัว ล้วนท่องจำได้ยาก ดังนั้น ทีมนักเรียน ม.4 จากโรงเรียนวัดหนองจอกจึงได้ร่วมกันพัฒนาโปรแกรม ที่จะช่วยให้การเรียนเคมีของพวกเขาง่ายขึ้น
นายพิพัฒน์ ลัทธิไทยกุล นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนมัธยมวัดหนองจอก บอกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ในวิชาเคมีนั้น ต้องท่องจำตารางธาตุแต่เขาและเพื่อนๆ ไม่สามารถท่องจำได้โดยง่าย ดังนั้นจึงใช้ทักษะทางด้านคอมพิวเตอร์สร้างโปรแกรมตารางธาตุที่ช่วยให้เรียนรู้ธาตุแ่ต่ละตัวได้อย่างซ้ำๆ เพื่อง่ายต่อการจดจำ
ด้วยโปรแกรม Visual Basic 2005 พิพัฒน์และเพื่อนอีก 2 คนคือ น.ส.สุพิชญา เหล่าทอง และนายวิษุวัต ซันเฮม เพื่อนร่วมชั้นได้ใช้พัฒนาโปรแกรมตารางธาตุที่ให้ข้อมูลรัศมีอะตอม รัศมีไอออน พลังงานไอออไนเซชัน อิเล็กโทรเนกาติวิตี สัมพรรคภาพอิเล้กตรอนและจุดเดือด-จุดหลอมเหลวของธาตุแต่ละตัว นอกจากนั้นยังมีเกมเสริมทักษะใช้ทดสอบว่าผู้ใช้จำธาตุในคาบและหมู่ต่างๆ ได้หรือไม่ รวมทั้งแบบทดสอบก่อนและหลังเรียน ที่ใช้ประเมินพัฒนาการของผู้ใช้โปรแกรม
อีกทั้งโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นนี้ ยังผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 12 ซึ่งเป็นหนึ่งในเวทีการแข่งขันของมหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 9 หรือ ICT Contest Festival 2010 ระหว่างวันที่ 11-13 ก.พ.53 ณ ศูนย์การค้าแฟชันไอส์แลนด์ รามอินทรา
ภายในมหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารฯ ยังมีผลงานของเยาวชนที่น่าสนใจอีกจำนวนไม่น้อย อย่างเช่น "จามจุรีเฟซ เอสดีเค" ผลงานสร้างชุดพัฒนาซอฟต์แวร์การรู้จำและค้นหาหน้าของ 2 นิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งศึกษาอยูาภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายฐานันท์ ไตรองค์ถาวร นิสิตชั้นปีที่ 4 ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ 1 ในทีมพัฒนากล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ฯ ว่า ชุดพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ร่วมกันเขียนขึ้นกับ นายคมน์สิทธิ์ รัตนะ เพื่อนร่วมชั้นนั้น จะเป็นตัวช่วยสำหรับผู้ต้องการพัฒนาโปรแกรมที่ต้องใช้ซอฟต์แวร์รู้จำและค้นหาหน้า ซึ่งหากเขียนเองต้องใช้เวลานาน หรือหากซื้อสำเร็จจากต่างประเทศก็มีราคาแพงมาก ดังนั้นชุดพัฒนาซอฟต์แวร์ของเขานั้นจะช่วยประหยัดทั้งเงินและเวลาสำหรับผู้พัฒนาโปรแกรมได้
ทั้งนี้ซอฟต์แวร์ดังกล่าว เป็นซอฟต์แวร์ระบบเปิดหรือโอเพ่นซอร์ส (Open Source) ที่ผู้อื่นนำไปพัฒนาต่อได้ โดยตัวอย่างของการประยุกต์ใช้ชุดพัฒนาซอฟต์แวร์ เช่น ช่วยในการค้นหาใบหน้าจากกล้องวงจรปิด ซึ่งช่วยให้ไม่ต้องคัดเลือกภาพใบหน้าคนร้ายหรือผู้ต้องสงสัยจากภาพใบหน้าหลายร้อยหลายพันใบหน้า โดยโปรแกรมจะคัดเลือกใบหน้าที่ใกล้เคียงกับภาพของผู้ต้องสงสัยออกมาเหลือเพียง 4-5 ใบหน้า เป็นต้น.